อิจฺเจตํ กุสลํ โน เจ …
อิจฺเจตํ กุสลํ โน เจ …
———————-
“พระทำอย่างนี้ได้หรือ?” – ญาติมิตรหลายท่านคงเคยได้ยินคำถามนี้ บางทีตัวท่านเองก็คงเคยถามคำถามนี้เมื่อได้รู้ได้เห็นหรือได้ยินข่าวว่าพระทำอะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะไม่ควร
“พระทำอย่างนี้ได้หรือ?” – มีนัยว่าพระทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะถ้าผู้ถามแน่ใจว่าพระทำอย่างนี้ได้ ก็คงจะไม่ตั้งคำถามนี้ และถ้าให้ผู้ถามตอบเอง ก็จะต้องตอบว่าพระทำอย่างนี้ไม่ได้
เมื่อตั้งคำถามแบบนี้แล้ว คนส่วนมากทำอะไรต่อไป?
คนส่วนมากไม่ได้สนใจอะไรอีก ไม่สนใจแม้แต่จะฟังคำตอบด้วยซ้ำไป ไม่ต้องกล่าวถึงว่า-สนใจที่จะหาคำตอบต่อไป
เวลานี้เราเป็นอย่างนี้กันมาก คือตั้งคำถาม แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์ต่อ เอาเรื่องที่ตนเองก็ยังไม่รู้คำตอบนั่นแหละไปพูดต่อไปอีก และมักจะพูดในทางเสียหาย
คนที่รับฟังการพูดต่อก็มีอาการอย่างเดียวกันและใช้วิธีเดียวกัน คือทั้งๆ ที่ยังไม่รู้คำตอบก็เอาไปวิจารณ์ต่อๆ ไปอีก
เราจึงมีคนที่ชอบพูดต่อๆ กันไป วิจารณ์ต่อๆ กันไป สร้างความสับสนวุ่นวายกันอย่างสนุกปาก แต่ไม่มีใครมีอุตสาหะที่จะศึกษาหาคำตอบที่ถูกต้อง
เหมือนกับจะบอกว่า ฉันมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถาม และมีสิทธิ์ที่จะได้รับคำตอบ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของฉันจะไปหาคำตอบ เป็นหน้าที่ของใครก็ไม่รู้แหละ-ไม่ใช่ฉันก็แล้วกัน-ที่จะต้องเอาคำตอบมาให้ฉัน
……………………
ทีนี้ถ้าถามว่า เรื่องประเภทนี้-ประเภทพระทำอย่างนี้ได้หรือ-ถ้าคนถามไม่คิดจะหาคำตอบเอง ควรเป็นหน้าที่ของใครที่จะตอบ?
ตามหลักการก็เป็นหน้าที่ของพระนั่นเองที่จะต้องตอบ เพราะหน้าที่โดยตรงของพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาก็คือศึกษาพระธรรมวินัยอันเป็นเนื้อเป็นตัวของพระศาสนา และอันเป็นพื้นฐานรากเหง้าที่ทำให้ท่านเป็นพระเป็นเณรอยู่ได้
เป็นพระเป็นเณรอยู่ได้ก็เพราะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้อย่างถูกต้องก็ต้องศึกษาเรียนรู้
หลักการยันกันอยู่อย่างนี้
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏทุกวันนี้ มีพระภิกษุสามเณรเป็นอันมากที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย
ที่เราเห็นว่า มีการจัดการศึกษานักธรรมบาลีมหาวิทยาลัยสงฆ์ และมีพระภิกษุสามเณรเข้าเรียนกันอยู่นั้น เป็นการเรียนเพื่อให้ได้วุฒิหรือใบรับรองเพื่อเอาศักดิ์และสิทธิ์อันเกิดจากวุฒิหรือใบรับรองนั้นไปทำประโยชน์อย่างอื่นต่อไปอีก
ผมตั้งใจพูดแบบนี้เพื่อให้กระทบใจ
เราจัดการศึกษาแบบมุ่งผลไปที่การจบการศึกษาและได้วุฒิการศึกษา ความรู้ในหลักพระธรรมวินัยเป็นผลพลอยได้ หรือที่เราพยายามอธิบายว่า เมื่อมีการศึกษา ไม่ว่าจะศึกษาเพื่ออะไร ผู้เข้าศึกษาก็ต้องได้ความรู้ไปด้วยอย่างแน่นอน เป็นกฎธรรมชาติ ปฏิเสธไม่ได้
แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันก็คือ ศึกษาเพื่อให้ได้วุฒิกับศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้ น้ำหนักจะต่างกันมาก
ต่างกันอย่างไร พึงสดับ
ศึกษาเพื่อให้ได้วุฒิ มุ่งที่จะปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ต้องทำอย่างนี้ ต้องมีอย่างนี้ ต้องเอาสิ่งนี้ไปแสดงต่อกรรมการและให้กรรมการยอมรับเป็นต้น ถ้าทำได้ตามเกณฑ์ก็มีสิทธิ์ที่จะจบการศึกษา โดยที่ในระหว่างศึกษาอยู่นั้นไม่ได้มีกฎเกณฑ์ใดๆ ให้ต้องสนใจใส่ใจว่าพระภิกษุสามเณรผู้เข้าศึกษาได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยหรือไม่ ได้รักษาวิถีชีวิตสงฆ์ไว้ได้ครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน เพราะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการศึกษา
และเมื่อจบการศึกษาได้วุฒิแล้วก็เป็นอันว่าเสร็จกิจ ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป ถือว่าจบการศึกษาแล้ว แม้จะศึกษาต่อไปอีกก็ทำตามกรอบแบบเดียวกัน
แล้วมาดูอีกด้านหนึ่ง –
การศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้ น้ำหนักจะไปอยู่ที่ตัวความรู้ที่ผู้ศึกษาจะได้รับ คือความรู้เกิดมีขึ้นในตัวในใจในชีวิต ซึ่งผู้ศึกษาจะต้องวัดด้วยตัวเองว่าตนรู้เรื่องนี้หรือเปล่า เข้าใจเรื่องนี้หรือไม่ โดยไม่ต้องขึ้นกับระบบหรือวิธีวัดผลจากผู้อื่น
และเนื่องจากเนื้อหาที่ศึกษาคือพระธรรมวินัยซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ที่การนำไปปฏิบัติ ดังนั้น การศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้จึงต้องวัดผลด้วยการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันคือในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่นั่นเอง นั่นคือต้องเอาความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปปฏิบัติจริงจึงจะนับได้ว่าเป็นผู้ได้รับการศึกษา
รู้ว่าอะไรผิด แต่ยังละเมิด
รู้ว่าอะไรถูก แต่ไม่ทำ
แบบนี้ไม่นับว่าเป็นผู้มีการศึกษา แม้ว่าจะสามารถทำตามเกณฑ์ที่กำหนดจนกรรมการยอมรับว่าจบการศึกษาได้แล้วก็ตามทีเถิด
จะเห็นได้ว่า เนื้อแท้แก่นแท้ของการศึกษา ก็คือการหาความรู้ แล้วเอาความรู้ไปปฏิบัติจริง
การศึกษาเพื่อให้ได้วุฒิ มีแต่กระบวนการพิสูจน์ว่ามีความรู้ แต่ไม่มีกระบวนการพิสูจน์ว่าได้เอาความรู้ไปปฏิบัติจริง ทั้งไม่สนใจด้วยซ้ำไปว่าผู้เข้าศึกษาเอาความรู้ไปปฏิบัติจริงหรือเปล่า
แต่การศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้ มีกระบวนการพิสูจน์ด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนตลอดสายว่า ตนรู้เรื่องนี้หรือเปล่า เข้าใจเรื่องนี้หรือไม่ และได้เอาความรู้ความเข้าใจไปปฏิบัติจริงแล้วหรือยัง
อีกประการหนึ่ง การศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้เป็นการศึกษาตลอดชีพ ไม่มีเทอม ไม่มีเวลา ไม่ต้องเข้าชั้นเรียน ศึกษาได้ทุกที่ แต่สถานที่ที่ดีที่สุดคือวัด อันเป็นศูนย์การศึกษาของสังคมไทยมาแต่เดิม ที่พระภิกษุสามเณรต้องอยู่วัดก็ด้วยเหตุผลนี้ คือเพื่อจะได้อยู่ในกระบวนการศึกษาตลอดกาล
นี่คือน้ำหนักที่ต่างกันอย่างชัดเจน
……………………
คราวนี้วกเข้ามาถึงคำถาม “พระทำอย่างนี้ได้หรือ?” ใครควรมีหน้าที่ตอบ
พระภิกษุสามเณรควรเป็นผู้ตอบ
พระภิกษุสามเณรรูปไหนล่ะที่จะตอบ?
ลองไปถามดูเถอะ ทุกรูปจะบอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน
มองกว้างออกไปอีก
คณะสงฆ์นั่นเองที่ควรตอบ
คณะสงฆ์คือใครล่ะ?
คำว่า “คณะสงฆ์” ก็คล้ายกับจะเป็นนามธรรม หาตัวไม่เจอ
ตามหลัก คณะสงฆ์ก็ควรจะหมายถึงพระสังฆาธิการ เริ่มตั้งแต่เจ้าอาวาสเป็นต้นไป จนถึงมหาเถรสมาคม ประกอบด้วยกรรมการมหาเถรสมาคมอันมีสมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ – นี่คือคณะสงฆ์
ถ้าใครใจกล้า ลองเข้าไปถามท่านเหล่านี้ดู – “พระทำอย่างนี้ได้หรือ?” ท่านก็จะบอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของท่านที่จะต้องตอบ
แม้หากจะมีท่านผู้ใดผู้หนึ่งตอบ คำตอบก็จะอยู่ในฐานะ “ความเห็นส่วนตัว” ของท่านผู้นั้น ไม่ใช่คำตอบของคณะสงฆ์
จะเห็นได้ว่า เรื่องไม่ควรยุ่งยากถึงขนาดนี้ แต่ก็ดูยุ่งยากไม่ใช่เล่น-เพียงแค่อยากจะรู้ว่า “พระทำอย่างนี้ได้หรือ?”
……………………
วิธีที่จะได้คำตอบก็คือ ลงมือศึกษาพระธรรมวินัย
ถ้าพระภิกษุสามเณรท่านไม่ศึกษา ชาวบ้านอย่างเราก็ต้องศึกษาเอง
ถ้าชาวบ้านต้องศึกษาพระธรรมวินัยเองเพื่อให้รู้ว่าพระทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ก็เท่ากับเป็นการ “ตบหน้า” พระเณรไปในตัว
พระเณรจะได้รู้ตัวว่า-เออหนอ เป็นหน้าที่ของเราเองแท้ๆ แล้วทำไมจะต้องโยนไปให้ชาวบ้านทำ ชาวบ้านเขาต้องทำมาหากิน เหนื่อยอยู่แล้ว ยังจะต้องมาเหนื่อยเรื่องนี้อีก เราไม่ต้องทำมาหากิน มีหน้าที่ศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยโดยตรง ทำไมไม่ทำหน้าที่ ไปมัวทำอะไรอยู่
ผมตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า –
…………………………
อิจฺเจตํ กุสลํ โน เจ …
…………………………
อ่านว่า อิด-เจ-ตัง กุ-สะ-ลัง โน เจ
เป็นสำนวนบาลีที่พบได้ทั่วไปในคัมภีร์
แปลให้เข้ากับเรื่องที่เขียนมาว่า …
……………………………………
ถ้าพระภิกษุสามเณรท่านคิดได้อย่างนี้ก็ดีไป
แต่ถ้าท่านคิดไม่ได้ หรือไม่ได้คิดล่ะ …
……………………………………
ตรงนี้แหละครับที่ยากมาก ถึงยากที่สุด
ยากยิ่งกว่าหาคำตอบว่า “พระทำอย่างนี้ได้หรือ?” หลายร้อยหลายพันเท่า
จบ ทิ้งไว้ให้คิดแค่นี้แหละครับ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕
๑๗:๐๑
………………………………………….
อิจฺเจตํ กุสลํ โน เจ …
………………………………………….