บาลีวันละคำ

ยุวราชรังสฤษฎิ์ (บาลีวันละคำ 4,383)

ยุวราชรังสฤษฎิ์

อย่าสะกดผิดอยู่ร่ำไป

อ่านแบบคนรักภาษาว่า ยุ-วะ-ราด-ชะ-รัง-สะ-หฺริด

อ่านแบบคนรักง่ายว่า ยุ-วะ-ราด-รัง-สะ-หฺริด

ยุวราชรังสฤษฎิ์” เป็นสร้อยนามพระอารามหลวง คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ อันตั้งอยู่ระหว่างพระบรมมหาราชวัง หรือวังหลวง กับพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ที่กรุงเทพมหานคร

ประกอบด้วยคำว่า ยุวราช + รังสฤษฎิ์

(๑) “ยุวราช” ประกอบด้วยคำว่า ยุว + ราช

(ก) “เยาว” บาลีเป็น “ยุว” (ยุ-วะ) รากศัพท์มาจาก ยุ (ธาตุ = ปะปน, ผสม) + (อะ) ปัจจัย แผลง อุ ที่ ยุ เป็น โอ แปลง โอ เป็น อุว 

: ยุ > โย > ยุว + = ยุว แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปะปนกัน” คือมีลักษณะผสมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ หรือพ้นจากวัยเด็ก แต่ยังไม่เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ความหมายก็คือ คนหนุ่มคนสาว (a youth)

(ข) “ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + (อะ) ปัจจัย

: ราชฺ + = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ปัจจัย, ลบ ลบ ญฺ แผลง เป็น รา 

: รญฺชฺ + = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ

ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คำนี้มักใช้ประกอบกับคำอื่น, ถ้าคำเดียวมักใช้ว่า ราชา.”

ยุว + ราช = ยุวราช (ยุ-วะ-รา-ชะ) แปลว่า “พระราชาหนุ่ม”  

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ยุวราช, ยุวราชา : (คำนาม) พระราชกุมารที่ได้รับอภิเษกหรือทรงรับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งที่จะสืบราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป. (ป., ส.).”

(๒) “รังสฤษฎิ์” ประกอบด้วยคำว่า รัง + สฤษฎิ์ 

(ก) “รัง” เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

รัง ๓ : (คำกริยา) แต่ง, สร้าง, ตั้ง.”

(ข) “สฤษฎิ์” (-ฎิ์ ฏ ปฏัก มีการันต์) เป็นรูปคำสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ แต่เก็บคำที่มีรูปศัพท์เดียวกัน ดังนี้ –

สฤษฎิ, สฤษฎี, สฤษฏ์ : (คำนาม) การทำ, การสร้าง, ใช้ว่า สฤษดิ์ ก็มี. (ส.).”

โปรดสังเกตการสะกดคำ –

สฤษฎิ, สฤษฎี ฎ ชฎา

สฤษฏ์ ฏ ปฏัก

รัง + สฤษฎิ์ = รังสฤษฎิ์ เป็นคำประสมแบบไทยและประสมข้ามสายพันธุ์ คือไทยประสมสันสกฤต แต่อนุโลมให้ใช้ได้ แบบเดียวกับ “ราชวัง” ก็เป็นบาลีประสมไทย เราใช้กันอยู่ แต่ทั้งนี้หมายถึงคำเก่าคำเดิมที่ท่านใช้กันมาเก่าก่อน ถ้าจะประสมขึ้นใหม่ควรประสมคำในสายพันธุ์เดียวกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำที่สะกดเป็น “รังสฤษฎิ์” แบบนี้ แต่เก็บคำที่สะกดเป็น “รังสฤษฏ์” (ฏ ปฏัก การันต์ ไม่มีสระ อิ) บอกไว้ว่า – 

รังสฤษฏ์ : (คำกริยา) สร้าง, แต่งตั้ง.”

ยุวราช + รังสฤษฎิ์ = ยุวราชรังสฤษฎิ์ แปลว่า “(อาราม) ที่พระยุพราชสร้าง” 

อภิปรายขยายความ :

มีปัญหาว่า “รังสฤษฎิ์” บาลีว่าอย่างไร?

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “สฤษฎิ, สฤษฎี, สฤษฏ์” บอกว่าเป็นคำสันสกฤต ไม่ได้บอกว่า รูปบาลีเป็นอย่างไร

สร้อยนามวัดมหาธาตุ “รังสฤษฎิ์” ฎ ชฎา สระ อิ การันต์

เมื่อเทียบรูปศัพท์ “สฤษฎิ” ควรจะตรงกับบาลีว่า “สุติ” (สุ-ติ) รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ให้เกิดขึ้น) + ติ ปัจจัย หรือ “สุต” (สุ-ตะ) สุ + ปัจจัย

สุติ” แปลว่า “การทำให้เกิดขึ้น

สุต” แปลว่า “ผู้ทำให้เกิดขึ้น” หรือ “สิ่งที่ถูกทำให้เกิดขึ้น

พึงทราบว่า สุ ธาตุในบาลี ใช้ในความหมายหลายหลาก หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) บอกความหมายของ สุ ธาตุ ไว้เกือบ 20 ความหมาย 1 ในความหมายเหล่านั้นคือ “คติยํ = ไป, ถึง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มี สฤ ธาตุ บอกไว้ว่า –

สฤ : (ธาตุ) ไป; ไปเร็ว, วิ่ง; to go; to go fast, to run.”

เป็นอันว่า สุ ธาตุในบาลีตรงกับ สฤ ธาตุในสันสฤต

และความหมายอย่างหนึ่งของ สุ ธาตุในบาลีคือ “ชนเน = ให้เกิดขึ้น

สุติ” หรือ “สุต” ในบาลีจึงสามารถแปลว่า “การทำให้เกิดขึ้น” หรือ “ผู้ทำให้เกิดขึ้น

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สฺรษฺฏฤ” บอกไว้ดังนี้ –

สฺรษฺฏฤ : (คำนาม) ผู้สร้าง, ผู้ทำ; พระพรหม; พระศิวะ; a creator, a maker, Brahmâ; Śiva.”

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า ภาษาไทยว่า “สฤษฎิ, สฤษฎี, สฤษฏ์” จะมาจากสันสกฤตคำไหนก็ตาม แต่ความหมายตรงกับ “สฺรษฺฏฤ” ตาม สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน 

สร้อยนามวัดมหาธาตุ เขียนว่า “รังสฤษฎิ์” ฎ ชฎา มีสระ อิ คำว่า “สฤษฎิ์” น่าจะตรงกับบาลีว่า “สุติ” ซึ่งแปลว่า “การทำให้เกิดขึ้น” หรือ “การสร้าง” อนุโลมตาม “สฺรษฺฏฤ” ในสันสกฤต

สร้อยนามวัดมหาธาตุ “ยุวราชรังสฤษฎิ์” จึงมีความหมายว่า “พระยุพราชเป็นผู้สร้าง

ขอย้ำว่า ที่ว่ามานี้เป็นการสันนิษฐานหรือการเดาทั้งสิ้น ไม่พึงนำไปอ้างอิงเป็นข้อยุติ นักเรียนบาลีและผู้สันทัดทางสันสกฤตพึงช่วยกันศึกษาตรวจสอบเพื่อหาข้อยุติต่อไป

อนึ่ง “ยุวราช” หรือ “ยุพราช” ในที่นี้หมายถึงท่านผู้ใด เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์หรือผู้สนใจประวัติศาสตร์จะพึงตอบหรือตรวจสอบศึกษากันต่อไป โดยเฉพาะชาววัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ควรจะเป็น “เจ้าภาพ” ในเรื่องนี้โดยตรง

คำว่า “รังสฤษฎิ์” ในคำว่า “ยุวราชรังสฤษฎิ์” สร้อยนามวัดมหาธาตุที่กรุงเทพฯ นั้น ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้เทคนิคจำศัพท์แบบแยกพยัญชนะว่า สะ-รึ-สะ-ดิ 

สะ-หน้า = ส เสือ 

รึ = ฤ รึ

สะ-กลาง = ษ ฤษี 

ดิ = ฎ ชฏา (ไม่ใช่ ฏ ปฏัก) สระ อิ การันต์

…………..

เอกสารของทางราชการที่สะกดคำว่า “ยุวราชรังสฤษฎิ์” พึงดูได้จากลิงก์ข้างล่างนี้

https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/33409.pdf

(ดูที่หน้า 8 หมายเลข 49 พระมหาเตชินท์ สิทฺธาภิภู)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าวัดไม่สร้างคน

: ต่อไปจะไม่มีคนสร้างวัด

#บาลีวันละคำ (4,383)

12-6-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *