บาลีวันละคำ

สุภกิณหา (บาลีวันละคำ 3,522)

สุภกิณหา

รูปพรหมชั้นที่เก้า

อ่านว่า สุ-พะ-กิน-นฺหา (ณ ควบ ห จะออกเสียงว่า สุ-พะ-กิน-หนา ก็ได้) เขียนแบบบาลีเป็น “สุภกิณฺหา” แยกศัพท์เป็น สุภ + กิณฺหา

(๑) “สุภ

อ่านว่า สุ-พะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สุ (คำอุปสรรค = ดี,งาม) + ภา (ธาตุ = รุ่งเรือง) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ลบสระที่สุดธาตุ (ภา > )

: สุ + ภา = สุภา + กฺวิ = สุภากฺวิ > สุภา > สุภ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่รุ่งเรืองด้วยดี

(2) สุภฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (อะ) ปัจจัย

: สุภฺ + = สุภ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่งดงาม

(3) สุ (คำอุปสรรค = ดี,งาม) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ลบสระที่สุดธาตุ (ภู > )

: สุ + ภู = สุภู + กฺวิ = สุภูกฺวิ > สุภู > สุภ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นโดยสภาวะที่งดงาม

สุภ” ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึง –

(1) เจิดจ้า, สว่าง, งดงาม (shining, bright, beautiful) 

(2) ได้ฤกษ์, โชคดี, น่าพึงใจ (auspicious, lucky, pleasant) 

สุภ” ใช้เป็นคำนามหมายถึง สวัสดิภาพ, ความดี, ความพึงใจ, ความสะอาด, ความสวยงาม, สุขารมณ์ (welfare, good, pleasantness, cleanliness, beauty, pleasure)

บาลี “สุภ” สันสกฤตเป็น “ศุภ” (ศุ ศาลา)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) ศุภ : (คำวิเศษณ์) เปนสุขหรือมีสุข, มีโชคหรือเคราะห์ดี, มีหรือเป็นมงคล; งาม; วิศิษฏ์; คงแก่เรียน; happy, fortunate, auspicious; handsome, beautiful; splendid; learned. 

(2) ศุภ : (คำนาม) มงคล; ศุภโยค, โชคหรือเคราะห์ดี; สุข; นักษัตรโยคอันหนึ่ง; คณะเทพดา; ข้าวหลาม; อาภา; โสภาหรือความงาม; auspiciousness; good junction or consequence, good fortune; happiness; one of the astronomical Yogas; an assemblage of the gods; bamboo-manna; light; beauty.

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “ศุภ” (ศ ศาลา) ของสันสกฤต และ “สุภ” (ส เสือ) ของบาลี บอกความหมายไว้เหมือนกันว่า “ความงาม, ความดีงาม, ความเจริญ”

ในที่นี้สะกดตามรูปบาลีเป็น “สุภ

(๒) “กิณฺหา” 

อ่านว่า กิน-นฺหา (ณ ควบ ห จะออกเสียงว่า -หนา ก็ได้) รูปศัพท์เดิมเป็น “กิณฺห” รากศัพท์มาจาก กิรฺ (ธาตุ = กระจาย) + ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (กิร > กิ), แปลง เป็น ณฺณฺ แล้วแปลง (ณฺ)- เป็น ( > ณฺณ > ณฺห)

: กิรฺ + = กิรต > กิต > กิณฺณ > กิณฺห แปลตามศัพท์ว่า “กระจายไปแล้ว” หมายถึง เรี่ยราด, กระจัดกระจาย, เกลื่อนกล่น (strewn, scattered, covered)

สุภ + กิณฺห = สุภกิณฺห (สุ-พะ-กิน-นฺหะ) แปลว่า “มีความงามกระจายออกไป

ในภาษาบาลี “สุภกิณฺห” ใช้เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) จึงเปลี่ยนรูปเป็น “สุภกิณฺหา

สุภกิณฺหา” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุภกิณหา” (ไม่มีจุดใต้ เณร) คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปรายขยายความ :

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายมหานิทานสูตร ไขความคำว่า “สุภกิณฺหา” ไว้ดังนี้ –

…………..

สุภกิณฺหาติ  สุเภน  โอกิณฺณา  วิกิณฺณา  ฯ  สุเภน  สรีรปฺปภาวณฺเณน  เอกฆนาติ  อตฺโถ  ฯ  เอเตสํ  หิ  อาภสฺสรานํ  วิย  น  ฉิชฺชิตฺวา  ฉิชฺชิตฺวา  ปภา  คจฺฉติ  ฯ

คำว่า สุภกิณฺหา มีความหมายว่า ความงามระบายฉายฉานออกไป หมายถึงแสงสีแห่งรัศมีจากรูปกายอันงามแผ่ผายออกเป็นเนื้อเดียวกัน กล่าวคือรัศมีแห่งเหล่าพรหมสุภกิณหานั้นแผ่ออกไปไม่ขาดเป็นช่วงๆ เหมือนรัศมีของพรหมอาภัสระ

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 179

…………..

คัมภีร์สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ อภิธรรมฺปิฎก ตอนธัมมหทยวิภังคนิทเทส หน้า 835 กระจายศัพท์ให้เห็นที่มาของชื่อนี้ว่า 

…………..

สุเภน  โอกิณฺณา  วิกิณฺณา  สุเภน  สรีรปฺปภาวณฺเณน  เอกคฺฆนา  สุวณฺณมญฺชุสาย  ฐปิตสมุชฺชลิตกาญฺจนปิณฺฑสสฺสิริกาติ  สุภกิณฺหา  ฯ

ชื่อว่า สุภกิณหา เพราะพรหมเหล่านั้นมีความงามระบายฉายฉานออกไป มีรัศมีแห่งสรีระงดงาม มีสีแห่งกายเป็นอันเดียวกัน มีความผ่องแผ้วดุจแท่งทองคำรุ่งเรืองสุกใสอันเก็บไว้ในหีบทองคำฉะนั้น

…………..

สุภกิณหา” เป็นชื่อของพรหมชั้นที่ 9 ในรูปาวจรภูมิซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น พรหม “สุภกิณหา” เป็นพรหมระดับตติยฌาน (ในการเจริญฌานแบบจตุกนัย) หรือระดับจตุตถฌาน (ในการเจริญฌานแบบปัญจกนัย) ซึ่งมี 3 จำพวก คือ ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา และสุภกิณหา

…………..

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายมหานิทานสูตร อธิบายเรื่องพรหม 3 จำพวกที่เกิดด้วยอำนาจตติยฌานหรือจตุตถฌานเหมือนกัน คือ พรหมปริตตสุภา พรหมอัปปมาณสุภา และ พรหมสุภกิณหา เปรียบเทียบกันดังนี้ –

…………..

ปญฺจกนเย  ปน  ปริตฺตมชฺฌิมปณีตสฺส  จตุตฺถชฺฌานสฺส  วเสน  โสฬสทฺวตฺตึสจตุสฏฺฐิกปฺปายุกา  ปริตฺตสุภา  อปฺปมาณสุภา  สุภกิณฺหา  นาม  หุตฺวา  นิพฺพตฺตนฺติ  ฯ

แต่ในการเจริญฌานแบบปัญจกนัย ผู้เจริญจตุตถฌานระดับเล็กน้อยมาเกิด ชื่อว่าพรหมปริตตสุภา มีอายุ 16 กัป

ผู้เจริญจตุตถฌานระดับปานกลางมาเกิด ชื่อว่าพรหมอัปปมาณสุภา มีอายุ 32 กัป

ผู้เจริญจตุตถฌานระดับประณีตมาเกิด ชื่อว่าพรหมสุภกิณหา มีอายุ 64 กัป

อิติ  สพฺเพปิ  เต  เอกตฺตกายา  เจว  จตุตฺถชฺฌานสญฺญาย  เอกตฺตสญฺญิโน  จาติ  เวทิตพฺพา  ฯ

พึงทราบว่า พรหมเหล่านั้นทั้งหมดมีรูปกายเหมือนกัน และเมื่อว่าตามสัญญาในจตุตถฌานก็มีสัญญา (คือความรู้สึกนึกคิดจำได้หมายรู้สิ่งต่างๆ) เหมือนกัน ด้วยประการฉะนี้

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 179

…………..

สรุปว่า พรหมสุภกิณหาคือผู้เจริญจตุตถฌานระดับประณีตมาเกิด มีอายุยืนยาว 64 กัป ลักษณะเด่นตามนามที่ปรากฏ คือ รูปกายมีรัศมีพร่างพรายฉายฉานบมิได้ขาดช่วง งามนักหนา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ภิกษุที่อุตส่าห์รักษาพระจตุปาริสุทธิศีลมิให้ขาด

: งามพิลาสยิ่งกว่าพรหมสุภกิณหาร้อยเท่าพันทวี

#บาลีวันละคำ (3,522)

2-2-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *