บาลีวันละคำ

ธรรมธร (บาลีวันละคำ 3,893)

ธรรมธร

คำที่ถูกมองข้าม

อ่านว่า ทำ-มะ-ทอน

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + ธร

(๑) “ธรรม”

บาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”

“ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ธรรม” ความหมายเน้นหนักตามข้อ (2)

(๒) “ธร”

บาลีอ่านว่า ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + อ ปัจจัย

: ธรฺ + อ = ธร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงไว้” หมายถึง รองรับ, สวม, เก็บ; จำไว้ในใจ, ท่องจำ (bearing, wearing, keeping; holding in mind, knowing by heart)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ธร : (คำนาม) การยึดไว้, การถือไว้, การทรงไว้, การมีไว้; ผู้รักษาไว้, ผู้ทรงไว้, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น วิชาธร วินัยธร. (ป.; ส.).”

ธมฺม + ธร = ธมฺมธร (ทำ-มะ-ทะ-ระ) > ธรรมธร (ทำ-มะ-ทอน) แปลว่า “ผู้ทรงธรรม” หมายถึง ผู้รู้เข้าใจทั่วถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ดีแล้ว และสามารถบอกกล่าวอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจได้ด้วย กรณีมีปัญหาทางธรรมที่จะต้องแสดงมติให้เห็นประจักษ์ ก็สามารถแสดงได้ถูกต้องตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ทุกประการ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมธร” ว่า one who knows the Dhamma by heart (ผู้รู้ธรรมอย่างขึ้นใจ)

ขยายความ :

“ธรรมธร” เป็นคำเรียกภิกษุผู้ทรงความรู้ทางธรรม และได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นตำแหน่งที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล คู่กับ “วินัยธร” คือภิกษุผู้ทรงความรู้ทางพระวินัย และได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับพระวินัย

คำว่า “ธรรมธร” บางทีเรียก “ธมฺมกถิก” (ทำ-มะ-กะ-ถิ-กะ) ที่ใช้ในภาษาไทยว่า “ธรรมกถึก” แปลว่า “ผู้กล่าวธรรม” บางทีเรียก “สุตธร” (สุ-ตะ-ทะ-ระ) ออกเสียงแบบไทยว่า สุ-ตะ-ทอน แปลว่า “ผู้ทรงธรรมที่ได้ศึกษามาแล้ว” หรืออาจแปลโดยอนุโลมว่า “ผู้ทรงพระสูตร” ก็ได้

แปลกแต่จริง พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เก็บคำว่า “วินัยธร” ไว้ แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “ธรรมธร”

แต่พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต เก็บคำว่า “ธรรมธร” ไว้ แปลเป็นอังกฤษดังนี้

“ธรรมธร (Dhammadhara) : “Dhamma bearer”; one versed in the Dhamma; an expert in the Dhamma.”

…………..

แถม :

แปลกแต่จริงเช่นกัน ผู้เขียนบาลีวันละคำเขียนคำที่ขึ้นต้นด้วย “ธรรม-” มาไม่น้อยน่าจะถึง 100 คำ แต่ลืมคำว่า “ธรรมธร” !!

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ลืมธรรม แต่ไม่ลืมประพฤติธรรม

: โทษน้อยกว่ารู้ธรรม แต่ลืมประพฤติธรรม

#บาลีวันละคำ (3,893)

08-02-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *