บาลีวันละคำ

ท้าวเวสวัณ (บาลีวันละคำ 3,598)

ท้าวเวสวัณ

ไม่ใช่ท้าวเวสสุวรรณ

อ่านว่า ท้าว-เวด-สะ-วัน

ประกอบด้วยคำว่า ท้าว + เวสวัณ 

(๑) “ท้าว” 

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ท้าว

(๑) : (คำนาม) ผู้เป็นใหญ่, พระเจ้าแผ่นดิน, (โดยมากใช้ในบทกลอน), เช่น ท้าวยศวิมล

(๒) : (คำนาม) ตำแหน่งหญิงอาวุโส ซึ่งเป็นเจ้าจอม เจ้าจอมมารดาในรัชกาลก่อนหรือหญิงราชนิกุล ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้าฯ ตั้งไว้ในตำแหน่งสำหรับดูแลราชกิจฝ่ายในพระราชวัง เช่น ท้าวทรงกันดาล ท้าวสมศักดิ์, (ปาก) คุณท้าว นางท้าว

(๓) : (ถิ่น-อีสาน) (คำนาม) คำประกอบชื่อผู้ชายที่เป็นเชื้อสายเจ้าหรือขุนนาง.

(๒) “เวสวัณ” 

อ่านว่า เวด-สะ-วัน บาลีเป็น “เวสฺสวณ” อ่านว่า เวด-สะ-วะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) วิสฺสวณ (วิสสวณเทพ) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ วิ-(สฺสวณ) เป็น เอ

: วิสฺสวณ + = วิสฺสวณณ > วิสฺสวณ > เวสฺสวณ แปลตามศัพท์ว่า “เทพผู้เป็นเหล่ากอของวิสสวณเทพ” 

(2) วิสาณ (เทพนครชื่อวิสาณ) + ปัจจัย, ลบ , แปลง วิสาณ เป็น เวสฺสวณ

: วิสาณ + = วิสาณณ > วิสาณ > เวสฺสวณ แปลตามศัพท์ว่า “เทพผู้ครองราชย์อยู่ที่วิสาณราชธานี” 

หมายเหตุ: นักเรียนบาลีผู้รักความรู้พึงสืบค้นต่อไปว่า (1) “วิสสวณเทพ” คือเทพองค์ไหน เหตุไรจึงได้นามเช่นนี้ (2) “วิสาณราชธานี” อยู่ที่ไหน และเหตุไรจึงได้นามเช่นนี้

บาลี “เวสฺสวณ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “เวสวัณ” (เวด-สะ-วัน) (ส เสือ ตัวเดียว)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เวสวัณ : (คำนาม) ชื่อท้าวจาตุมหาราชองค์หนึ่งประจําทิศอุดร, ท้าวเวสสุวัณ หรือ ท้าวกุเวร ก็เรียก. (ป. เวสฺสวณ; ส. ไวศฺรวณ).”

ท้าว + เวสวัณ = ท้าวเวสวัณ (ท้าว-เวด-สะ-วัน) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “ท้าวเวสวัณ” ไว้ เนื่องจากเก็บคำว่า “เวสวัณ” ไว้แล้ว

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เก็บคำนี้ไว้ด้วย แต่สะกดเป็น “เวสสวัณ” (ส เสือ 2 ตัว) และ “เวสสุวัณ” บอกให้ดูที่คำว่า “จาตุมหาราช” และ “จาตุมหาราชิกา

คำว่า “จาตุมหาราช” และ “จาตุมหาราชิกา” มีคำอธิบายดังนี้ –

…………..

จาตุมหาราช : ท้าวมหาราชสี่, เทวดาผู้รักษาโลกในสี่ทิศ, ท้าวโลกบาลทั้งสี่ คือ ๑. ท้าวธตรฐ จอมภูต หรือจอมคนธรรพ์ ครองทิศตะวันออก ๒. ท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ ครองทิศใต้ ๓. ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค ครองทิศตะวันตก ๔. ท้าวกุเวร หรือ เวสสวัณ จอมยักษ์ ครองทิศเหนือ

จาตุมหาราชิกา : สวรรค์ชั้นที่ ๑ มีมหาราช ๔ องค์ เป็นประธาน ปกครองประจำทิศทั้ง ๔, ท้าวมหาราช ๔ นั้นอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของท้าวสักกะ (พระอินทร์) เช่น มีหน้าที่รายงานสภาพความเป็นไปของสังคมมนุษย์แก่หมู่เทพชั้นดาวดึงส์ในสุธรรมสภาเป็นประจำ ถ้าทัพอสูรรุกผ่านด่านเบื้องต้นใกล้เข้ามาท้าวมหาราช ๔ ก็ทำหน้าที่ไปรายงานต่อพระอินทร์.

…………..

อภิปราย :

คำว่า “เวสวัณ” นั่นเอง เรียกเพี้ยนเขียนพลาดเป็น “เวสสุวัณ” (เวด-สุ-วัน) (ส เสือ 2 ตัว)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เวสสุวัณ : (คำนาม) ท้าวเวสวัณ, ท้าวกุเวร ก็เรียก.”

โปรดสังเกตว่า ที่คำว่า “เวสสุวัณ” พจนานุกรมฯ บอกในคำนิยามว่า “ท้าวเวสวัณ” แต่ที่คำว่า “เวสวัณ” ไม่ได้บอกว่า “ท้าวเวสสุวัณ” นั่นหมายความว่า ชื่อจริงๆ ของเทพองค์นี้คือ “เวสวัณ” (บาลี “เวสฺสวณ”) ไม่ใช่ “เวสสุวัณ” แต่มีผู้เรียกเพี้ยนเขียนพลาดเป็น “เวสสุวัณ” และพจนานุกรมฯ ก็เก็บคำที่เรียกเพี้ยนเขียนพลาดนี้ไว้ด้วย

เวลานี้ตามสื่อต่างๆ สะกดชื่อนี้เป็น “ท้าวเวสสุวรรณ” กันหมดสิ้น แทบไม่เห็น (ความจริงก็คือไม่เห็นเลย) ที่สะกดเป็น “เวสวัณ” ตามชื่อเดิม หรือแม้แต่ที่เพี้ยนไปเป็น “เวสสุวัณ” ก็ไม่เห็น

เมื่อเขียนเป็น “ท้าวเวสสุวรรณ” ใครเห็นคำว่า “สุวรรณ” เป็นต้องเข้าใจไปว่าเป็น “สุวรรณ” ที่แปลว่า ทอง เพราะฉะนั้น เชื่อว่าอีกไม่นานคงมีใครอธิบายความหมายของชื่อนี้ให้กลายเป็นเทพองค์หนึ่งที่มีอะไรเกี่ยวกับ “ทอง” อย่างแน่นอน

และถ้าพจนานุกรมฯ ของเราไม่สามารถวิ่งนำหน้าทางสติปัญญาของประชาชนได้ หากแต่ใช้วิธีเดินตามหลัง ในอนาคต คำว่า “ท้าวเวสสุวรรณ” ก็คงถูกเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ อีกคำหนึ่ง

ในคำอธิบายสถานภาพของ “ท้าวเวสวัณ” บอกไว้ชัดว่าคือเทพที่อยู่ในปกครองของพระอินทร์ และคติทางพระพุทธศาสนาเรา พระอินทร์ก็เคารพเทิดทูนพระพุทธองค์อย่างสูงยิ่ง

ในขณะที่เราพากันนับถือ “ท้าวเวสวัณ” ที่เรียกเพี้ยนเขียนผิดเป็น “ท้าวเวสสุวรรณ” กันอย่างมืดฟ้ามัวดิน-แม้แต่ในวัดของพระพุทธศาสนาแท้ๆ อยู่ในเวลานี้นั้น หวังว่า ชาวพุทธคงจะยังคงเคารพนับถือพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง อย่างน้อยที่สุดก็อย่าให้น้อยไปกว่าที่นับถือ “ท้าวเวสสุวรรณ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: นับถือศิษย์

: อย่าลืมคิดถึงอาจารย์

#บาลีวันละคำ (3,598)

19-4-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *