บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วัดห้าหอ (๒)

วัดห้าหอ (๒)

————

…………………..

๒ หอสวดมนต์ 

…………………..

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ใด ภิกษุทั้งหลายจะพากันไปเฝ้า ณ ที่นั้น เพื่อดูแลความเรียบร้อย เช่นทำความสะอาดสถานที่ ปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ถ้าเป็นกลางคืนก็ตามประทีปเป็นต้น เรียกการทำเช่นนั้นว่า “ทำวัตร” แล้วถือเป็นโอกาสทูลถามข้อธรรมต่างๆ ไปด้วย บางทีเมื่อทำวัตรเสร็จแล้วก็ชวนกันสนทนาธรรมหรือทบทวนคำสอนอันเป็นที่มาของการ “สวดมนต์” 

ต่อมาคงจะได้คิดจัดสถานที่อันเป็นส่วนกลางขึ้นเป็นอย่าง “ห้องรับแขก” จะเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือเข้าพบพระเถระผู้ใหญ่ที่พำนักเป็นประธานอยู่ในที่นั้นก็นัดหมายไปเฝ้าหรือไปพบ ณ ที่ซึ่งจัดไว้นั้น และเรียกสถานที่จัดไว้เพื่อการเช่นนี้ว่า “อุปัฏฐานศาลา” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุปฏฺฐานสาลา” ว่า hall for attendance, assembly room, chapel (ศาลาเป็นที่บำรุง, หอประชุม, โรงสวด)

การไปชุมนุมกันเพื่อทำวัตรแล้วถือโอกาสสนทนาธรรมหรือทบทวนคำสอนเช่นนี้นิยมทำสืบต่อกันมา เป็นเหตุให้เกิดธรรมเนียม “ทำวัตรสวดมนต์” ดังที่เห็นในปัจจุบัน

ครั้นเมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว จึงนิยมกำหนดให้มีสถานที่ส่วนหนึ่งในอารามเป็น “อุปัฏฐานศาลา” สำหรับภิกษุสามเณรรวมถึงอารามิกชนชุมนุมกันทำวัตรสวดมนต์ 

อุปัฏฐานศาลา” ซึ่งแต่เดิมหมายถึงสถานที่ไปเฝ้ารับใช้ผู้ใหญ่ผู้เป็นประธานจึงขยายความหมายไปเป็นสถานที่ไหว้พระสวดมนต์ หรือ “หอสวดมนต์” ด้วยประการฉะนี้

หมายเหตุ: บางวัดอาจไม่ได้สร้าง “หอสวดมนต์” ไว้โดยเฉพาะ แต่ใช้อุโบสถหรือบางทีก็หอฉันนั่นเองเป็นที่ทำวัตรสวดมนต์ แต่เมื่อว่าตามแบบแผนแล้ว “หอสวดมนต์” เป็นสถานที่ซึ่งต้องมีอยู่ทุกวัด

…………………..

๓ หอไตร

…………………..

สมัยพุทธกาล การศึกษาพระธรรมวินัยใช้วิธีทรงจำคำสอนไว้ด้วยใจ ยังไม่มีระบบบันทึกคำสอนเป็นเล่มคัมภีร์ 

จนเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายไปตั้งมั่นอยู่ในลังกาทวีป พระเถระผู้บริหารการพระศาสนาคำนึงว่า สืบไปภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา บ่มิอาจจะทรงจำคำสอนไว้ได้ครบถ้วนบริบูรณ์เหมือนกาลก่อน ควรจารึกพระธรรมวินัยลงเป็นลายลักษณ์อักษรให้เป็นหลักฐานมั่นคงไว้ จึงประชุมกันจารพุทธพจน์ลงในใบลานเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๕ (พ.ศ.๔๕๐ บางมติว่า พ.ศ.๔๓๖) พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือเล่มคัมภีร์ที่เรียกรู้กันว่า “พระไตรปิฎก” จึงมีมาตั้งแต่บัดนั้น

ตั้งแต่นั้น พระพุทธศาสนาแพร่หลายไปถึงถิ่นไหน พระไตรปิฎกก็มีไปถึงถิ่นนั้น และมีผู้มีจิตศรัทธานิยมคัดลอกพระไตรปิฎกหรือที่เรียกกันในภาษาไทยสมัยเก่าว่า “สร้าง” แล้วนำไปถวายภิกษุหรือถวายไว้ประจำวัดเพื่อใช้ศึกษาพระธรรมวินัย นับถือกันว่าเป็นของสำคัญเสมือนเป็นองค์พระบรมศาสดา และถือว่าเป็นวิธีสืบอายุพระศาสนาที่สำคัญยิ่ง

ด้วยเหตุว่าเป็นของสำคัญเช่นนี้จึงต้องมีสถานที่เก็บรักษาโดยเฉพาะโดยนิยมสร้างขึ้นเป็นเอกเทศต่างหากจากเสนาสนะอื่นๆ ในภาษาไทยเรียกสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกว่า “หอพระไตรปิฎก” และเรียกตัดลัดลงไปเป็น “หอไตร

เมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว “หอไตร” จึงเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมสร้างขึ้นไว้ในอาราม เป็นที่สำหรับให้ภิกษุค้นคว้าศึกษาพระธรรมวินัยประจำอารามนั้นๆ การสร้าง “หอไตร” ขึ้นในวัดได้กลายเป็นแบบแผนในการสร้างวัดสืบมาจนถึงปัจจุบัน 

หอไตร” นั้น ถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คือ “ห้องสมุด” หรือ “ห้องเรียน” นั่นเอง แต่เน้นที่การศึกษาเล่าเรียนพระไตรปิฎก คือเรียนพระธรรมวินัยอันเป็นหน้าที่โดยตรงและโดยเฉพาะของพระภิกษุสามเณร

(ยังมีต่อ ๓)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๙:๑๕

…………………………………….

วัดห้าหอ (๓)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

วัดห้าหอ (๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *