อริยุปวาท (บาลีวันละคำ 3,620)
อริยุปวาท
นรกใกล้ตัว
อ่านว่า อะ-ริ-ยุ-ปะ-วาท
ประกอบด้วยคำว่า อริย + อุปวาท
(๑) “อริย”
อ่านว่า อะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อรห = “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”, แปลง อ ที่ ร และ ห เป็น อิย
: (อร + อห = ) อรห : อห > อิย : อร + อิย = อริย แปลเท่ากับคำว่า “อรห” คือ “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”
(2) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม
: อรฺ + อิ = อริ + ณฺย > ย = อริย แปลว่า “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล”
(3) อารก = “ผู้ไกลจากกิเลส”, แปลง อารก เป็น อริย แปลเท่ากับคำว่า “อารก” คือ “ผู้ไกลจากกิเลส”
(4) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม [เหมือน (2)] แปลว่า “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าถึง”
(5) อริย = “ผลอันประเสริฐ” + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: อริย + ณ = อริยณ > อริย แปลว่า “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ”
สรุปว่า “อริย” แปลว่า –
(1) ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส
(2) ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล
(3) ผู้ไกลจากกิเลส
(4) ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้
(5) ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายของ “อริย” ไว้ดังนี้ –
๑ ทางเชื้อชาติ: หมายถึง ชาติอารยัน (racial: Aryan)
๒ ทางสังคม: หมายถึง ผู้ดี, เด่น, อริยชาติ, สกุลสูง (social: noble, distinguished, of high birth)
๓ ทางจริยศาสตร์: หมายถึง ถูกต้อง, ดี, ดีเลิศ (ethical: right, good, ideal)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อริย-, อริยะ : (คำนาม) ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล. (คำวิเศษณ์) เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ.”
(๒) “อุปวาท”
บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-วา-ทะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค= เข้าไป, ใกล้, มั่น) + วทฺ (ธาตุ = พูด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ คือ อะ ที่ ว-(ทฺ) เป็น อา (วทฺ > วาท)
: อุป + วทฺ = อุปวทฺ + ณ = อุปวทฺณ > อุปวท > อุปวาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การพูดโดยกล่าวโทษ” หมายถึง ดูหมิ่น, ติเตียน; ว่าร้าย, หาเรื่อง (insulting, railing; blaming, finding fault)
“อุปวาท” ที่เราน่าจะพอคุ้นอยู่บ้างก็คือคำในโอวาทปาติโมกข์ที่ว่า “อนูปวาโท อนูปฆาโต” = การไม่ว่าร้าย การไม่ทำร้าย
“อนูปวาโท” ก็คือ น (ไม่, ไม่ใช่) > อน + อุปวาท = อนูปวาท
อริย + อุปวาท = อริยุปวาท อ่านแบบบาลีว่า อะ-ริ-ยุ-ปะ-วา-ทะ อ่านแบบไทยว่า อะ-ริ-ยุ-ปะ-วาด แปลว่า “การว่าร้ายพระอริยะ” หมายถึงการตำหนิติเตียนอริยบุคคล
ขยายความ :
“อริยบุคคล” หมายถึง บุคคลผู้เป็นอริยะ, ท่านผู้บรรลุธรรมวิเศษมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น มี 4 คือ –
1 พระโสดาบัน
2 พระสกทาคามี (หรือสกิทาคามี)
3 พระอนาคามี
4 พระอรหันต์
อริยบุคคล 3 ข้างต้นมีทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ แต่อริยบุคคลที่ 4 มีแต่ที่เป็นบรรพชิต (คฤหัสถ์บรรลุธรรมถึงระดับพระอรหันต์ต้องบวชในวันนั้นหรือไม่ก็ดับขันธ์ในวันนั้น)
ในคัมภีร์ท่านขยายความคำว่า “อริยุปวาท” ไว้ดังนี้ –
…………..
อริยานํ อุปวาทกาติ พุทฺธปจฺเจกพุทฺธพุทฺธสาวกานํ อริยานํ อนฺตมโส คิหิโสตาปนฺนานมฺปิ อนตฺถกามา หุตฺวา อนฺติมวตฺถุนา วา คุณปริทฺธํสเนน วา อุปวาทกา อกฺโกสกา ครหกาติ วุตฺตํ โหติ ฯ
คำว่า “อริยานํ อุปวาทกา” (ผู้ว่าร้ายพระอริยะ) หมายถึง คนที่ประสงค์ร้าย กล่าวใส่ร้าย ด่าทอ ติเตียนพระอริยเจ้าทั้งหลาย คือพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกของพระพุทธเจ้า ชั้นที่สุดแม้คฤหัสถ์ผู้เป็นโสดาบัน ไม่ว่าจะด้วยข้อกล่าวหาว่าไม่ได้เป็นพระจริง หรือเหยียดหยามว่าไม่ได้บรรลุคุณธรรมจริงก็ตาม
โส จ ชานํ วา อุปวเทยฺย อชานํ วา อุภยถาปิ อริยูปวาโท ว โหติ ฯ
และผู้ว่าร้ายนั้นจะทำไปโดยรู้ความจริงหรือไม่รู้ความจริงก็ตาม ย่อมจัดเป็น “อริยุปวาท” ทั้งสองสถาน
ภาริยํ กมฺมํ สคฺคาวรณํ มคฺคาวรณญฺจ ฯ
อริยุปวาทเป็นกรรมหนัก เป็นทั้งสัคคาวรณ์ (ห้ามสวรรค์ คือทำบุญขนาดไหนก็ไปเกิดในสวรรค์ไม่ได้) ทั้งมัคคาวรณ์ (ห้ามมรรคผล คือปฏิบัติธรรมขนาดไหนก็บรรลุมรรคผลไม่ได้)
ที่มา: สมันตปาสาทิกา อรรถกถาวินัยปิฎก ภาค 1 หน้า 185
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อย่าเหยียบพระอริยะกันง่ายๆ
: และอย่ายกว่าเป็นอริยะกันง่ายๆ
#บาลีวันละคำ (3,620)
11-5-65
…………………………….
…………………………….