บาลีวันละคำ

เอสาหัง (บาลีวันละคำ 3,540)

เอสาหัง

ระวังจะเหลือแค่เป็นธรรมเนียม

อ่านว่า เอ-สา-หัง

เขียนแบบบาลีเป็น “เอสาหํ” แยกศัพท์เป็น เอส + อหํ

(๑) “เอส” 

อ่านว่า เอ-สะ เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “วิเสสนสัพพนาม” (วิ-เส-สะ-นะ-สับ-พะ-นาม) รูปคำเดิมเป็น “เอต” (เอ-ตะ) นักเรียนบาลีเรียกติดปากว่า “เอต ศัพท์” (เอ-ตะ-สับ) แปลกันว่า “นั่น” แต่โดยทั่วไปถือเอาความว่า “นี่” หรือ “นี้” (this)

เอต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “เอโส” (เอ-โส) และนิยมลบสระเป็น “เอส” ก็มี

หรือจะสรุปเป็นสูตรง่ายๆ ว่า เอต + สิ วิภัตติ ปุงลิงค์ เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “เอโส” และ “เอส” ดังนี้ก็ได้

(๒) “อหํ” 

อ่านว่า อะ-หัง เป็นศัพท์จำพวกที่เรียกว่า “ปุริสสรรพนาม” (ปุ-ริ-สะ-สับ-พะ-นาม) แทนตัวผู้พูด บาลีไวยากรณ์เรียกว่า “อุตตมบุรุษ” รูปคำเดิมคือ “อมฺห” อ่านว่า อำ-หะ หรือจะออกเสียงเป็น อำ-หฺมะ ก็ได้ นักเรียนบาลีเรียกติดปากว่า “อมฺห ศัพท์” เทียบคำอังกฤษคือ I (ไอ) 

อมฺห” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “อหํ” (อะ-หัง) แปลว่า “ข้าพเจ้า” ทำหน้าที่เป็นประธานในประโยค

อหํ” เป็นเอกพจน์ ถ้าเป็นพหูพจน์เปลี่ยนรูปเป็น “มยํ” (มะ-ยัง)

มยํ” ที่เราคุ้นกันดีก็เช่นในคำอาราธนาศีล มยํ ภนฺเต … และคำถวายทาน อิมานิ มยํ ภนฺเต …

เทียบคำอังกฤษ :

มยํ” พหูพจน์ = We 

อหํ” เอกพจน์ = I 

อหํ” เขียนแบบคำอ่านเป็น “อะหัง

เอส” สนธิกับ “อหํ

: เอส + อหํ = เอสาหํ 

หรือจะว่า “เอโส” สนธิกับ “อหํ” ใช้สูตร “ลบสระหน้า” คือ โอ ที่ “เอโส” (เอโส > เอส) ก็ได้

: เอโส > เอส + อหํ = เอสาหํ 

เอสาหํ” แปลตามศัพท์ว่า “ข้าพเจ้านั่น” ในภาษาไทยมีความหมายเท่ากับ “ข้าพเจ้านี้” หรือ “ข้าพเจ้านั้น” นั่นเอง

คำว่า “เอสาหํ” แม้ที่ตาเห็นจะเขียนติดกันเป็นคำเดียว แต่พึงระลึกว่า คำนี้ยังคงเป็น 2 คำ คือ “เอส” หรือ “เอโส” คำหนึ่ง และ “อหํ” อีกคำหนึ่ง เวลาแปลแบบยกศัพท์ก็ต้องแยกเป็น 2 คำ นี่คือลักษณะที่แตกต่างกันระหว่าง “สนธิ” กับ “สมาส

สนธิ” คำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมา “เชื่อมเสียง” เข้าด้วยกัน แต่ยังคงเป็นคนละคำ

สมาส” คำตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปมา “เชื่อมศัพท์” เข้าด้วยกัน แล้วกลายเป็นคำเดียวกัน 

ขยายความ :

เอสาหํ” เขียนแบบคำอ่านเป็น “เอสาหัง” ที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือ “เอสาหัง” ในคำกล่าวขอบรรพชาอุปสมบท 

ขอยกข้อความเต็มๆ มาเสนอไว้ในที่นี้และแปลเป็นไทยเพื่อการศึกษา ดังนี้ –

…………..

     เอสาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ, ละเภยยาหัง ภันเต, ตัสสะ ภะคะวะโต, ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง, ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง ฯ

     ทุติยัมปาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ, ละเภยยาหัง ภันเต, ตัสสะ ภะคะวะโต, ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง, ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง ฯ

     ตะติยัมปาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ, ละเภยยาหัง ภันเต, ตัสสะ ภะคะวะโต, ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง, ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง ฯ

…………..

แปล:

     เอสาหัง ภันเต, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ, ตัง ภะคะวันตัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัญจะ ภิกขุสังฆัญจะ,

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้ปรินิพพานมานานนักแล้ว ทั้งพระธรรม ทั้งพระภิกษุสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

ละเภยยาหัง ภันเต, ตัสสะ ภะคะวะโต, ธัมมะวินะเย ปัพพัชชัง, ละเภยยัง อุปะสัมปะทัง ฯ

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าพึงได้บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

แม้ครั้งที่สอง …

แม้ครั้งที่สาม …

…………..

รายละเอียดและขั้นตอนการปฏิบัติในพิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นอย่างไร ขอผู้สนใจใฝ่ศึกษาพึงแสวงหากันต่อไปเทอญ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การบวชเป็นธรรมเนียมของชายไทย

: แต่อย่าทำให้การบวชมีค่าเพียงแค่เป็นธรรมเนียม

#บาลีวันละคำ (3,540)

20-2-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *