หลักภาษา+หลักวรรณคดี
หลักภาษา+หลักวรรณคดี
————————–
นักเรียนบาลีควรรู้
เมื่อปี ๒๕๑๓-๒๕๑๔ ผมไปเรียนชั้น ป.ธ.๘ และ ป.ธ.๙ ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา กรุงเทพฯ
ชั้น ป.ธ.๘ แปลวิสุทธิมรรค พระธรรมวโรดม (บุญมา ป.ธ.๙) วัดเบญจมฯ เป็นครูสอน วิชาแต่งฉันท์ ท่านอาจารย์นาวาอากาศเอกพิเศษ แย้ม ประพัฒน์ทอง เป็นครูสอน
ชั้น ป.ธ.๙ แปลอภิธัมมัตถวิภาวินี ท่านอาจารย์วิเชียร บำรุงผล เป็นครูสอน วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ป.ธ.๙) เป็นครูสอน วันไหนไม่สะดวก พระธรรมวโรดมเป็นครูสอนแทน
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ให้หลักเรื่อง “หลักภาษา+หลักวรรณคดี” ซึ่งผมไม่แน่ใจว่านักเรียนบาลีรุ่นใหม่เคยเรียนหรือเคยรู้กันบ้างหรือเปล่า
หลักภาษา+หลักวรรณคดี เป็นหลักวิชาที่จำเป็นอย่างยิ่งในวิชาแต่งไทยเป็นมคธ หรือกล่าวในวงกว้างว่า-เป็นหลักวิชาที่จำเป็นเพื่อการใช้ภาษาบาลีที่ถูกต้อง
“หลักภาษา” นี่เข้าใจได้ง่าย คือหมายถึงหลักไวยากรณ์
ภาษาบาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย นี่ก็คือคำที่นักเรียนภาษาได้รับการบอกกล่าวกันมา
ท่านอาจารย์พระมหาถวิล ป.ธ.๓ ผู้สอนวิชาบาลีไวยากรณ์ให้ผมซึ่งผมเรียกว่าเป็นผู้จูงมือผมเข้ามาสู่โลกบาลี ท่านพูดกระชับเข้าไปอีกว่า คำที่ยังไม่ได้ประกอบวิภัตติปัจจัยคือ “ศัพท์ดิบ” ถ้าเป็นอาหารก็คือยังกินไม่ได้เพราะมันยังดิบอยู่ ต้องทำให้สุกก่อน ก็คือต้องประกอบวิภัตติปัจจัย
ตัวอย่างเช่นคำว่า “โจร” ภาษาบาลีอ่านว่า โจ-ระ รูปคำแบบนี้คือศัพท์ดิบ ยังใช้ไม่ได้ โจรอะไร โจรทำยังไง ยังไม่รู้เรื่อง
ทีนี้ถ้าจะเอาไปใช้ ก็ต้องประกอบวิภัตติตามตำแหน่งว่า-ทำหน้าที่อะไรในประโยค เช่น –
เป็นประธานในประโยค โจรคนเดียว ประกอบวิภัตติเป็น “โจโร” โจรหลายคนเป็น “โจรา”
เป็นกรรม (คือผู้ถูกกระทำ) ในประโยค โจรคนเดียว ประกอบวิภัตติเป็น “โจรํ” โจรหลายคนเป็น “โจเร”
โจโร-โจรา-โจรํ-โจเร เปลี่ยนรูปไปอย่างนี้แหละ คือ “หลักภาษา” คำไหนทำหน้าที่เป็นอะไรในประโยค จะต้องเปลี่ยนรูปเป็นอย่างไร นี่แหละเป็นกฎเกณฑ์ของไวยากรณ์
การเรียนบาลีตามมาตรฐานเดิมจึงเริ่มด้วยการเรียนไวยากรณ์ คือเรียนหลักภาษา นักเรียนบาลีในเมืองไทยจะเริ่มเรียนด้วยวิธี “ท่องหลัก” คือกฎการประกอบสระพยัญชนะเข้าเป็นรูปศัพท์แล้วเอาศัพท์นั้นไปใช้
เมื่อเห็นภาษาบาลีและจะต้องแปลเป็นไทย “หลัก” ที่ท่องไว้จะบอกได้ว่า ศัพท์รูปร่างอย่างนี้ทำหน้าที่อะไรในประโยค และจะต้องแปลอย่างไร
เมื่อเห็นภาษาไทยและจะต้องแปลเป็นบาลี “หลัก” ที่ท่องไว้จะบอกได้ว่า คำไทยคำนี้หรือความหมายอย่างนี้ จะต้องใช้คำบาลีว่าอย่างไร
สมัยผมเรียน ยังไม่ได้แยกเป็นประโยค ๑-๒ สมัยนั้นเรียนไวยากรณ์อย่างเดียวใช้เวลาตามมาตรฐานคือ ๒ ปีเต็ม เรียนแปลธัมมปทัฏฐกถา ๘ ภาค อีก ๑ ปี รวมใช้เวลา ๓ ปี จึงสอบ ป.ธ.๓
หลักไวยากรณ์ที่เรียนมา ๒ ปีเต็ม นั่นคือขุมทรัพย์ขุมกำลังที่ต้องใช้ตลอดไปจนถึง ป.ธ.๙ และต่อไปอีกจนถึงพระไตรปิฎก
นักการศึกษาที่ดูถูกดูแคลนระบบท่องจำ ควรแยกแยะให้ออกว่าอะไรที่ต้องใช้วิธีจำ และอะไรที่ต้องใช้วิธีเข้าใจ
เรียนบาลี ใช้ความจำเป็นพื้นฐานเท่านั้น เนื้อหาที่เหนือจากพื้นฐานขึ้นไปอีกเป็นอเนกอนันต์ล้วนต้องใช้ความเข้าใจทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น เลิกดูแคลนด้วยความเขลากันเสียทีว่า พระพุทธศาสนาเถรวาทสอนให้จำอย่างเดียว
เข้าใจหลักภาษาเป็นพื้นฐานแล้ว ต่อไปก็ถึง “หลักวรรณคดี”
หลักวรรณคดีคืออะไร?
หลักวรรณคดีก็คือ หลักนิยมในการใช้ถ้อยคำ สรุปเป็นหลักสั้นๆ ว่า “ถ้อยความอย่างนี้ต้องใช้ถ้อยคำแบบนี้”
เพื่อที่ว่า-จะใช้ภาษาบาลีอย่างไรจึงจะไม่เป็น “บาลีไทย” คือถ้อยคำเป็นบาลี แต่สำนวนเป็นไทย ซึ่งไม่ใช่แบบที่ถูกต้อง
ตัวอย่างเช่นคำไทยพูดว่า “แต่งงาน”
ถ้าแปลเป็นคำบาลีแบบซื่อๆ –
“แต่ง” ก็คือ “ปฏิมณฺเฑติ” แปลว่า “ย่อมแต่ง”
“งาน” ก็คือ “ธุรํ” แปลว่า “ซึ่งงาน”
“ธุรํ ปฏิมณฺเฑติ” = ย่อมแต่งซึ่งงาน = แต่งงาน
“ธุรํ ปฏิมณฺเฑติ” นี่แหละคือ “บาลีไทย” คือได้ความตามตัวอักษรในคำไทย แต่ไม่ได้ความตามหมายในภาษาไทย
แบบนี้ ถ้าสอบสนามหลวง กรรมการก็จะบอกว่า ไปฝึกวิทยายุทธอีกเถิด ปีหน้าค่อยมาสอบใหม่
“แต่งงาน” หมายถึง ชายหญิงทำพิธีประกาศว่าจะอยู่กินเป็นสามีภรรยากัน สรุปสั้นๆ ว่า ชายหญิงอยู่ครองคู่กัน
ตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปนั้น เมื่อพ่อแม่มีลูก และลูกเจริญวัยสมควรจะมีคู่ครองได้แล้ว พ่อแม่ก็จะจัดการแต่งงานให้ นี่คือ “แต่งงาน” ตามความหมายที่ประสงค์
ตามความหมายที่ว่านี้ สำนวนภาษาบาลีพูดว่า “ฆรพนฺเธน พนฺธึสุ” แปลว่า “ผูกด้วยเครื่องผูกคือเรือน” นี่ก็ตรงกับคำไทยเก่าที่ใช้คำว่า “มีเรือน” หรือ “ออกเรือน” หมายถึงแต่งงานมีครอบครัว
เป็นอันว่า ภาษาไทยพูดว่า “แต่งงาน”
ถ้าพูดเป็นบาลีว่า “ธุรํ ปฏิมณฺเฑติ” นี่คือบาลีไทย
พูดว่า “ฆรพนฺเธน พนฺธึสุ” จึงจะเป็นบาลีมคธ
อีกตัวอย่างหนึ่ง ภาษาไทยพูดว่า “ธรรมทานนี้มีอานิสงส์มาก”
“ธรรมทาน” เป็นคำที่เราพูดกันในภาษาไทย คำบาลีว่า “ธมฺมทาน” ศัพท์นี้เป็นนปุงสกลิงค์ เป็นประธานในประโยค ลงวิภัตติเปลี่ยนรูปเป็น “ธมฺมทานํ”
“นี้” เป็นคำขยาย “ธรรมทานํ” คำบาลีว่า “อิทํ” แปลว่า “นี้”
“อานิสงส์มาก” คำบาลีว่า “มหานิสํส” ลงวิภัตติตาม “ธรรมทานํ” เปลี่ยนรูปเป็น “มหานิสํสํ”
“มี” คำบาลีว่า “โหติ” แปลว่า “ย่อมมี” หรือ “ย่อมเป็น”
ได้ศัพท์ครบแล้ว เอามาเรียงเป็นประโยคว่า “อิทํ ธมฺมทานํ มหานิสํสํ โหติ” แปลตรงตามคำไทย – “ธรรมทานนี้มีอานิสงส์มาก”
แบบนี้ กรรมการสนามหลวงก็จะบอกว่า ถ้าสอบประโยคต่ำๆ เช่น ป.ธ.๔ ป.ธ.๕ ก็พอจะอนุโลมให้ผ่าน เพราะหลักภาษาไม่ผิด แต่ถ้าเป็นประโยคสูง ๗-๘-๙ เห็นจะต้อง-ปีหน้ามาสอบใหม่เถิด เพราะผิดหลักวรรณคดี
ในสำนวนบาลีนั้น เมื่อจะบรรยายว่า “มีอานิสงส์มาก” ท่านนิยมใช้ศัพท์เป็นชุด นั่นคือ มหปฺผล มหานิสํส มีคำกริยา โหติ อยู่กลาง
รูปประโยคจะเป็น —
มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส
มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา
มหปฺผลํ โหติ มหานิสํสํ
แล้วแต่ว่าคำที่เป็นประธานจะเป็นลิงค์อะไร หรือวจนะอะไร
นี่แหละคือ “หลักวรรณคดี”
อันที่จริงนักเรียนบาลีเมื่อเรียนไปถึงระดับหนึ่งย่อมจะเคยได้ยินคำที่ครูบาอาจารย์พูดว่า “ประโยคแบบ” เช่น ประโยค ยถยิทํ ประโยคเอตทัคคะ ประโยคตั้งชื่อ โปรดทราบว่า นั่นก็คือส่วนหนึ่งของ “หลักวรรณคดี”
จะเข้าใจหลักวรรณคดีก็ต้องอ่าน-ศึกษาตัวคัมภีร์บาลีโดยตรง
ผู้ที่เรียนบาลีเป็นวิชาประกอบ-อย่างที่เรียนในมหาวิทยาลัยทั่วไป ส่วนมากเรียนแค่ “หลักภาษา” ไม่ได้เรียนตัวคัมภีร์บาลี ไม่ได้อ่านคัมภีร์บาลี ไม่ได้สัมผัสซึมซับอรรถรสของประโยคภาษาบาลี โอกาสที่จะเข้าใจ+เข้าถึง “หลักวรรณคดี” จึงมีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลย
…………………
“ท้องใส่ข้าวกับท้องใส่ลูกไม่เหมือนกัน” – นี่ก็เป็นอีกประโยคหนึ่งที่พระธรรมวโรดม (บุญมา ป.ธ.๙) วัดเบญจมฯ ท่านพูดในชั้นเรียนบ่อยๆ
หมายความว่า คำบาลีที่หมายถึงอวัยวะคือ “ท้อง” มีหลายศัพท์ แต่ละศัพท์มีหลักนิยมในการใช้ต่างกัน
บางศัพท์ ใช้เป็นท้องใส่ข้าวอย่างเดียว เอาไปใช้เป็นท้องใส่ลูกไม่ได้
บางศัพท์ ใช้เป็นท้องใส่ลูกอย่างเดียว เอาไปใช้เป็นท้องใส่ข้าวไม่ได้
บางศัพท์ ปกติใช้เป็นท้องใส่ข้าว แต่บางทีก็ใช้เป็นท้องใส่ลูกได้ด้วย
นี่ก็เป็นอีกนัยหนึ่งของ “หลักวรรณคดี”
เวลาจะเอาคำบาลีไปอ้าง จึงควรศึกษาให้ชัดว่า คำนั้นๆ ใช้ในความหมายตรงตามที่เอาไปอ้างหรือเปล่า เพราะท่านอาจเอา “ท้องใส่ลูก” ไปพูดเป็น “ท้องใส่ข้าว” เข้าก็เป็นได้
น่าเสียดายที่นักเรียนบาลีบ้านเรา ณ วันนี้ เรียนบาลีมุ่งไปที่สอบได้มากกว่าที่จะมุ่งไปศึกษาตัวคัมภีร์บาลีให้เข้าถึงอรรถรส
คัมภีร์บาลีที่มีอรรถรสล้ำเลิศเป็นอเนกอนันต์ รอนักเรียนบาลีเข้าไปศึกษาเสพอรรถสาระ อุปมาเหมือนอาหารอันโอชะที่บรรจงจัดวางขึ้นโต๊ะไว้เรียบร้อยแล้ว รอคนที่จะไปนั่งบริโภคเสพรสโอชาให้สำราญใจ
ของดีเรามีอยู่
แต่ไม่รู้ถึงค่าคุณ
มองบุญไม่เห็นบุญ
ฤๅเพราะบาปมาบังใจ?
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๓ เมษายน ๒๕๖๕
๑๕:๓๔
…………………………………………
หลักภาษา+หลักวรรณคดี
…………………………………………