บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลี ควรมีมากกว่าเรียนแปลภาษา

เรียนบาลี ควรมีมากกว่าเรียนแปลภาษา

————————————

ที่เรียกว่า “เรียนบาลี” ของนักเรียนบาลีในเมืองไทยทุกวันนี้คือเรียนอะไร?

คำตอบคือ เรียนวิธีแปลภาษา

การเรียนบาลีของเราเป็นการเรียนวิธีแปลภาษาจากคัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียน ซึ่งมีกรอบเกณฑ์กำหนดไว้ว่า –

ศัพท์นี้ต้องแปลอย่างนี้ 

ภาษาบาลีประโยคนี้ต้องแปลเป็นไทยแบบนี้ 

ภาษาไทยประโยคนี้ต้องแปลเป็นบาลีแบบนี้ 

ทำได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เป็นอันว่าสอบได้ 

ความรู้อื่นใดนอกจากนี้ อยู่นอกเกณฑ์ที่กำหนด เราไม่ได้สอนและไม่ได้เรียนกัน

เอาแค่เรื่องของคัมภีร์ที่นักเรียนบาลีหยิบจับขึ้นมาเรียนอยู่ทุกวันนั่นเอง เช่นคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาเป็นต้น 

เราไม่ได้สอนกันเลยว่า คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาเป็นคัมภีร์ประเภทไหน เป็นคัมภีร์ชั้นไหน มีกำเนิดขึ้นตั้งแต่สมัยไหน 

เรื่องเหล่านี้เราไม่ได้สอน ไม่ได้เรียน และไม่ได้ถูกกำหนดให้อยู่ในเนื้อหาของการเรียน

เราหยิบจับคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาขึ้นมาเรียนกันทุกวัน แต่เราไม่เคยเรียนรู้ความเป็นมาของคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถากันเลย

เราแปลคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาได้ทะลุปรุโปร่ง

แต่เราไม่รู้จักคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา

น่าอัศจรรย์หรือไม่

ให้อธิบาย ให้เล่าถึงคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา นักเรียนบาลีของเราจะอธิบายไม่ได้ ประวัติคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาไม่ได้อยู่ในเนื้อหาของการเรียน

ประวัติของคัมภีร์ทุกเล่มที่ใช้เป็นแบบเรียนในชั้นต่างๆ ก็ไม่อยู่ในเนื้อหาของการเรียน

นั่นเป็นอย่างหนึ่งของเรื่องที่ควรเรียน แต่เราไม่ได้เรียน 

เป็นเรื่องที่เราควรรู้ แต่เราไม่มีความรู้

อีกเรื่องหนึ่งที่เราไม่เคยเรียนกันเลย และผมกำลังจะเสนอให้พิจารณาก็คือ การเรียนรู้คุณค่าของคัมภีร์

ชี้เฉพาะคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาคัมภีร์เดียวก่อน พอเป็นตัวอย่าง

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาใช้เป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ๑-๒ และชั้น ป.ธ.๓ และใช้เป็นแบบเรียนวิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้น ป.ธ.๔, ป.ธ.๕ และ ป.ธ.๖

ที่เรียนกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิชาแปลมคธเป็นไทยหรือวิชาแปลไทยเป็นมคธ เราเรียนคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาเฉพาะในด้านวิธีแปลภาษาเท่านั้น

๑ เห็นภาษาบาลีในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา เราแปลเป็นภาษาไทยได้

๒ เห็นภาษาไทยที่แปลมาจากคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา เราแปลกลับเป็นภาษาบาลีได้

นี่คือขอบเขตที่เราเรียนคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา กำหนดไว้เท่านี้เท่านั้น

ผมขอเสนอให้ขยายขอบเขตการเรียนออกไปอีก คือเรียนเนื้อหาของคัมภีร์ด้วย

คำว่า “เนื้อหาของคัมภีร์” หมายถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านบรรยายไว้ในคัมภีร์ที่เราเอามาเรียนวิธีแปลภาษากันอยู่นี่แหละ แทนที่จะเรียนเฉพาะวิธีแปลภาษา ก็เรียนกว้างออกไปถึงเนื้อหาของเรื่องด้วย เช่น –

๑ สามารถเล่าเรื่องได้ เล่าแบบขยายเรื่อง หรือเล่าแบบย่อเรื่อง สามารถทำได้

ทุกวันนี้นักเรียนบาลีของเราแปลคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาได้หมด แต่ให้เล่าเรื่อง เล่าไม่ได้ ไปไม่เป็น เพราะเราไม่ได้สอนกัน เราสอนแต่วิธีแปลภาษาล้วนๆ

๒ สามารถหยิบยกประเด็นเด่นๆ ในแต่ละเรื่องขึ้นมาวิจารณ์แสดงความคิดเห็นได้ นั่นแปลว่า เรียนให้รู้ว่าจุดเด่นของแต่ละเรื่องอยู่ตรงไหนบ้าง มีหลักธรรม มีข้อคิดอะไรอยู่ตรงนั้น สามารถยกออกมาชี้ให้ดูได้

ข้อนี้คงมีหลายท่านบอกว่า โอ แบบนี้มันไม่ใช่เรียนบาลีแล้ว มันกลายเป็นเรียนวรรณคดีไปแล้ว

นั่นเพราะเราติด “กับดัก” กันมานาน คือไปหลงทางอยู่ว่า เรียนบาลีคือเรียนวิธีแปลภาษาเท่านั้น

ผลจากการคิดแบบนี้ก็คือ เรามีนักเรียนบาลีที่มีความสามารถในการแปลภาษา แต่ไม่มีความสามารถในการนำเรื่องราวที่แปลมาถ่ายทอดขยายผลต่อไปอีก

เพราะฉะนั้น ก็ต้องทำใหม่คิดใหม่ ให้คำจำกัดความกันใหม่

ไม่จำเป็นต้องตั้งหลักสูตรขึ้นมาใหม่ หลักสูตรเดิมนี่แหละ แต่ขยายวิธีสอนวิธีเรียนออกไป ครูสอนบาลีไม่ใช่สอนวิธีแปลอย่างเดียว ต้องสอนวิธีจับใจความ จับประเด็น เล่าเรื่อง สรุปเรื่อง วิเคราะห์เรื่องพร้อมกันไปในกระบวนการเรียนการสอน

แปลธัมมปทัฏฐกถาจบไปเรื่องหนึ่ง นักเรียนสามารถเล่าเรื่องได้ ทั้งแบบเต็มเรื่องและแบบย่อเรื่อง 

เรื่องนั้นมีข้อขอดพิสดารเงื่อนแงที่น่าศึกษาน่าขบคิดอยู่ตรงไหนบ้าง สามารถหยิบยกออกมาชี้ชวนให้กันดูได้ สามารถวิเคราะห์วิจารณ์แง่มุมต่างๆ ในเรื่องนั้นๆ ได้

จบไปเรื่องหนึ่ง เรื่องต่อไปก็เรียนโดยวิธีเดียวกัน

โดยวิธีนี้ นักเรียนบาลีของเราจะมีความสามารถรอบด้านเกี่ยวคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ไม่ใช่แปลได้อย่างเดียวอย่างที่กำลังเป็นอยู่

แน่นอน นี่คือการปฏิรูปวิธีเรียนบาลี แต่ก็ปฏิรูปเฉพาะขอบเขตเนื้อหาที่เรียนเท่านั้น ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงหลักการอื่นๆ แต่ประการใด

ลองนึกดูเถิดว่า เราผลิตนักเรียนบาลีที่มีความสามารถในการแปลภาษาบาลีออกมาปีหนึ่งเป็นจำนวนมากพอควร แต่นักเรียนบาลีแทบจะไม่ได้ใช้ความสามารถในการแปลภาษาบาลีไปทำอะไรอีกเลย แค่ให้เล่าเรื่องในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาสักเรื่องหนึ่งก็อึกอักแย่แล้ว

และแม้แต่ความสามารถในการแปลภาษาบาลีโดยตรงนั่นเองก็แทบจะไม่ได้เอาไปใช้งานอะไรอีก 

ประเด็นนี้ไปผูกโยงเข้ากับประเด็นที่ว่า-คณะสงฆ์ของเราไม่ได้เตรียมตลาดไว้รองรับ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราผลิตนักเรียนบาลีโดยไม่ได้มีเป้าหมายอะไรเลย นอกจากความสำเร็จส่วนตัวของนักเรียน-เอาไว้ชื่นชมกันว่า จบประโยค ๙ หรือได้เป็นนาคหลวง อื่นจากนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรที่มองเห็นเป็นภาพรวมของพระศาสนา

นอกจากไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว เวลาใครบอกให้นักเรียนบาลีของเราก้าวหน้าไปศึกษาให้ถึงพระไตรปิฎก เรากลับบอกกันว่า เรื่องแบบนี้ควรเป็นไปตามอัธยาศัย จบเลย

เรามีนักเรียนบาลีที่มีความสามารถในการแปลภาษาบาลีนับพัน และยังผลิตออกมาเรื่อยๆ ทุกปี แต่เชื่อหรือไม่ เมื่อวานซืนนี้เองก็ยังมีคนบ่นตำหนิว่า แปลพระไตรปิฎกกันยังไง อ่านไม่รู้เรื่อง ทำไมไม่แปลให้ชาวบ้านเขาอ่านรู้เรื่อง แปลออกมามีแต่กลิ่นภาษาแขกโบราณออกหึ่งไป น่าเบื่อหน่าย (ซ้ำยกฝรั่งมาข่มเสียด้วยว่า ฝรั่งเขาแปลพระไตรปิฎกไม่มีกลิ่นภาษาแขกโบราณเลย!)

นักเรียนบาลีฟังแล้วรู้สึกอย่างไร?

งานตรงๆ แท้ๆ คืองานแปลภาษาบาลีให้ชาวบ้านอ่านรู้เรื่อง เราก็ไม่ได้ทำ ทั้งๆ ที่เรานี่แหละได้รับยกย่องว่า “ผู้มีความสามารถในการแปลภาษาบาลี” 

ผมเชื่อว่า ถ้าขยายขอบเขตการเรียนบาลีให้กว้างออกไปถึงการศึกษาเรียนรู้เรื่องราวเนื้อหาในคัมภีร์ให้รู้เข้าใจอย่างลึกและอย่างกว้าง และสามารถนำไปถ่ายทอดได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ถึงตอนนั้น นักเรียนบาลีของเราก็จะมีความสามารถในการแปลพระไตรปิฎกให้ชาวบ้านอ่านรู้เรื่องได้มากขึ้น ทั้งจะมีอุตสาหะ มีแรงบันดาลใจทำงานเพื่อพระศาสนากันมากขึ้น โดยไม่ต้องนั่งรอให้คณะสงฆ์หาตลาดรองรับ หากแต่นักเรียนบาลีนี่แหละสร้างตลาดกันขึ้นมาเอง โดยวิธีใช้ความรู้ที่เรียนมาไปศึกษาพระธรรมวินัย แล้วช่วยกันเผยแพร่หลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้องสู่สังคมต่อไปอีก

ทำอย่างนี้แหละคือการพิสูจน์ว่า เรียนบาลีไม่ได้มีแค่เรียนแปลภาษา แต่เรียนเพื่อรักษาพระศาสนาได้อย่างแท้จริง

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๔:๑๔

………………………………………

เรียนบาลี ควรมีมากกว่าเรียนแปลภาษา

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *