บาลีวันละคำ

ปราชญ์ (บาลีวันละคำ 814)

ปราชญ์

อ่านว่า ปฺราด (ปร ควบกล้ำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปราชญ์ : (คำนาม) ผู้มีปัญญารอบรู้. (ส. ปฺราชฺญ)”

(ส. ปฺราชฺญ) ในวงเล็บ หมายความว่าคำนี้เป็นภาษาสันสกฤต

ใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปฺราชฺญ” ขอคัดมาทั้งหมดดังนี้ –

ปฺราชฺญ : (คุณศัพท์) ‘ปราชญ์’ หมั่นค้น; ฉลาด; patient in investigation; wise;- (คำนาม) บัณฑิต, นรผู้คงแก่เรียนหรือฉลาด; นรผู้เฉลียวฉลาด; โพธ, พุทธิ, ความรู้; สตรีผู้ฉลาด; วธูของบัณฑิต; a Paṇḍit, a learned or wise man; a skilful man; knowledge, understanding; an intelligent woman; the wife of a Paṇḍit.”

คำว่า “ปฺราชฺญ” เทียบบาลีเป็น “ปญฺญ” (ปัน-ยะ) คำเดียวกับ “ปญฺญา

ปญฺญา” รากศัพท์มาจาก + ญา ซ้อน ญฺ = ปญฺญา

(ปะ) มีความหมายว่า ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก

ญา แปลว่า “รู้

 “ปัญญา” จึงมีความหมายว่า :

– “รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง

– “รู้ล่วงหน้า” (รู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร)

– “รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด

 – “รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้

หลักภาษา :

(1) ปญฺญา เป็นคำนาม แปลว่า “ความรู้” เรานิยมทับศัพท์ว่า ปัญญา

(2) ถ้าเป็นคุณศัพท์ หมายถึง “ผู้มีปัญญา” แจกรูปตามคำเพศชาย เอกพจน์ รูปคำจะเป็น “ปญฺโญ” (ปัน-โย)

(3) ปญฺโญ รูปก่อนแจก คือ “ปญฺญ” (ปัน-ยะ) ก็คือ “ปญฺญา” นั่นเอง แต่แปลงรูปจาก “ปญฺญา” (คำนาม) กลายเป็น “ปญฺญ” (คุณศัพท์) ซึ่งตรงกับสันสกฤตว่า “ปฺราชฺญ

(4) ถ้ารูปเดิมยังเป็น “ปญฺญา” (คำนาม ไม่ใช่คุณศัพท์) สันสกฤตจะเป็น “ปฺราชฺญา” ตรงกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ปรัชญา

(5) ปญฺญา <> ปรัชญา : ปญฺญ <> ปราชญ์

คำว่า “ปราชญ์” มีความหมายเดียวกับ “บัณฑิต” ซึ่งแปลว่า “ผู้ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา” ความหมายเดิมในบาลีมิได้หมายถึงผู้มีความรู้วิชาการเท่านั้น แต่มุ่งถึงผู้รู้จักผิดชอบชั่วดี มีวิจารณญาณ เว้นทางผิด ดำเนินทางถูก มั่นคงในคุณธรรม สามารถยึดถือเป็นแบบแผนในการวางตัวและดำเนินชีวิตของคนทั้งหลายได้

พุทธภาษิต :

สพฺพตฺถ  เว  สปฺปุริสา  วชนฺติ

น  กามกามา  ลปยนฺติ  สนฺโต

สุเขน  ผุฏฺฐา  อถวา  ทุกฺเขน

น  อุจฺจาวจํ  ปณฺฑิตา  ทสฺสยนฺติ.

(ปัณฑิตวรรค ธรรมบท ๒๕/๑๖)

ปราชญ์ย่อมตัดความติดข้องในสรรพสิ่ง

ถึงจะต้องพึ่งพิงสิ่งบำเรอก็ไม่เพ้อพล่าม

มีแต่ความสุขสงบ

สุขหรือทุกข์กระทบก็ไม่แสดงอาการแปรปรวน

——————

(ตามความอยากรู้ของ Tawee Thichai)

#บาลีวันละคำ (814)

10-8-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *