บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ฤๅจะให้คนเหนื่อยต้องเหนื่อยตายเปล่า

ฤๅจะให้คนเหนื่อยต้องเหนื่อยตายเปล่า

————————————–

มีหลักธรรมชุดหนึ่งว่าด้วย สีลสามัญญตา มีศีลเสมอกัน และ ทิฏฐิสามัญญตา มีทิฏฐิเสมอกัน

มีผู้แสดงความรู้และความเห็นว่า “ศีล” ในคำว่าสีลสามัญญตา ไม่ได้หมายถึงศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ แบบนี้อย่างเดียว แต่หมายถึงอะไรก็ตามที่ทำจนเป็น “ปกติ” อันเป็นความหมายของคำว่า “ศีล” ที่แปลว่า ปกติ

คน ๒ คนกินเหล้าด้วยกันทุกวัน การกินเหล้าก็เป็นศีล ถือว่า ๒ คนนี้มีสีลสามัญญตา เพราะทำจนเป็นปกติเสมอกัน

เล่นไพ่ด้วยกัน ยิงนกตกปลาด้วยกัน หรือแม้กระทั่งนอนกับเมียชาวบ้านเหมือนกัน แบบนี้ก็เป็น สีลสามัญญตา มีศีลเสมอกัน

และ ทิฏฐิสามัญญตา มีทิฏฐิเสมอกัน ท่านว่า “ทิฏฐิ” ในที่นี้ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นสัมมาทิฏฐิเสมอไป ความคิดเห็นแบบใดๆ ก็ได้ ถ้าเห็นเหมือนกันก็เรียกว่า ทิฏฐิสามัญญตา มีทิฏฐิเสมอกันได้ทั้งนั้น 

คน ๒ คนเห็นว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ ครูบาอาจารย์ไม่มีบุญคุณ บาปบุญเป็นเรื่องเพ้อฝัน นรกสวรรค์มรรคผลนิพพานเป็นเรื่องหลอกลวง แบบนี้ก็เป็น ทิฏฐิสามัญญตา มีทิฏฐิเสมอกัน 

นี่คือความรู้ความเห็นที่มีผู้แสดงออกมา

…………………

ต้องขอบคุณท่านที่แสดงความรู้และความเห็นออกมาเช่นนี้ เพราะเป็นการกระตุ้นเตือนให้กลับไปทบทวนหลักคำสอนในต้นฉบับอีกที

โปรดทราบว่า หลักคำสอนทั้งปวงในพระพุทธศาสนามีต้นฉบับบันทึกไว้

เวลานี้คนส่วนมากใช้วิธีคิดเอาเอง อย่างดีขึ้นมาหน่อยก็ฟังคนโน้นว่าทีคนนี้ว่าที แล้วก็สรุปเอาเองว่า-อย่างนี้แหละใช่ ต้นฉบับว่าอย่างไรไม่รู้ไม่สน ไปให้พ้น รำคาญ

…………………

หลักธรรมชุดนี้ต้นฉบับอยู่ในสังคีติสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๓๑๗ เป็นคำของพระสารีบุตรนำพระพุทธพจน์มาแสดงแก่ภิกษุอันเป็นต้นแบบของการทำสังคายนา พระพุทธองค์ได้สดับแล้วประทานสาธุการ 

อีกแห่งหนึ่งอยู่ในฉักนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๒๘๒ เป็นคำของพระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุโดยตรง

ผมขออนุญาตยกต้นฉบับในสังคีติสูตรมาแสดงไว้ในที่นี้เพื่อเป็นหลักฐาน ท่านที่รักและห่วงพระศาสนาขอให้อดทนอ่าน 

……………………………………….

ปุน  จปรํ  อาวุโส  

ดูก่อนท่านทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง …

ภิกฺขุ  ยานิ  ตานิ  สีลานิ  

ศีลอย่างใดอย่างหนึ่ง 

อขณฺฑานิ

ไม่ขาด

อจฺฉิทฺทานิ

ไม่ทะลุ

อสพลานิ

ไม่ด่าง

อกมฺมาสานิ

ไม่พร้อย

ภุชิสฺสานิ

เป็นอิสระจากกิเลส

วิญฺญุปสตฺถานิ

วิญญูชนสรรเสริญ

อปรามฏฺฐานิ

ไม่มัวหมอง

สมาธิสํวตฺตนิกานิ

เป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ

(ภิกฺขุ) ตถารูเปสุ  สีเลสุ  สีลสามญฺญคโต  วิหรติ  สพฺรหฺมจารีหิ  อาวิ  เจว  รโห  จ  

ภิกษุเป็นผู้มีศีลเสมอกันในศีลทั้งหลายเห็นปานนั้นกับเพื่อนภิกษุด้วยกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลังอยู่

อยํปิ  ธมฺโม  สาราณีโย

แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง

ปิยกรโณ

ทำให้เป็นที่รัก

ครุกรโณ  

ทำให้เป็นที่เคารพ

สงฺคหาย  อวิวาทาย  สามคฺคิยา  เอกีภาวาย  สํวตฺตติ  ฯ

ย่อมเป็นไปเพื่อความร่วมมือกัน เพื่อความไม่ขัดแย้งกัน เพื่อความสามัคคี เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ปุน  จปรํ  อาวุโส  

ดูก่อนท่านทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง …

ภิกฺขุ  ยายํ  ทิฏฺฐิ

ทิฏฐิ (คือความคิดเห็นหรือทัศนคติ) อย่างใดอย่างหนึ่ง

อริยา

เป็นของประเสริฐ

นิยฺยานิกา

เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์

นิยฺยาติ  ตกฺกรสฺส  สมฺมาทุกฺขกฺขยาย  

ย่อมนำผู้ที่มีทิฏฐิเช่นนั้นออกจากทุกข์ได้อย่างถูกต้อง

(ภิกฺขุ) ตถารูปาย  ทิฏฺฐิยา  ทิฏฺฐิสามญฺญคโต  วิหรติ  สพฺรหฺมจารีหิ  อาวิ  เจว  รโห  จ  

ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิเสมอกันในทิฏฐิเห็นปานนั้นกับเพื่อนภิกษุด้วยกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลังอยู่

อยํปิ  ธมฺโม  สาราณีโย

แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึง

ปิยกรโณ

ทำให้เป็นที่รัก

ครุกรโณ  

ทำให้เป็นที่เคารพ

สงฺคหาย  อวิวาทาย  สามคฺคิยา  เอกีภาวาย  สํวตฺตติ  ฯ

ย่อมเป็นไปเพื่อความร่วมมือกัน เพื่อความไม่ขัดแย้งกัน เพื่อความสามัคคี เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

……………………………………….

นี่คือข้อความในต้นฉบับ

ภาษาบาลีตรงตามต้นฉบับ

คำแปลภาษาไทยผมแปลเอง ไม่ได้แปลโดยพยัญชนะหรือแปลโดยอรรถแบบที่นักเรียนบาลีแปลกัน แต่แปลแบบสกัดความ คือถอดความออกมาแล้วคำนั้นจะมีความหมายแบบนั้น

คำว่า “สีล” คัมภีร์อรรถกถาอธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า –

……………………………………….

ยสฺส  สตฺตสุ  อาปตฺติกฺขนฺเธสุ   อนฺเต  วา อาทิมฺหิ วา  สิกฺขาปทํ  ภินฺนํ  โหติ  ตสฺส  สีลํ  ปริยนฺเต  ฉินฺนสาฏโก  วิย  ขณฺฑํ นาม  ฯ (มโนรถปูรณี ภาค ๓ หน้า ๑๕๓)

แปลว่า บรรดาอาบัติทั้ง ๗ กอง สิกขาบทของภิกษุใดขาดในหมวดท้ายหรือในหมวดต้น ภิกษุนั้นชื่อว่าศีลขาด เหมือนผ้าขาดที่ชาย (อ้างถึงคำว่า อขณฺฑานิ ดูข้างต้น)

……………………………………….

ตามคำอธิบายนี้ แสดงว่า “ศีล” ในคำว่า สีลสามัญญตา คือสิกขาบท และสิกขาบทที่เราคุ้นกันดีก็คือ สิกขาบท ๒๒๗ ที่รู้กันว่า ศีลของพระมี ๒๒๗ ข้อ

“ศีล” ใน สีลสามัญญตา จึงไม่ใช่-ทำอะไรเป็นปกติคือ “ศีล” ดังที่มีผู้แสดงความรู้ความเห็นไว้

ส่วนคำว่า “ทิฏฐิ” คัมภีร์อรรถกถาให้คำจำกัดความไว้ว่า –

……………………………………….

ยายํ  ทิฏฺฐีติ  มคฺคสมฺปยุตฺตา  สมฺมาทิฏฺฐิ  ฯ (มโนรถปูรณี ภาค ๓ หน้า ๑๕๕)

แปลความว่า “ทิฏฐิ” ในที่นี้คือ สัมมาทิฏฐิ อันเป็นองค์ประกอบในมรรคโดยตรง

……………………………………….

กลายเป็นว่า-ตรงกันข้ามกับที่มีผู้แสดงความเห็นว่า “ทิฏฐิ” ในทิฏฐิสามัญญตาไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ

จึงน่าสงสัยว่า ท่านผู้แสดงความรู้ความเห็นเอาความรู้ความเห็นเช่นนั้นมาจากไหน และท่านทำอย่างนี้ทำไม?

จะเห็นได้ว่า ต้นฉบับท่านให้คำจำกัดความคำว่า “ศีล” และ “ทิฏฐิ” ไว้อย่างรัดกุม หมายความว่า “ศีล” และ “ทิฏฐิ” ในที่นี้ คือในคำว่า สีลสามัญญตา และ ทิฏฐิสามัญญตา นี้ มีความหมายตามที่ระบุไว้นี้เท่านั้น

ใครจะบอกว่า ศีลแปลว่าปกติ ทำอะไรเป็นปกติคือศีล ก็ต้องเอาไปแปลในที่อื่น ในเรื่องอื่น ไม่ใช่ในที่นี้

ถ้าจะพูดว่า “ศีลเสมอกัน” “ทิฏฐิเสมอกัน” ต้องพูดในความหมายตามที่ให้คำจำกัดความไว้นี้ ไม่ใช่เอาความหมายทั่วไปมาพูด 

ถ้าเอาความหมายทั่วไปมาพูด (เช่นบอกว่า ศีล แปลว่า ปกติ) ก็อย่าเอา สีลสามัญญตา และ ทิฏฐิสามัญญตา มาเกี่ยวข้องด้วย เพราะ สีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา ท่านไม่ได้หมายความแบบนั้น

ศัพท์เฉพาะในพระธรรมวินัยใช้หลักเดียวกับภาษากฎหมาย ถ้าอ่านพระราชบัญญัติต่างๆ จะพบว่ามีคำจำกัดความกำกับไว้เสมอ เช่น –

… ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ คำว่า “รัฐมนตรี” หมายความว่า …

ใครเห็นคำว่า “รัฐมนตรี” แล้วอยากจะแสดงความรู้ว่า “รัฐ” หมายความว่าอย่างนี้ “มนตรี” หมายความว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้น “รัฐมนตรี” จึงหมายความว่าอย่างนี้ ก็เชิญพรรณนาได้ตามสบาย แต่เฉพาะในพระราชบัญญัติฉบับนี้ “รัฐมนตรี” ต้องหมายความตามที่ให้คำจำกัดความไว้เท่านั้น ไม่ใช่หมายความได้ตามใจชอบหรือตามที่เข้าใจเอาเอง

ฉันใดก็ฉันนั้น

จึงต้องกราบขอร้อง-ขอแรงไปยังนักเรียนบาลี-โดยเฉพาะที่เรียนจบแล้ว-ว่า ขอให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาเป็นปากเป็นเสียงให้พระพุทธเจ้ากันบ้างเถิด ใครพูดเพี้ยนเขียนผิดไว้ที่ไหน ช่วยกันตามเช็ดตามล้างกันบ้าง เพราะนี่คืองานโดยตรงของนักเรียนบาลี 

ถ้าไม่ช่วยกันทำงานแบบนี้ ท่านจะเรียนบาลีไปทำไม?

และต้องขอร้อง-ร้องขอผู้ที่ขยันเอาคำบาลีศัพท์ธรรมะไปเผยแพร่ว่า ช่วยกันศึกษาพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกกันบ้างเถิด-ในเมื่อประสงค์จะเอ่ยอ้างถึงเรื่องใดๆ ในพระศาสนา มิเช่นนั้นก็จะพูดเพี้ยนเขียนพลาด พาให้หลักพระธรรมวินัยวินาศกันอยู่ร่ำไป 

สมัยนี้การเข้าถึงพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทั้งหลายทำได้เพียงคลิกเดียว จึงขอให้มีอุตสาหะและมีจิตที่เป็นมหากุศลช่วยพระศาสนากันบ้างเถิด

เรื่องนี้เขียนไปก็เหนื่อยไปครับ

ถ้าพระศาสนาเรามีแต่คนนั่งนิ่งนอนนิ่งกันไปเรื่อยๆ

คนเหนื่อยก็เหนื่อยตายเปล่า

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๓:๕๒

…………………………………………….

ฤๅจะให้คนเหนื่อยต้องเหนื่อยตายเปล่า

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *