บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

แบบฝึกหัด หนักเอาเบาสู้

แบบฝึกหัด หนักเอาเบาสู้

—————————

เมื่อวานนี้ (๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ – ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓) กำหนดเป็นวันทำบุญถวายอดีตเจ้าอาวาสและบูรพาจารย์วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี และถือว่าเป็นเหมือน “วันสุกดิบ” งานประจำปีของวัดไปในตัว

งานประจำปีวัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี คือขึ้น ๑๓-๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๓ กิจกรรมหลักอย่างหนึ่งคือ เทศน์มหาชาติ

เทศน์มหาชาติคือเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดก บอกแค่นี้ก่อน มีเวลามีโอกาสค่อยศึกษาเรียนรู้กันต่อไป

“วันสุกดิบ” เมื่อวานนี้ – 

ภาคเช้ามีสวดมนต์ เลี้ยงพระ 

ภาคบ่ายมีพิธีห่มผ้าพระมหาธาตุ

ภาคค่ำมีเทศน์คาถาพัน

เมื่อเช้านี้ (๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖) ผมไปวัด เจอคนรู้จัก อายุวัยเกษียณแล้ว เขาถามผมว่า คาถาพันคืออะไร เทศน์คาถาพันคือเทศน์อะไร

คนไทย อายุวัยเกษียณ แต่ไม่รู้ว่าคาถาพันคืออะไร กรรมของเวร!!

ผมก็ต้องบรรยายสรุป ไม่เหนื่อยกาย แต่เหนื่อยใจ

การใฝ่ศึกษา ตรวจสอบ เรียนรู้ กำลังหายไปจากนิสัยของคนไทย

………………….

เมื่อคืนนี้ (๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕) ผมไปฟังเทศน์คาถาพันตามที่ตั้งใจเอาไว้

ผมตั้งใจเอาไว้ว่า จะฟังเทศน์คาถาพันให้ได้ทุกปี โดยมีเงื่อนไขว่า –

๑ จะนั่งพับเพียบกับพื้น อันเป็นอิริยาบถที่บรรพบุรุษไทยประพฤติกันมาแต่กาลก่อน แต่คนไทยรุ่นหลังส่วนมากไม่มีความอดทนที่จะประพฤติตาม อ้างเหตุผลสารพัด ล้วนแต่เป็นเหตุผลดีๆ ทั้งนั้น

๒ เมื่อนั่งแล้วจะไม่ลุกไปไหนจนกว่าพระจะเทศน์จบครบ ๑๓ กัณฑ์

ผมปฏิบัติตามเงื่อนไข ๒ ข้อนี้อย่างเคร่งครัด และปฏิบัติติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

ปีนี้ก็ยังปฏิบัติได้อย่างราบรื่น ขอบคุณสังขารร่างกายที่ยังยอมให้ใช้งานได้อย่างเรียบร้อยดีมาก ตั้งแต่ ๑ ทุ่ม จนถึง ๔ ทุ่มครึ่ง

พระเทศน์คาถาพันเป็นพระเจ้าประจำ ๒ รูป นิมนต์มาจากวัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ ขึ้นธรรมาสน์คู่กัน ผลัดกันรูปละกัณฑ์ เป็นคาถาพันทำนองหลวง น่าฟังมาก ยิ่งคนที่พอรู้ภาษาบาลี ฟังแล้วยิ่งเพลิน กำหนดได้ว่าเรื่องราวดำเนินไปถึงตอนนั้นๆ แล้ว เกิดปีติตลอดเวลา

เทศน์คาถาพันนั้นเทศน์เป็นภาษาบาลีล้วนๆ จากคัมภีร์ชาดก มีสรุปเรื่องตอนท้ายแต่ละกัณฑ์เป็นภาษาไทยสั้นๆ ที่สำคัญมากคือสรุปว่า กัณฑ์นั้นๆ ประดับประดาไปด้วยพระคาถากี่คาถา

คาถาพัน ๑๓ กัณฑ์ ผมนั่งพับเพียบ ประนมมือตลอดเวลา จบกัณฑ์หนึ่งพลิกขาทีหนึ่ง กัณฑ์สุดท้าย-นครกัณฑ์ไม่นับ เพราะจบแล้วเลิก กัณฑ์จุลพนกับมหาพนนั่งท่าเดียว ๒ กัณฑ์ควบ สิริรวมพลิกขา ๑๐ ครั้ง

ทำทำไม ทำแล้วได้ประโยชน์อะไร?

ทำเพื่อฝึกตัวเองให้มีความอดทนอดกลั้นครับ

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเพื่อตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏหรือเพื่อหลุดพ้นไปจากการเวียนตายเวียนเกิด ไม่ว่าจะเป็นระดับเตี้ยๆ เช่นทาน-การให้ สูงขึ้นไปคือศีล และสูงขึ้นไปอีกคือภาวนา ไม่มีข้อไหนเรื่องไหนเลยที่ไม่ต้องใช้ความอดทนอดกลั้น

ผมสังเกตเห็นว่า คนไทยรุ่นใหม่มีความอดทนอดกลั้นน้อยลง

คนประเภท-หนักไม่เอา เบาไม่สู้ มีมากขึ้น

นั่นแปลว่า คนที่ตั้งใจมุ่งมั่นจะปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนามีน้อยลง

ประเภท-ขอพร อ้อนวอนพระให้ช่วยดลบันดาล ซึ่งทวีมากขึ้น ไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่ใช่การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา

และนั่นแปลว่า คนที่จะนำพาพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องให้ดำเนินสืบทอดต่อไปจะมีน้อยลงไปเรื่อยๆ

ลักษณะนิสัย-หนักไม่เอา เบาไม่สู้ เห็นได้ชัดขึ้นเมื่อเทียบกับคนพม่าที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยจนเต็มไปทั้งประเทศอยู่ในขณะนี้

คนพม่าทำงาน-หนักเอาเบาสู้-ทุกประเภท แบบเดียวกับคนจีนอพยพสมัย “เสื่อผืนหมอนใบ”

คนจีนยุคนั้นกำลังกุมอำนาจเศรษฐกิจอยู่ในเมืองไทยในสมัยนี้ฉันใด

คนพม่าในวันนี้-ถ้ายังดำรงลักษณะ “หนักเอาเบาสู้” ไว้ได้มั่นคงยั่งยืนต่อไป ก็จะเป็นผู้กุมอำนาจเศรษฐกิจในเมืองไทยในสมัยหน้าฉันนั้น

แล้วคนไทยล่ะ?

อ๋อ คนไทยก็-สอนลูกไม่ให้ทำงานหนักเพราะกลัวลูกจะลำบาก-กันต่อไป

อาจกล่าวได้ว่า คนหนุ่มสาวที่กำลังเป็นพ่อเป็นแม่อยู่ในวันนี้ ก็คือลูกที่พ่อแม่ไม่เคยสอนให้สู้งานเพราะกลัวลูกจะลำบากเมื่อวันก่อนโน้นนั่นเอง

เมื่อตัวเขาเองก็ไม่เคยถูกฝึกให้สู้งานมาก่อน การที่เขาจะสอนลูกให้เป็นคนสู้งานก็เป็นอันไม่ต้องหวัง

พร้อมกันนั้นเราก็พยายามสอนกันให้หาวิธีอื่น-ใช้วิธีอื่น ที่ไม่ต้องใช้ความอดทนก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

พระพุทธศาสนาสอนว่า คน-ต้องฝึกจึงจะประเสริฐ ไม่ฝึกไม่ประเสริฐ

และในกระบวนการฝึกนั้น คุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดก็คือ ความอดทนอดกลั้น

เมื่อไม่มีความอดทนอดกลั้นเสียแล้ว ก็เท่ากับประกาศว่า คน-ไม่ต้องฝึกก็อยู่ได้นั่นเอง

ชีวิตที่ไม่ต้องฝึกอะไรเลย ธรรมชาติหรือสัญชาตญาณมีมาอย่างไร ก็อยู่ไปอย่างนั้น ก็คือชีวิตสัตว์ (animal) …

พูดแค่นี้ คนที่มีปัญญาย่อมจะคิดต่อไปได้เองว่า อะไรควรจะเป็นอย่างไร และอะไรไม่ควรจะเป็นอย่างไร

………………….

งานประจำปีของวัดมหาธาตุปีนี้งดกิจกรรมหลายอย่าง เฉพาะเทศน์มหาชาติลดลงไปครึ่งหนึ่ง คือมีเทศน์แค่ ๖ กัณฑ์ เฉพาะกัณฑ์หัว-ท้าย และกัณฑ์กลางๆ บางกัณฑ์ แต่กัณฑ์คาถาพันยังคงเทศน์เต็มรูปเหมือนเดิม แม้อะไรๆ จะลดลงไป แต่ก็ชื่อว่ายังรักษาประเพณีของวัดไว้ได้

ญาติมิตรที่ได้อ่านเรื่องนี้ ถ้าพอมีเวลา และสะดวกกายสบายใจ จะมาเที่ยววัดมหาธาตุในช่วงเวลามีงานประจำปี ๑๔-๑๕-๑๖ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ก็ขอต้อนรับด้วยความยินดี

อ้อ ศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีมารยาทในการเที่ยววัดไว้บ้าง ก็จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่งแก่ชีวิตของท่านเอง

…………………………………………

วัดมหาธาตุ ราชบุรี มีสิ่งก่อสร้างที่มี “ธรณีประตู” อยู่หลายแห่ง ท่านเชื่อหรือไม่ว่า คนไทยสมัยใหม่เหยียบและยืนบนธรณีประตูด้วยความบริสุทธิ์ใจใสซื่อเป็นที่สุด เพราะไม่เคยศึกษาเรียนรู้ว่า นั่นเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษของเราท่านห้ามทำกันมาแต่ไหนแต่ไร

…………………………………………

โบราณสถานแทบทุกแห่งในเมืองไทยเป็น “โบราณสถานตาย” คือเอาไว้ไปเดินดูเป็นอนุสติ หรือใช้เป็นที่ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเท่านั้น 

แต่วัดมหาธาตุ ราชบุรี เป็น “โบราณสถานเป็น” คือโบราณสถานที่ยังมีชีวิต ยังใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญบุญกุศลในชีวิตประจำวันได้ตามปกติทุกประการ

ขอเรียนเชิญด้วยความเคารพครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๔:๕๓

………………………………………..

แบบฝึกหัด หนักเอาเบาสู้

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *