ศาสนภัย (บาลีวันละคำ 1,721)
ศาสนภัย
สุดแต่ว่าจะอยู่ข้างในหรือข้างนอก
อ่านว่า สา-สะ-นะ-ไพ
แยกศัพท์เป็น ศาสน + ภัย
(๑) “ศาสน”
บาลีเป็น “สาสน” (สา-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน
: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก”
(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ส-(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส)
: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส”
คำว่า “สาสน” (นปุงสกลิงค์) มีที่ใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –
(1) คำสอน = teaching หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา”
(2) คำสั่ง (ในทางปกครองบังคับบัญชา) = order (to rule, govern)
(3) ข่าว = message คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” (สาน)
(๒) “ภัย”
บาลีเป็น “ภย” (พะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก ภี (ธาตุ = กลัว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี ที่ ภี เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย (ภี > เภ > ภย)
: ภี + ณ = ภีณ > ภี > เภ > ภย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความกลัว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภย” เป็นอังกฤษว่า fear, fright, dread (ความกลัว, ความหวาดหวั่น, สิ่งที่น่ากลัว)
“ภย” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยว่า “ภัย”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัย : (คำนาม) สิ่งที่น่ากลัว, อันตราย, เช่น อัคคีภัย คือ ภัยที่เกิดจากไฟ อุทกภัย คือ ภัยที่เกิดจากน้ำ. (ป., ส. ภย).”
ความหมายของ “ภย” ในบาลีคือ “ความกลัว” (fear) หรือ “สิ่งที่น่ากลัว” (fright) แต่ “ภัย” ในภาษาไทยน้ำหนักของความหมายอยู่ที่ “อันตราย” (danger, dangerous)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลีที่ฝรั่งเป็นผู้ทำไม่ได้แปล “ภย” ว่า danger หรือ dangerous
สาสน + ภย = สาสนภย > ศาสนภัย
“ศาสนภัย” แปลตามศัพท์ได้หลายนัย เช่น –
(1) “ภัยของศาสนา” = ภัยที่เกิดขึ้นแก่ศาสนาอันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ
(2) “ภัยในศาสนา” = ภัยที่เกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลในศาสนานั้นๆ เอง หรือภัยที่บุคคลในวงการศาสนานั้นก่อขึ้นแก่ศาสนาของตัวเอง
(3) “ภัยจากศาสนา” = ภัยที่ศาสนาหนึ่งไปกระทำแก่อีกศาสนาหนึ่งหรือกระทำแก่ผู้อื่น
ในคัมภีร์ ท่านแสดง “ศาสนภัย” ไว้ชุดหนึ่ง เป็นภัยที่เกิดขึ้นแก่ตัวบุคคลอันเป็นเหตุให้หมดความเจริญงอกงามในศาสนา
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [210] แสดงไว้ดังนี้ –
อันตรายของภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ 4 : ตามบาลีว่าภัยสำหรับกุลบุตรผู้บวชในธรรมวินัยนี้ อันเป็นเหตุให้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่ได้ไม่ยั่งยืน ต้องลาสิกขาไป (Bhaya: perils or terrors awaiting a clansman who has gone forth from home to the homeless life; dangers to newly ordained monks or novices)
1. อูมิภัย : ภัยคลื่น คือ อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เกิดความขึ้งเคียดคับใจ เบื่อหน่ายคำตักเตือนพร่ำสอน (Ūmibhaya: peril of waves, i.e. wrath and resentment caused by inability to accept teaching and advice)
2. กุมภีลภัย : ภัยจระเข้ คือ เห็นแก่ปากแก่ท้อง ถูกจำกัดด้วยระเบียบวินัยเกี่ยวกับการบริโภค ทนไม่ได้ (Kumbhīlabhaya: peril of crocodiles, i.e. gluttony)
3. อาวฏภัย : ภัยน้ำวน คือ ห่วงพะวงใฝ่ทะยานในกามสุข ตัดใจจากกามคุณไม่ได้ (Āvaṭabhaya: peril of whirlpools, i.e. desire for sense-pleasures)
4.สุสุกาภัย : ภัยปลาร้าย หรือภัยฉลาม คือ เกิดความปรารถนาทางเพศ รักผู้หญิง (Susukābhaya: peril of sharks, i.e. love for women)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าศาสนาเป็นตัวก่อภัย
: แล้วมนุษย์จะเหลืออะไรไว้เป็นที่พึ่ง?
19-2-60