บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อย่าเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย

อย่าเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย

—————————–

ภาษาบาลีเขียนแยกกันเป็นคำๆ เหมือนภาษาอังกฤษ

เขียนติดกันเป็นพืดก็ไม่เป็นภาษา

Longlivetheking

ทีฆายุโกโหตุมหาราชา

แยกคำไม่ถูกคำ ก็อ่านไม่ได้ความ

Lon gli vet hek ing

ที ฆายุ โกโห ตุม หารา ชา

แยกคำถูกต้อง จึงอ่านได้ความ

Long live the king

ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา

…………………

คำบาลีที่คนไทยคุ้นปาก เช่น อตฺตาหิอตฺตโนนาโถ เขียนติดกันแบบนี้ ถ้าให้คนที่ไม่ได้เรียนบาลีเขียนแยกเป็นคำๆ คงมีน้อยคนที่เขียนถูก

อตฺตาหิอตฺตโนนาโถ 

อตฺตา/หิ/อตฺตโน/นาโถ

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ

อีกคำหนึ่ง นตฺถิปญฺญาสมาอาภา แปลว่า ไม่มีแสงสว่างเสมอด้วยปัญญา (ไม่มีแสงสว่างใดๆ ที่จะเสมอด้วยแสงสว่างคือปัญญา)

คนที่ไม่ได้เรียนบาลี หรือแม้แต่คนที่เรียนบาลีแท้ๆ ก็มักจะแยกคำเป็น นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา หรือบางทีก็ นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา

แยกคำถูกต้องคือ นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา

อาภา อันว่าแสงสว่าง

ปญฺญาสมา เสมอด้วยปัญญา

นตฺถิ ย่อมไม่มี

จะเห็นว่า ปญฺญาสมา (เสมอด้วยปัญญา) เป็นคำเดียวกัน = ปญฺญา + สมา

นตฺถิสนฺติปรํสุขํ แปลว่า ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี = ไม่มีความสุขใดจะยิ่งไปกว่าความสงบ

นี่ก็เป็นคำบาลีอีกคำหนึ่งที่มักจะแยกคำกันผิดๆ เช่นแยกเป็น นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ คือแยกเป็น ๔ คำ ซึ่งไม่ถูก

แยกคำถูกคือ นตฺถิ/สนฺติปรํ/สุขํ = นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ แยกเป็น ๓ คำ

และ “สนฺติปรํ” แปลว่า “ยิ่งกว่าความสงบ” ไม่ใช่ “อื่นจากความสงบ”

สุขอื่นจากความสงบไม่มี – นี่ผิดความจริง สุขอื่นนอกจากความสงบยังมีอีกตั้งหลายสุข แต่ไม่มีสุขชนิดไหนจะประเสริฐยิ่งไปกว่าความสงบ ดังนี้แหละจึงต้องแปลว่า “สุขอื่นยิ่งไปกว่าความสงบไม่มี” 

คำที่พูดผิดเขียนผิดจนน่าระอาใจคำหนึ่งก็คือ คำที่แปลกันว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”

ร้อยทั้งร้อยจะพูดหรือเขียนเป็นคำบาลีว่า อโรคยา ปรมา ลาภา ซึ่งเป็นคำที่ผิด

คำที่ถูก เขียนแบบบาลี อาโรคฺยปรมา ลาภา (มีจุดใต้ ค)

เขียนแบบบาลีไทย อาโรค๎ยปรมา ลาภา (มีเครื่องหมายบน ค)

อ่านตามสะดวกปากไทยว่า อา-โร-คะ-ยะ-ปะ-ระ-มา ลา-พา

อ่านตามสำเนียงบาลีว่า อา-โรก-เคียะ-ปะ-ระ-มา ลา-พา

มีคำบาลี ๒ คำเท่านั้น คือ อาโรคฺยปรมา คำหนึ่ง ลาภา อีกคำหนึ่ง

หรือจะท่องจำก็ได้ว่า –

อาโรคฺยปรมา ลาภา 

อา- ไม่ใช่ อะ-

ยะ ไม่ใช่ ยา

คำนี้ผมเคยเขียนอธิบายชี้แจงอย่างที่เรียกว่า “ปากจะฉีก” แต่เสียงไม่ดังพอที่คนเขียนผิดจะได้ยินหรือได้ยินแล้วจะตั้งใจฟัง เพราะฉะนั้น เห็นที่ไหนเมื่อไร ก็ยังเป็น อโรคยา ปรมา ลาภา (ผิด) อยู่นั่นแล้ว

เคยมี (และเชื่อว่ายังมีอยู่) คนออกมาปกป้องคนผิดว่า ก็เขาไม่รู้นี่ คุณรู้คุณก็ต้องบอกเขาสิ เป็นความผิดของคุณเองที่ไม่บอกเขา

ผมบอกจนปากจะฉีกแล้ว กรุณาไปบอกคนเขียนผิดบ้างจะได้ไหมว่า-คุณไม่รู้คุณก็ฟังเขามั่งสิ เขาอุตส่าห์บอกแล้ว แต่คุณไม่ฟัง เป็นความผิดของคุณเองที่ไม่ฟังเขา

คำบาลีนี่สำคัญนะครับ ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด ถ้าคนเขียนผิดมากแล้วไปยอมรับว่าถูก ก็คือวิปริตหรือวิบัติ แล้วยิ่งถ้าพากันเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย ก็ยิ่งมหาวิบัติ

…………………

เวลานี้เราพากันถือคติเฉยเมยเลยละ เห็นใครเขียนผิดก็ไม่ทักไม่ท้วง ไม่เตือนไม่ติง ถือว่าธุระไม่ใช่ พูดไปให้เขาเกลียดทำไม ภาษาไทยไม่ใช่ของเราคนเดียว

แล้วยังจะต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาที่ว่า “หมอนี่มันดีแต่จับผิดชาวบ้าน” ผมว่าใครก็ตามที่เชิดชูคำกล่าวหานี้ประสบความสำเร็จดีมาก คือทำให้คนทั้งหลายไม่กล้าที่จะทักท้วงเตือนติงกัน คำที่เขียนผิดพูดผิดจึงระบาดทั่วไปหมด 

ขอแสดงความยินดีด้วยที่ทำงานได้ผลดีมาก

เวลานี้โรคนี้กำเริบไปถึงขั้นพากันเห็นว่า เขียนผิดก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ในเฟซบุ๊กนี่แหละครับคำผิดเปรอะไปหมด ทั้งคนเขียน ทั้งคนอ่าน ไม่มีใครรู้สึกรู้สาว่าเป็นเรื่องเสียหายกันแล้ว เขียนไปแล้วไม่ตรวจไม่สอบ ไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องระมัดระวัง

…………………

แล้วถ้าโรค-เห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย-นี่ระบาดเข้าไปในภาษาบาลีด้วย จะทำอย่างไรกัน

ยกเอาคำบาลีมาอ้าง มาเขียน มาพูด ผิดถูกไม่สนใจ

แล้วยังยกเอาคำบาลีศัพท์ธรรมะมาอธิบายกันไปตามอัตโนมัติ 

พระไตรปิฎกว่าอย่างไรก็ช่างพระไตรปิฎก 

อรรถกถาฎีกาว่าอย่างไรก็ช่างอรรถกถาฎีกา 

แต่ฉันจะว่าของฉันอย่างนี้แหละ 

อธิบายตามกรอบความคิดของฉันนี่แหละถูกต้องที่สุด

ถ้าเป็นอย่างนี้-คือพวกเราพากันเป็นเสียอย่างนี้ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าจะเป็นอย่างไร?

พวกที่ตั้งหน้าตั้งตาเรียนบาลีก็ขยันเรียนกันไป

พวกที่เอาบาลีมาพูดให้เพี้ยนเขียนให้ผิดก็ขยันทำกันไป

พวกที่ถือว่าธุระไม่ใช่ ศาสนาไม่ใช่ของกูคนเดียว ก็วางเฉยกันไป

ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปเช่นนี้ ท่านเป็นคนหนึ่งหรือเปล่าที่เห็นว่า-ไม่ใช่เรื่องเสียหาย?

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๕:๓๕

……………………………………

อย่าเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *