การศึกษาตรวจสอบ: สิ่งที่ขาดหายไปจากนิสัยของคนไทย
การศึกษาตรวจสอบ: สิ่งที่ขาดหายไปจากนิสัยของคนไทย
———————————————–
ความเข้าใจ > การศึกษาตรวจสอบ > ข้อยุติ
หลายวันมาแล้ว ผมได้อ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านกล่าวถึงพระ และใช้คำว่า “จำวัด” ในความหมายว่า stay
ผมตั้งใจพูดว่า “ ‘จำวัด’ ในความหมายว่า stay” อันเป็นความหมายที่ผิด เพราะเหนื่อยหน่ายกับการชี้แจงเรื่องนี้ และเห็นว่าถ้าใช้คำฝรั่งอาจจะช่วยให้ผู้ใช้คำผิดความหมายสะดุ้งคิดและเข้าใจถูกต้องได้ง่ายขึ้น
“จำวัด” หมายถึง sleep ครับ
ขอความกรุณาจำใส่สมองไว้ให้แม่นและให้แน่น
ถ้าจะให้หมายถึง stay โปรดใช้คำว่า “จำพรรษา”
ใครจะเถียงว่าใช้คำว่า “จำพรรษา” ไม่ได้ เชิญแถลงเหตุผลมา ผมยินดีจะเถียงด้วย
ยิ่งอ้างพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานด้วยแล้ว ยิ่งเข้าทางผม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานนั่นแหละครับที่บอกว่า “จำวัด” คือ sleep
แล้วทำไมยังดันทุรังใช้ในความหมายว่า stay กันมั่วไปหมด
ส่วน “จำพรรษา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานบอกว่า “อยู่ประจำที่วัด ๓ เดือนในฤดูฝน” – ผมจะได้ถือโอกาสอธิบายให้ฟังว่า นอกจากความหมาย “อยู่ประจำที่วัด ๓ เดือนในฤดูฝน” แล้ว ทำไม “จำพรรษา” จึงควรหมายรวมถึง “พำนักอยู่ประจำในสังกัดวัดใดวัดหนึ่ง” ด้วยโดยอนุโลม
……………….
เวลานี้ คนไทยใช้คำผิดความหมายโดยไม่ศึกษาตรวจสอบ เท่าที่ผมเห็นว่าเด่นๆ มี ๓ คำ คือ จำวัด ถวายสังฆทาน และ ธุดงค์
๑ จำวัด
อธิบายคร่าวๆ แล้วข้างต้น
๒ ถวายสังฆทาน
พูดคำนี้โดยพ่วงความเข้าใจไปกับ “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” คือเข้าใจดิ่งไปว่า ต้องมี “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” ทุกครั้งไปจึงจะเป็นการ “ถวายสังฆทาน”
ชี้แจงจนปากจะฉีกก็ไม่ยอมฟัง ไม่ยอมศึกษาตรวจสอบว่า “สังฆทาน” คืออะไร
พูดกันแต่ว่า ถวายสังฆทาน ถวายสังฆทาน มีศรัทธาจะถวายสังฆทาน แล้วก็เรียกหา “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” ทุกครั้งไป ถ้าไม่มี ก็เข้าใจไปว่าไม่เป็น “สังฆทาน”
วัดต่างๆ ก็ช่วยกันตอกย้ำให้เข้าใจดิ่งลึกลงไปด้วยการเตรียม “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” ไว้บริการ ใครจะถวายก็ตั้งหมุนเวียนกันอยู่ตรงนั้น โดยไม่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่า “สังฆทาน” คืออะไร ของที่ถวายเป็นของสงฆ์แล้วต้องเอาไปดำเนินกรรมวิธีทางพระวินัยอย่างไร
ผมเชื่อว่าวัดร้อยทั้งร้อยที่มีบริการถวายสังฆทาน ไม่ได้ทำ ไม่เคยทำ
ไม่มีใครใส่ใจที่จะศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติให้ถูกต้อง
แสวงหาประโยชน์จากความเขลาของชาวบ้านนี่สบายดีจังเลย
ถ้าชาววัดไม่ให้ความรู้-ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรง
ชาวบ้านก็สมควรต้องหาความรู้กันเอง
………………………………………………
ถวายสังฆทานให้ถูกวิธี (และเรื่องอื่นๆ)
………………………………………………
๓ ธุดงค์ เดินธุดงค์ หรือพระธุดงค์
คำนี้ก็เข้าใจผิดชนิดเข้ากระดูก เห็นพระแบกกลด สะพายบาตรเดินไปตามที่ไหนๆ เป็นต้องประทับตรา “พระธุดงค์” ทันที
จนกระทั่งสำนักใหญ่แห่งหนึ่งจับไต๋ได้ว่าคนไทยหลงภาพแบบนี้ จึงจัดฉากพระแบกกลด สะพายบาตรอย่างอลังการ ประกาศว่านี่คือ “พระธุดงค์” “เดินธุดงค์” ให้คนศรัทธาจนตัวเลขในบัญชีพุ่งกระฉูด
เรื่องนี้ก็อีหรอบเดียวกับสังฆทาน คือมีผู้ทำท่ารู้ออกมาอธิบายว่า การแบกกลด สะพายบาตรเดินไปตามที่ไหนๆ นั้น พอจะอนุโลมเรียกได้ว่าเป็นบุรพภาคของการปฏิบัติธุดงค์ แปลว่า-เป็นการเตรียมตัวปฏิบัติธุดงค์
ก็คือพยายามจะอธิบายลากเข้าไปเป็นธุดงค์ให้จงได้
ขอย้ำยืนยันว่า การแบกกลด สะพายบาตรเดินไปตามที่ไหนๆ นั้นไม่ใช่ธุดงค์ข้อไหนๆ ในธุดงค์ ๑๓ ข้อของพระพุทธเจ้า และไม่อาจจะเรียกว่าเป็นการเตรียมตัวปฏิบัติธุดงค์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ยิ่งในโลกข้อมูลข่าวสารด้วยแล้ว อ้างไม่ได้เลยว่าเป็นการเตรียมตัวปฏิบัติธุดงค์
เช่นอ้างว่า การอยู่ป่าเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง (อารัญญิกังคะ – forest-dweller’s practice ข้อ ๘ ในธุดงค์ ๑๓ ข้อ) พระท่านแบกกลด สะพายบาตรเดินเพื่อจะไปอยู่ป่า ถือว่าเป็นการเตรียมตัวเพื่อปฏิบัติธุดงค์ ผิดตรงไหน?
ผิดตรงที่-สมัยนี้การจะไปอยู่ป่าไม่จำเป็นต้องแบกกลด สะพายบาตรเดินโชว์แต่ประการใดทั้งสิ้น จากวัดไปป่า ป่ามีอยู่แถบไหนบ้าง หาข้อมูลได้ง่ายๆ ตั้งเข็มเดินทางตรงไปที่นั่นได้เลย ไม่จำเป็นต้องโฆษณาให้ใครเลื่อมใส
การแสดงตัวให้คนรู้ บอกเจตนาว่าต้องการให้คนเลื่อมใส เพื่อเรียกศรัทธา
ศรัทธาเพื่ออะไร? ก็เห็นชัดอยู่แล้ว
ธุดงค์คือการขัดเกลา อยู่คนละขั้วกับการแสวงหาลาภสักการะ ปฏิบัติธุดงค์เพื่อให้คนศรัทธาจึงพลาดจากทางของพระพุทธเจ้าไปตั้งแต่ต้นทาง
พระธุดงค์แท้ท่านปฏิบัติธุดงค์เพื่อขัดเกลาตัวท่านเอง ไม่ใช่เพื่อให้ใครศรัทธา
วิธีที่ถูกต้องคือศึกษาเรื่องธุดงค์ให้เข้าใจ-เข้าใจให้ถูกว่าธุดงค์คืออะไร ก็แบบเดียวกับ-เข้าใจให้ถูกว่าสังฆทานคืออะไรนั่นแหละ
แต่กลับไม่เรียนรู้ ไม่เอา ไม่ชอบตรวจสอบศึกษา ชอบเอาความเข้าใจอย่างที่ข้าพเจ้าเข้าใจนี่แหละเป็นที่ตั้ง
ธุดงค์ของพระพุทธเจ้ามี ๑๓ ข้อ โปรดตามไปศึกษาเรียนรู้ที่นี่ครับ
……………………………………….
ธุดงค์ ๑๓
……………………………………….
แหล่งข้อมูลเรื่องจำวัด เรื่องถวายสังฆทาน และเรื่องธุดงค์ เราท่านสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ยาก ขนาดผมเป็นคนแก่รุ่นเก่า เงอะงะงุ่มง่ามที่สุดในโลกออนไลน์ ยังพอคลำทางเข้าถึงได้ คนหนุ่มคนสาวจึงไม่ควรมีปัญหา
ที่มีปัญหาเพราะขาดความอุตสาหะ ไม่อยากเหนื่อย อยากนั่งเล่นเกมสนุกๆ แล้วความรู้เกิดขึ้นมาได้เอง
……………….
เวลานี้มีทฤษฎีอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คนไม่มีอุตสาหะในการศึกษาตรวจสอบหาความรู้ชอบกันมาก นั่นคือทฤษฎีที่ว่า ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ จะเขียนอย่างไร อ่านอย่างไร ใช้คำไหนในความหมายว่าอย่างไร ไม่มีผิดไม่มีถูก ขอให้เข้าใจตรงกันว่าจะสื่อถึงอะไร เท่านั้นพอ เขียนอย่างไรอ่านอย่างไร ใช้ได้ทั้งหมด
ทฤษฎีนี้เอาความเข้าใจส่วนตัวเป็นที่ตั้ง แล้วสรุปลงไปว่าความเข้าใจของตัวนั่นคือข้อยุติ ไม่ต้องศึกษาตรวจสอบถึงข้อยุติที่ถูกต้อง-เช่นพจนานุกรมเป็นต้น-อันมีปรากฏอยู่แล้ว แต่ตัวเองไม่ศึกษาเรียนรู้
เช่นคำว่า “จำวัด” ตัวเองเข้าใจเอาเองว่าหมายถึง stay ก็ยุติแค่นั้น และถ้าคนส่วนมากก็เข้าใจว่า “จำวัด” คือ stay ก็จบบริบูรณ์
พจนานุกรมจะบอกว่า “จำวัด” คือ sleep ก็ชั่งพจนานุกรมปะไร พจนานุกรมไม่ใช่กฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีความผิด พจนานุกรมต้องปฏิบัติตามเสียงข้างมากจึงจะถูกต้อง ต้องแก้ “จำวัด” ว่าคือ stay ส่วนจำวัดที่หมายถึง sleep ก็ปล่อยให้คนแก่ๆ หัวโบราณ ความคิดคับแคบใช้กันไป เดี่ยวก็ตายหมดไปเอง
ถ้าใช้ทฤษฎีแบบนี้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน ก็สบายแฮ ไม่ต้องไปเสียเวลาศึกษาตรวจสอบเรียนรู้อะไร นึกอยากจะให้อะไรเป็นอะไร ต่างคนต่างก็ยกเอาความเข้าใจของตัวเองขึ้นเป็นที่ตั้งได้ทุกเรื่องไป —
“จำวัด” คือ stay – ถูกต้อง
ถวายสังฆทานต้องมีถังสังฆทานชุดสังฆทาน ถ้าไม่มี ไม่เป็นสังฆทาน – ถูกต้อง
ธุดงค์คือแบกกลดสะพายบาตรเดิน – ถูกต้อง
ถ้าเอาทฤษฎีนี้มาใช้ในพระพุทธศาสนา พระศาสนาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็วิบัติวินาศสันตะโรทันตาเห็น
เวลานี้มีพระรุ่นใหม่เข้าใจว่า พระจับตัวโยมแม่ได้ ไม่ผิดวินัย เหตุผลคือเพราะเป็นแม่
ถ้าพระส่วนมากพากันเข้าใจอย่างนี้ ก็จะกลายเป็นข้อยุติ คือพระจับตัวโยมแม่ได้
พุทธบัญญัติห้ามพระจับตัวสตรี-แม้จะเป็นโยมแม่ ก็วิบัติวินาศสันตะโรทันที
หนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ ศึกษาตรวจสอบเรียนรู้ว่าเรื่องนั้นๆ กรณีนั้นๆ มีพุทธบัญญัติวางไว้อย่างไร แล้วพร้อมใจกันปฏิบัติตาม-ก็เป็นอันวิบัติวินาศสันตะโรหมดสิ้น
พระภิกษุสามเณรไม่ต้องศึกษาตรวจสอบเรียนรู้พระธรรมวินัยอะไรทั้งสิ้น นึกอยากจะให้อะไรเป็นอะไร ต่างคนต่างก็ยกเอาความเข้าใจของตัวเองขึ้นเป็นที่ตั้ง แล้วหาพวกที่ทำเหมือนๆ กันให้มากๆ เข้าไว้ – เท่านี้เท่านั้นพระพุทธศาสนาก็อยู่ในกำมือเราแต่เพียงผู้เดียว ไชโย (๓ ครั้ง)
จะว่าเรื่องตลก จะว่ามองโลกในแง่ร้าย หรือจะว่าคิดอะไรไร้สาระ
เชิญตามสบาย
เวลานี้ ลักษณะนิสัยที่ไม่ชอบศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริง นิยมนำมาใช้กันทั่วไปในโลกโซเชียล
มีข่าว มีกรณีอะไร ที่ใครทำให้โผล่ขึ้นมาด้วยเจตนาอะไรสักอย่าง ผู้คนจะกระโดดเข้างับทันที จริง-เท็จ ถูก-ผิดอย่างไร ไม่สน ไม่ต้องสนด้วย ฟัดก่อนเลย แล้วก็ฟัดกันจนเละ
หลายเรื่อง ปรากฏว่าเป็นเรื่องไม่จริง หรือเรื่องจริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่เอามาบอกกล่าวเป็นอีกอย่างหนึ่ง
ฟัดจนเละไปแล้ว ทำไง?
ก็ไม่ต้องทำไง แล้วไปแล้ว ฟัดจนมันหยดไปแล้ว ขอโทษขอโพยรึ? ขอทำไม ไม่ต้องขอ รอฟัดรายต่อไปสนุกอีก สนุกกว่า
เป็นอย่างนี้กันทั่วไปหมดแล้ว เหตุก็เพราะขาดนิสัยรักการศึกษาตรวจสอบ หาความรู้และหาข้อยุติที่ถูกต้อง ไม่มีแล้วลักษณะนิสัยเช่นนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ลึกๆ แล้ว ผมยังหวังอยู่ว่า คนที่รักความถูกต้อง มีนิสัยใฝ่ศึกษาตรวจสอบหาข้อยุติที่ถูกต้องในทุกเรื่อง คงจะยังไม่สูญพันธุ์ไปจากสังคมไทย –
โดยเฉพาะสังคมชาวพุทธเรา
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง-สังคมชาววัดเรา
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
๑๖:๑๐
………………………………………….
การศึกษาตรวจสอบ: สิ่งที่ขาดหายไปจากนิสัยของคนไทย