บาลีวันละคำ

ธรรมาธิปไตย (บาลีวันละคำ 2,183)

ธรรมาธิปไตย

อ่านว่า ทํา-มา-ทิ-ปะ-ไต หรือ ทํา-มา-ทิบ-ปะ-ไต ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + อธิปไตย

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ สรุปความหมายในแง่หนึ่งไว้ว่า “ธมฺม” หมายถึง –

(1) doctrine (คำสอน)

(2) right or righteousness (สิทธิหรือความถูกต้อง)

(3) condition (เงื่อนไข)

(4) phenomenon (ปรากฏการณ์)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปลคำว่า “ธมฺม” (Dhamma) เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –

1. the Dharma; the Dhamma; the Doctrine; the Teachings (of the Buddha).

2. the Law; nature.

3. the Truth; Ultimate Reality.

4. the Supramundane, especially nibbāna.

5. quality; righteousness; virtue; morality; good conduct; right behaviour.

6. tradition; practice; principle; norm; rule; duty.

7. justice; impartiality.

8. thing; phenomenon.

9. a cognizable object; mind-object; idea.

10. mental state; mental factor; mental activities.

11. condition; cause; causal antecedent.

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ “ธรรม” มีความหมายเน้นที่-คําสั่งสอนและหลักประพฤติปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

(๒) “อธิปไตย

บาลีเป็น “อาธิปเตยฺย” (อา-ทิ-ปะ-เตย-ยะ) รากศัพท์มาจาก อธิปติ + ณฺย ปัจจัย

(ก) “อธิปติ” (อะ-ทิ-ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก อธิ + ปติ

(1) “อธิ” (อะ-ทิ) เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายไว้ว่า –

1) บอกทิศทาง, จุดหมาย = จนถึง, เหนือ, ไปยัง, บน (up to, over, toward, to, on)

2) บอกสถานที่ = บนยอด, ข้างบน, เหนือ, บน (on top of, above, over)

(2) “ปติ” (ปะ-ติ) รากศัพท์มาจาก –

(ก) ปา (ธาตุ = รักษา, ดูแล) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > )

: ปา + ติ = ปาติ > ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษา

(ข) ปตฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อิ ปัจจัย

: ปตฺ + อิ = ปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดำเนินไปข้างหน้า

ปติ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) พ่อบ้าน, นาย, เจ้าของ, ผู้นำ (lord, master, owner, leader)

(2) สามี (husband)

อธิ + ปติ = อธิปติ แปลตามศัพท์ว่า “เจ้านายผู้เป็นใหญ่

อีกนัยหนึ่ง “อธิปติ” รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + ปา (ธาตุ = รักษา, ปกครอง) + ติ ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ปา เป็น อะ (ปา > )

: อธิ + ปา = อธิปา + ติ = อธิปาติ > อธิปติ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ปกครองใหญ่

อธิปติ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้ปกครอง, เจ้าใหญ่ (ruler, master)

(2) ครอบครอง, ปกครอง, มีอำนาจเหนือ; อยู่ใต้อำนาจ หรือปกครองโดย- (ruling over, governing, predominant; ruled or governed by)

(ข) อธิปติ + ณฺย ปัจจัย, ทีฆะ อะ ที่ -(ธิ) เป็น อา (อธิ > อาธิ), ลบ ณฺ ที่ ณฺย ปัจจัย, ซ้อน ยฺ ระหว่างศัพท์กับปัจจัย (-ปติ + ยฺ + ณฺย), แปลง อิ ที่ (ป)-ติ เป็น เอ (-ปติ > –ปเต)

: อธิปติ + ณฺย = อธิปติณฺย > อาธิปติณฺย > อาธิปติย > อาธิปติยฺย > อาธิปเตยฺย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้เป็นใหญ่ยิ่ง” หมายถึง อำนาจอธิปไตย, ความเป็นใหญ่, ความเป็นเอกราช, อำนาจ (supreme rule, lordship, sovereignty, power)

อาธิปเตยฺย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อธิปไตย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิปไตย : (คำนาม) อํานาจสูงสุดของรัฐที่จะใช้บังคับบัญชาภายในอาณาเขตของตน. (ป. อธิปเตยฺย ว่า ความเป็นใหญ่ยิ่ง). (อ. sovereignty).”

ธมฺม + อาธิปเตยฺย = ธมฺมาธิปเตยฺย แปลว่า “ความมีธรรมเป็นใหญ่” (the dominating influence of the Dhamma)

ธมฺมาธิปเตยฺย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ธรรมาธิปไตย” (ในเอกสารเฉพาะทางบางแห่งสะกดเป็น “ธัมมาธิปไตย” ก็มี)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ธรรมาธิปไตย : (คำนาม) การถือธรรมเป็นใหญ่, การถือความถูกต้องเป็นหลัก. (ป. ธมฺมาธิปเตยฺย; ส. ธรฺมาธิปตฺย).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [125] บอกไว้ดังนี้ –

ธัมมาธิปไตย : ความมีธรรมเป็นใหญ่, ถือธรรมเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภความถูกต้อง เป็นจริง สมควรตามธรรม เป็นประมาณ (Dhammādhipateyya: supremacy of the Dhamma or righteousness; rule of the Dhamma; rule of the true law)

…………..

อธิปไตย 3 :

คำในชุด “อาธิปเตยฺย” เขียนแบบไทยว่า “อธิปไตย” มี 3 คำ คือ –

1 อัตตาธิปไตย = ความมีตนเป็นใหญ่ คือ จะทำอะไรก็นึกถึงตน คำนึงถึงฐานะเกียรติศักดิ์ศรี หรือผลประโยชน์ของตนเป็นสำคัญ

2 โลกาธิปไตย = ความมีโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมหรือเสียงกล่าวว่าของชาวโลกเป็นสำคัญ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาและสรรเสริญ จะทำอะไรก็มุ่งจะเอาใจหมู่ชน หาความนิยม ทำตามที่เขานิยมกัน หรือคอยแต่หวั่นกลัวเสียงกล่าวว่า

3 ธัมมาธิปไตย = ความมีธรรมเป็นใหญ่ คือ ถือธรรมเป็นใหญ่ นึกถึงความจริง ความถูกต้องสมควรก่อนแล้วจึงทำ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้ครองอำนาจที่ไม่ครองธรรม

: คือผู้ก่อบาปกรรมแก่บ้านเมือง

#บาลีวันละคำ (2,183)

4-6-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย