บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถ้าไม่เรียนหลัก ก็ต้องรู้จักจำเป็นคำๆ

ถ้าไม่เรียนหลัก ก็ต้องรู้จักจำเป็นคำๆ

————————————

ในบรรดาคำบาลีที่คนไทยนิยมเอามาพูดหรือเอามาอ้างติดปาก เช่น “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” เป็นต้น คำในชุดที่มีคำว่า “ปรม” ประสมอยู่ด้วยก็มีคนเอาไปพูดกันอยู่บ้างพอสมควร

คำในชุดนี้ก็คือ –

……………………………

อาโรคฺยปรมา ลาภา

สนฺตุฏฺฐีปรมํ ธนํ

วิสฺสาสปรมา ญาตี

นิพฺพานปรมํ สุขํ

(อาโรค๎ยะปะระมา ลาภา

สันตุฏฐีปะระมัง ธะนัง

วิสสาสะปะระมา ญาตี

นิพพานะปะระมัง สุขัง)

……………………………

“ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ แปลว่า “อย่างยิ่ง” ในที่นี้หมายถึง “มี-เป็นอย่างยิ่ง” มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง ก็ดูที่คำที่อยู่ข้างหน้า “-ปรม”

๑ “อาโรคฺยปรมา  ลาภา” แปลตามสำนวนบาลีว่า “ลาภมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง” 

เอาสิ่งที่ถือว่าเป็น “ลาภ” มาประกวดกัน 

“ความไม่มีโรค” ชนะเลิศ 

เพราะอะไร?

เพราะความไม่มีโรคเป็นบรมลาภหรือเป็นยอดแห่งลาภ นี่คือ ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง 

พูดสำนวนบาลีว่า “ลาภมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง” 

๒ “สนฺตุฏฺฐีปรมํ  ธนํ” แปลตามสำนวนบาลีว่า “ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง” 

เอาสิ่งที่ถือว่าเป็น “ทรัพย์” มาประกวดกัน 

“ความสันโดษ” ชนะเลิศ 

เพราะอะไร?

เพราะความสันโดษเป็นบรมทรัพย์หรือเป็นยอดแห่งทรัพย์ นี่คือ ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง 

พูดสำนวนบาลีว่า “ทรัพย์มีความสันโดษเป็นอย่างยิ่ง” 

๓ “วิสฺสาสปรมา  ญาตี” แปลตามสำนวนบาลีว่า “ญาติมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง” 

เอาสิ่งที่ถือว่าเป็น “ญาติ” มาประกวดกัน 

“ความคุ้นเคย” ชนะเลิศ 

เพราะอะไร?

เพราะความคุ้นเคยเป็นบรมญาติหรือเป็นยอดแห่งญาติ นี่คือ ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง 

พูดสำนวนบาลีว่า “ญาติมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง” 

๔ “นิพฺพานปรมํ  สุขํ” แปลตามสำนวนบาลีว่า “สุขมีพระนิพพานเป็นอย่างยิ่ง” 

เอาสิ่งที่ถือว่าเป็น “สุข” มาประกวดกัน 

“พระนิพพาน” ชนะเลิศ 

เพราะอะไร?

เพราะพระนิพพานเป็นบรมสุขหรือเป็นยอดแห่งสุข นี่คือ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง 

พูดสำนวนบาลีว่า “สุขมีพระนิพพานเป็นอย่างยิ่ง” 

………………

โปรดสังเกต คำที่อยู่หน้า “ปรม” เขียนติดเป็นคำเดียวกับ “ปรม” ทุกคำ –

อาโรคฺยปรมา

สนฺตุฏฺฐีปรมํ

วิสฺสาสปรมา

นิพฺพานปรมํ

………………

คำที่เรามักพบว่าเขียนที่ไหนผิดที่นั่นทุกครั้งไปคือ “อาโรคฺยปรมา  ลาภา” 

คำนี้คนจะเขียนเป็น “อโรคยา  ปรมา  ลาภา” ทุกที่ ทุกครั้ง 

คือไปแยก “อโรคยา” เป็นคำหนึ่ง “ปรมา” เป็นอีกคำหนึ่ง นี่คือเขียนผิดเพราะไม่เข้าใจหลักภาษา

แม้แต่เอาไปพูดก็จะพูดเป็น “อะโรคะยา ปะระมา ลาภา” แบบนี้ทุกครั้งไป นี่ก็เพราะไม่เข้าใจหลักภาษาเช่นกัน

เฉพาะ “อโรคยา  ปรมา” นี้ผิดถึง ๒ ชั้น คือ –

ชั้นหนึ่ง: คำเดิม “อาโรคฺย” เอามาเขียนหรือพูดเป็น “อโรคยา” 

จาก “อา-” เป็น “อ-” 

จาก “-ย” เป็น “-ยา”

ชั้นสอง: คำเดิมเขียนติดกันเป็นคำเดียวกัน คือ “อาโรคฺยปรมา” เอามาเขียนแยกเป็น ๒ คำ คือเป็น “อโรคยา  ปรมา”

ปัญหาเหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจหลักภาษาบาลี 

ไม่เข้าใจยังพอว่า 

แต่แทบทั้งหมดไม่สงสัย 

ไม่เฉลียวใจ 

ไม่คิดจะเรียนรู้ 

และไม่คิดจะเข้าใจให้ถูกต้องใดๆ ทั้งนั้น 

ทุกคนเชื่อมั่นว่าที่เขียนอย่างนั้นที่พูดอย่างนั้นถูกต้องแล้ว

………………

ผมถูกตำหนิว่า –

……………………………

“คุณไปว่าเขาก็ไม่ถูก เพราะเขาไม่รู้ 

คุณรู้คุณก็ต้องบอกเขา 

เป็นความผิดของคุณเองที่ไม่บอกเขา”

……………………………

นักเรียนบาลีในเมืองไทยมีเป็นพันเป็นร้อย

แต่ทองย้อยโดนคนเดียว ฮ่า ฮ่า ฮ่า

ผมพยายามจะแก้ความผิดของตัวเองให้หลุด ด้วยการแก้ความเข้าใจผิดของคนที่เอาคำเหล่านี้ไปพูดไปอ้าง พยายามมาเรื่อย แต่จะได้ผลแค่ไหน บรรดาท่านผู้เขียนผิดพูดผิดจะต้องร่วมมือด้วย 

ความพยายามนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าท่านผู้ที่เขียนผิดพูดผิดไม่ปรับแก้ความคิดของตัวเอง หรือไม่มีฉันทะอุตสาหะที่จะเรียนรู้รับรู้อะไรทั้งสิ้น

ผมคงโดนอีก-คุณต้องบอกให้เขารับรู้ด้วย ไม่ใช่บอกลอยๆ

ครับ จะพยายามต่อไป

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๗:๒๗

………………………………………….

ถ้าไม่เรียนหลัก ก็ต้องรู้จักจำเป็นคำๆ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *