บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วัดห้าหอ (๑)

วัดห้าหอ (๑)

————-

เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้เกิดจากแรงบันดาลใจ ๒ แรง 

แรงที่หนึ่ง ได้จากโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ปกติวันพระท่านไปทำบุญที่วัด แต่ช่วงโรคระบาด ท่านไม่สะดวกที่จะไปวัด ท่านก็เลยทำบุญอยู่กับบ้าน และใช้คำเรียกว่า “ทำบ้านให้เป็นวัด”

คำว่า “ทำบ้านให้เป็นวัด” เป็นแรงบันดาลใจแรก

แรงที่สอง เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง ในเล่มมีภาพพระสงฆ์ระดับพระเถระหลายรูป ที่สะดุดตาและสะดุดใจอย่างยิ่งคือ ใต้ภาพพระเถระทุกรูปมีชื่อสมณศักดิ์ แล้วต่อท้ายด้วยวุฒิการศึกษาระดับ ดร. และตามด้วยตำแหน่งวิชาการ คือ ศ., รศ., ผศ. เช่น –

พระ…………. ดร.ศ.

พระ…………. ดร.รศ.

พระ…………. ดร.ผศ.

ที่ว่าสะดุดใจก็คือ ไม่ลงวุฒิการศึกษาทางพระปริยัติธรรมเลยแม้แต่รูปเดียว หลายรูปเป็นที่ทราบกันว่าท่านจบ ป.ธ.๙ แต่ก็ไม่ลง ป.ธ.๙ ต่อท้ายชื่อ

และที่หายไปสิ้นเชิงก็คือ วัดที่ท่านสังกัด ทุกรูปไม่ได้ลงว่าท่านอยู่วัดไหน

นี่เป็นแรงบันดาลใจที่ ๒

แรงบันดาลใจทั้ง ๒ แรงนี้ ทำให้ผมเกิดความคิดดังที่จะเขียนต่อไปนี้

……………………..

วัดที่สมบูรณ์เต็มตามหลัก ท่านว่าจะต้องมี “หอ” ๕ หอ คือ

๑ หอฉัน 

๒ หอสวดมนต์ 

๓ หอไตร

๔ หอระฆัง 

๕ หอกลอง 

…………………..

๑ หอฉัน

…………………..

สมัยพุทธกาลเมื่อภิกษุยังไม่มีวัดเป็นที่พำนักแน่นอน เมื่อเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้ภัตตาหารพอแก่ความต้องการแล้วก็จะหาสถานที่อันสะดวกเช่นใกล้แหล่งน้ำเป็นที่ฉัน ไม่ได้กลับไปฉันที่วัดดังที่ปฏิบัติกันในบัดนี้ 

ชาวบ้านที่มีศรัทธาปรารถนาจะสงเคราะห์ให้ภิกษุมีความสะดวกด้วยสถานที่ฉันภัตตาหาร จึงสร้าง “อสนสาลา” ขึ้นในหมู่บ้านหรือใกล้ๆ หมู่บ้าน จัดให้มีที่นั่งและน้ำไว้พร้อม เป็นที่สำหรับให้ภิกษุเข้าไปทำภัตกิจ ในคัมภีร์จะมีกล่าวถึง “อสนศาลา” เช่นนี้อยู่ทั่วไป 

คำว่า “อสน” (อะ-สะ-นะ) แปลว่า กิน, อาหาร (eating, food) “อสนสาลา” ก็คือโรงอาหาร คือสถานที่สำหรับกินอาหาร ตรงกับคำว่า “หอฉัน” ในภาษาไทยนั่นเอง

ต่อมาคำนี้เพี้ยนเป็น “อาสนสาลา” แปลว่า “ศาลาที่นั่ง” โดยอธิบายว่า ศาลาที่จัดที่นั่งไว้ให้ภิกษุนั่งฉัน ภาษาไทยเขียน “อาสนศาลา

ในสถาปัตยกรรมเรือนไทยมีคำเรียกอาคารส่วนหนึ่งว่า “หอนั่ง” ตรงกับคำว่า “อาสนสาลา” ในบาลี ดูลักษณะของ “หอนั่ง” ก็เหมือน “หอฉัน” ตามวัดต่างๆ นั่นเอง นับว่าชอบกลอยู่

อสนสาลา” = หอฉัน

อาสนสาลา” = หอนั่ง > หอฉัน

ครั้นเมื่อมีการสร้างอารามถวายเป็นของสงฆ์แพร่หลายขึ้นแล้ว “อาสนศาลา” จึงเป็นส่วนหนึ่งที่นิยมสร้างขึ้นไว้ในอาราม เป็นที่ให้ภิกษุกลับจากบิณฑบาตแล้วมาฉัน เวลาชาวบ้านต้องการถวายภัตตาหารตอนเช้าหรือถวายน้ำปานะตอนบ่าย ก็จะไปจัดถวายที่ศาลานี้

อาสนศาลา” จึงเป็นที่ชุมนุมของภิกษุและเป็นที่สำหรับชาวบ้านกับพระได้พบปะกันไปด้วยโดยปริยาย มีกิจของสงฆ์ที่จะปรึกษาหารือกันภิกษุก็มักใช้อาสนศาลาเป็นที่ประชุม เข้าลักษณะศาลาการเปรียญหรือศาลาอเนกประสงค์ในสมัยนี้

การสร้าง “อาสนศาลา” หรือ “หอฉัน” ขึ้นในวัดได้กลายเป็นแบบแผนในการสร้างวัดสืบมาจนถึงปัจจุบัน 

คำว่า “หอฉัน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายไว้ว่า –

หอฉัน : (คำนาม) อาคารที่สร้างขึ้นในวัด เป็นที่สำหรับพระภิกษุสามเณรนั่งฉันอาหารและทำวัตรสวดมนต์เป็นต้น.”

(ยังมีต่อ ๒)

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๖:๕๕

…………………………………….

วัดห้าหอ (๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *