บาลีวันละคำ

ธรรมสังคาหกะ (บาลีวันละคำ 3,614)

ธรรมสังคาหกะ

แปลได้ แต่ไม่รู้ว่าใคร

อ่านว่า ทำ-มะ-สัง-คา-หะ-กะ

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + สังคาหกะ

(๑) “ธรรม” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้

ธมฺม” มีความหมายหลายหลาก ดังต่อไปนี้ –

สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8 ) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ในที่นี้ ความหมายเน้นหนักตามข้อ (2) และ (3)

(๒) “สังคาหกะ” 

เขียนแบบบาลีเป็น “สงฺคาหก” อ่านว่า สัง-คา-หะ-กะ รากศัพท์มาจาก สงฺคห + ณฺวุ ปัจจัย

(ก) “สงฺคห” อ่านว่า สัง-คะ-หะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คหฺ (ธาตุ = จับ, ยึด, ถือเอา) + (อะ) ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ > สงฺ + คหฺ = สงฺคหฺ + = สงฺคห แปลตามศัพท์ว่า “การจับยึดไว้พร้อมกัน” 

สงฺคห” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การรวม, การรวบรวม, การสะสม (collecting, gathering, accumulation) 

(2) การประกอบ, การเก็บรวบรวม, การกอปรด้วย, การจัดชั้นหรือประเภท (comprising, collection, inclusion, classification) 

(3) การรวม, การประกอบความรู้สึก, องค์ (inclusion, constitution of consciousness, phase) 

(4) การประมวล, การรวบรวมคัมภีร์ (recension, collection of the Scriptures) 

(5) อัธยาศัยดี, ความกรุณา, ความเห็นใจ, ความเป็นมิตร, การช่วยเหลือ, การค้ำจุน, การป้องกัน, การอนุเคราะห์ (kind disposition, kindliness, sympathy, friendliness, help, assistance, protection, favour) 

ในที่นี้ “สงฺคห” ใช้ในความหมายตามข้อ (4) 

บาลี “สงฺคห” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังคหะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังคหะ : (คำแบบ) (คำนาม) การรวบรวม; การย่อ; ความเกื้อกูล, ความเอื้อเฟื้อ; การสงเคราะห์. (ป.; ส. สํคฺรห).”

แถม :

บาลี “สงฺคห” สันสกฤตเป็น “สงฺคฺรห” 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “สงฺคฺรห” ไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สงฺคฺรห : (คำนาม) ‘สังคระหะ, สงเคราะห์,’ รจนาและสังเขป; ปริคณนา, ปริสังขยา, นามาวลี, รายชื่อ; ปริมาณ, สมุหะ, คณะ; การระงับ; การหยิบฉวย-จับกุม-หรือถือเอา; ประสาทน์; การปรนปรือหรือให้ความสุขด้วยประการต่างๆ; การคุ้มครองหรือรักษา; ที่เก็บติปาฐะ; สัญญา; ความสูง; เวค, ความเร็ว; การกำหมัด; อุตสาหะ; compilation and abridgment; a catalogue, a list, a list of names; quantity, collection; restraining; seizing, laying hold of, or taking; propitiating, pleasing or satisfying; protecting or guarding; a place where anything is kept; agreement or contract; assent or promise; loftiness; velocity; clenching the fist; effort.”

บาลี “สงฺคห” สันสกฤต “สงฺคฺรห” ภาษาไทยใช้เป็น “สงเคราะห์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สงเคราะห์ : (คำนาม) การช่วยเหลือ, การอุดหนุน, เช่น ฌาปนกิจสงเคราะห์; การรวบรวม เช่น หนังสือนามสงเคราะห์. (คำกริยา) อุดหนุน เช่น สงเคราะห์เด็กกำพร้า. (ส. สงฺคฺรห; ป. สงฺคห).”

เป็นอันว่า “สังคหะ” หรือ “สงเคราะห์” ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ ยังบอกความหมายตรงตามความหมายเดิมในบาลีคำหนึ่ง คือ “การรวบรวม” 

(ข) สงฺคห + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (คห > คาห)

: สงฺคหฺ + ณฺวุ = สงฺคหณฺวุ > สงฺคหก > สงฺคาหก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รวบรวม

อธิบายแทรก :

๑ “ปัจจัยเนื่องด้วย ” หมายถึงปัจจัยตัวนั้นมี อยู่ด้วย ในที่นี้ “ณฺวุ” มี อยู่ด้วย จึงว่า “ปัจจัยเนื่องด้วย

๒ คำว่า “แปลง ณฺวุ เป็น อก” เป็นสูตรที่นักเรียนบาลีพูดติดปาก เช่นเดียวกับ “แปลง ยุ เป็น อน” (อน = อะ-นะ)

ใครจำสูตร 2 สูตรนี้ไปพูดให้ติดปาก (แปลง ณฺวุ เป็น อก, แปลง ยุ เป็น อน) นักเรียนบาลีได้ยินเข้า จะต้องเข้าใจว่าคนนั้นเรียนบาลีมาแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่เคยเรียนมาเลย-นี่เป็นความลับที่น่ารู้ไว้

สงฺคาหก” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) รวบรวม, เก็บรวบรวม, ทำสังคายนา (compiling, collection, making a recension) 

(2) สงเคราะห์, เมตตา, กรุณา (treating kindly, compassionate, kind) 

(3) คนขับรถ (a charioteer) 

ในที่นี้ “สงฺคาหก” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ธมฺม + สงฺคาหก = ธมฺมสงฺคาหก (ทำ-มะ-สัง-คา-หะ-กะ) แปลว่า “ผู้รวบรวมพระธรรม

ธมฺมสงฺคาหก” ในภาษาไทยใช้เป็น “ธรรมสังคาหกะ” 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า

ธรรมสังคาหกะ : พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ผู้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัยในคราวปฐมสังคายนา.”

คำนี้นิยมเรียกเป็น “ธรรมสังคาหกาจารย์” (ทำ-มะ-สัง-คา-หะ-กา-จาน) แปลว่า “อาจารย์ผู้ร้อยกรองธรรม” 

ขยายความ :

เพื่อเป็นการบันทึกความรู้ไว้เป็นหลักฐาน ขอนำคำว่า “สังคายนา” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บางตอนมาเสนอไว้ในที่นี้ ดังต่อไปนี้

…………..

สังคายนา : “การสวดพร้อมกัน” การร้อยกรองพระธรรมวินัย, การประชุมรวบรวมและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าโดยพร้อมกันทบทวนสอบทานจนยอมรับและวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียว

… เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะผู้เป็นสังฆเถระ ก็ได้ชักชวนพระอรหันต์ทั้งหลายประชุมกันทำสังคายนาตามหลักการที่กล่าวมานั้น โดยประมวลพระธรรมวินัยทั้งหมดเท่าที่รวบรวมได้วางลงไว้เป็นแบบแผน ตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน เรียกว่าเป็นสังคายนาครั้งที่ ๑

ความหมายที่เป็นแกนของสังคายนา คือการรวบรวมพุทธพจน์ หรือคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ดังนั้น สังคายนาที่เต็มตามความหมายแท้จริง จึงมีได้ต่อเมื่อมีพุทธพจน์ที่จะพึงรวบรวม อันได้แก่สังคายนาเท่าที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนการสังคายนาหลังจากนั้น ซึ่งจัดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานอย่างน้อย ๑ ศตวรรษ ชัดเจนว่าไม่อยู่ในวิสัยแห่งการรวบรวมพุทธพจน์ แต่เปลี่ยนจุดเน้นมาอยู่ที่การรักษาพุทธพจน์และคำสั่งสอนเดิมที่ได้รวบรวมไว้แล้ว อันสืบทอดมาถึงตน ให้คงอยู่บริสุทธิ์บริบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ …

…………..

คำว่า “ธมฺมสงฺคาหก” (ธรรมสังคาหกะ) มีใช้ทั่วไปในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา นักเรียนบาลีนิยมแปลว่า “พระธรรมสังคาหกาจารย์” 

ธรรมสังคาหกะ” หรือ “พระธรรมสังคาหกาจารย์” หมายถึง พระอรหันต์ 500 องค์ มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ผู้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัยในคราวปฐมสังคายนา ซึ่งทำขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว 3 เดือน 

ผู้เขียนบาลีวันละคำเชื่อว่า นักเรียนบาลีส่วนมากแปลทับศัพท์โดยไม่ได้คิดถึงว่า “พระธรรมสังคาหกาจารย์” ที่แปลออกมานั้นคือใคร เนื่องจากมุ่งแต่เพียงว่าแปลศัพท์ได้ก็สำเร็จตามความประสงค์แล้ว และในสนามสอบถ้าแปลได้เช่นนั้นก็มีหวังว่าต้องสอบได้ เท่านี้พอแล้ว

ศัพท์อื่นๆ และข้อความอื่นๆ ที่นักเรียนบาลีของเราแปลก็อยู่ในสภาพเดียวกัน คือแปลได้และสอบได้ แต่ถ้าถามรายละเอียดเกี่ยวกับศัพท์นั้นหรือข้อความที่แปลนั้น ส่วนมากจะบอกไม่ถูก อธิบายไม่ได้

คำว่า “ธมฺมสงฺคาหก” = พระธรรมสังคาหกาจารย์ นี้ก็เช่นกัน ถ้าให้นักเรียนบาลีของเราอธิบายว่าคือใครทำอะไรอย่างไร เชื่อว่าผู้ที่บอกไม่ถูก อธิบายไม่ได้ น่าจะมีไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

การเรียนบาลีเพื่อความรู้ กับการเรียนบาลีเพื่อสอบได้ ย่อมมีผลแตกต่างกันเช่นนี้แล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ธรรมที่รวบรวมไว้ย่อมไร้ค่าถ้าไม่มีคนเรียนรู้

: ความรู้ในธรรมย่อมไร้ค่าถ้าไม่มีใครนำไปประพฤติปฏิบัติ

#บาลีวันละคำ (3,614)

5-5-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *