บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วิสาขบูชานุสติ

วิสาขบูชานุสติ

—————

วันวิสาขบูชาปีนี้-ความจริงตั้งแต่หลายๆ ปีมานี้-ผมรู้สึกเฉยๆ จากเฉยๆ ธรรมดาๆ ในปีก่อนๆ ก็ยิ่งเฉยๆ มากขึ้นในปีนี้

เฉยๆ ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นความสำคัญ

แต่เฉยๆ เพราะได้เห็นความสำคัญอยู่แล้วทุกวัน

พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานวันไหนและด้วยอาการอย่างไร ศึกษาเรียนรู้ซึมซับเข้าไว้ในจิตใจทุกวันอยู่แล้ว จะวันวิสาขบูชาหรือวันอะไรวันไหนก็ทำอยู่ทุกวัน ก็เลยไม่รู้สึกว่าวันไหนสำคัญกว่าวันไหน เพราะสำคัญทุกวัน

ผมให้ความสำคัญแก่เหตุการณ์และอาการที่เป็นไปของเหตุการณ์นั้นๆ แต่ไม่ได้คำนึงถึง “วัน” ที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ

นี่คือสภาพที่ผมบอกว่าวันวิสาขบูชาปีนี้รู้สึกเฉยๆ

ถ้าอธิบายเทียบกับการรักษาศีลในวันพระ น่าจะช่วยให้เข้าใจชัดเจน

ชาวพุทธทั่วไปในเมืองไทยมีธรรมเนียมถือศีล ๕ ในวันพระ วันพระเป็นวันที่คนไปทำบุญที่วัด เป็นโอกาสให้ได้สมาทานศีล

กระบวนการ “ทำบุญ” ก็คือ ถวายทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา มีขั้นตอน มีพิธีการ ทำกันจนเป็นธรรมเนียม พอถึงวันพระก็รู้กันว่าเป็นวันถือศีล แล้วก็เลยเข้าใจกันว่า จะถือศีลก็ต้องถือวันพระ วันธรรมดาก็ทำอะไรกันไปตามปกติธรรมดา แต่พอถึงวันพระ อะไรบางอย่างที่เคยทำในวันธรรมดาก็งด

ที่ทำจนเป็นหลักการระดับประเทศก็คือ วันพระโรงฆ่าสัตว์หยุดฆ่า

ไปตลาดวันพระ เป็นอันรู้กันว่าไม่มีเนื้อไม่มีหมูขาย

ไม่ทราบว่าหลักการนี้ยังปฏิบัติกันอยู่ หรือว่าบัดนี้ยกเลิกไปแล้ว ฆ่าสัตว์กันทุกวัน วันโกนไม่ละ วันพระไม่เว้น

สรุปว่า โดยธรรมเนียมปฏิบัติ เราถือศีลกันเมื่อถึงวันพระ

เมื่อผมลาสิกขา ได้ตั้งใจรักษาศีล ๕ ตลอดชีวิต เพราะพิจารณาดูแล้วเส้นทางชีวิตของผมน่าจะไม่มีความจำเป็นต้องละเมิดศีลข้อไหนเลย

และเมื่อตั้งใจงดเว้น ก็สำเร็จเป็นศีลโดยไม่ต้องกล่าวคำสมาทาน ไม่ต้องขอศีล ไม่ต้องมีพระให้ศีล และไม่ต้องรอจนกว่าจะถึงวันพระ-อย่างที่คนทั่วไปทำกันจนเป็นธรรมเนียม

วันพระหรือไม่ใช่วันพระ ผมก็รักษาศีล ๕ ทุกวันอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลเช่นนี้ พอถึงวันพระ ผมก็ไม่ได้รู้สึกพิเศษว่าจะได้รักษาศีล คงรู้สึกเฉยๆ เป็นปกติเหมือนทุกวัน ในขณะที่คนทั่วไป พอถึงวันพระจะรู้สึกว่าเป็นวันพิเศษ

พอถึงวันวิสาขบูชา คนทั่วไปจะรู้สึกว่าเป็นวันพิเศษที่จะได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษ

แต่ผมระลึกพระพุทธเจ้าทุกวันอยู่แล้ว จึงไม่ต้องมีวันพิเศษเอาไว้ระลึกถึงเป็นพิเศษ จะว่าทุกวันเป็นวันพิเศษอยู่แล้วก็ว่าได้

ที่ว่ามานี้เป็นส่วน “เนื้อหา”

แต่ส่วนที่เป็น “รูปแบบ” ต้องแยกเป็นต่างหาก หมายความว่า กิจกรรมอะไรที่นิยมทำกันในวันวิสาขบูชา เช่น ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ ฟังเทศน์ ฟังธรรม สนทนาธรรม เวียนเทียน ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้เป็นส่วนรูปแบบ เป็นประเพณี เคยทำมาก็ต้องทำต่อไป จะอ้างว่าระลึกถึงพระพุทธเจ้าทุกวันอยู่แล้ว ก็เลยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำ 

วันวิสาขบูชา คิดอย่างนี้ก็คือบกพร่อง

กิจกรรมในวันพระปกติ ไปวัด ไหว้พระ รับศีล ฟังพระสวดถวายพรพระ ตักบาตร ถวายภัตตาหารให้เป็นสังฆทาน ทำวัตร ฟังเทศน์ ฯลฯ เมื่อถึงวันพระก็ต้องทำ จะอ้างว่ารักษาศีล ๕ ทุกวันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปวัด

วันพระ คิดอย่างนี้ก็คือบกพร่อง

ผมเห็นว่าที่เราพลาดหรือบกพร่องกันมากก็คือ เมื่อกำหนดให้มีวันสำคัญเกี่ยวกับใครหรืออะไร เราก็จะนึกถึงความสำคัญของผู้นั้นหรือสิ่งนั้นกันแค่วันนั้นวันเดียว พ้นวันนั้นไปแล้วก็เลิก ก็ลืม

วันแม่ คิดถึงแม่วันเดียว

วันพ่อ คิดถึงพ่อวันเดียว

วันครู คิดถึงครูวันเดียว

วันภาษาไทย พูดถึงความสำคัญของภาษาไทยแค่วันเดียว

วันแห่งความรัก พูดถึงความรักแค่วันเดียว

วันวิสาขบูชา ระลึกถึงพระพุทธเจ้ากันวันเดียว 

พ้นวันวิสาขบูชาไปแล้วก็ไม่มีใครเอ่ยถึงเหตุการณ์ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานอีกต่อไป จนกว่าจะถึงวันวิสาขบูชาปีหน้า

คิดๆ ดูก็น่าเสียดายนะครับ วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญระดับโลก เราพากันชื่นชมด้วยความภาคภูมิใจ แต่เราทำกิจกรรมให้วันสำคัญกันวันเดียว 

ในหมู่คนไทย กิจกรรมสำคัญที่ทำกันก็มีอย่างเดียวคือเวียนเทียน แล้วก็มักจะเอียงข้างบันเทิงหน่อยๆ ด้วยซ้ำไป 

กิจกรรมปลูกปัญญาน่าจะเป็นศูนย์

……………….

ผมขอเสนอว่า วิธีหนึ่งที่จะเป็นการฉลองวิสาขบูชาที่มีคุณค่าก็คือ ช่วยกันศึกษาพุทธประวัติ โดยเฉพาะเหตุการณ์ตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ช่วยกันศึกษาให้กระจ่างแจ้งเสมือนมองเห็นเหตุการณ์กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า

ศึกษาพุทธประวัติในฐานะที่พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ในฐานะเป็นบุคคลในตำนานหรือนิทานนิยายที่ไม่มีตัวตนอยู่จริงอย่างที่คนรุ่นใหม่กำลังเข้าใจว่าเป็นเช่นนั้น

แนวทางศึกษาก็เช่น-ถอดความเหตุการณ์ที่เป็นบุคลาธิษฐานออกมาเป็นเหตุการณ์จริง —

ตอนประสูติ … เดินได้ ๗ ก้าว 

ตอนตรัสรู้ … พญามารยกทัพมาผจญ 

ตอนปรินิพพาน … ผ้าที่ห่อหุ้มพระพุทธสรีระชั้นนอกสุดกับชั้นในสุด เพลิงไม่ไหม้

ลบบทสรุปที่ใช้คำว่า “เข้าใจว่า” “น่าจะหมายถึง” ออกไปเรื่อยๆ แล้วใช้คำว่า “บัดนี้พิสูจน์ได้ว่าคือ…” เข้าไปแทนที่

งานเหล่านี้น่าทำ เอาวันวิสาขบูชาปีนี้เป็นวันจุดประกายก็ได้ พรุ่งนี้เมื่อคนทั้งโลกลืมนึกถึงวันวิสาขบูชาแล้ว เราเริ่มต้นศึกษากันเลย

เริ่มจากเอกสารหลักฐานที่มีอยู่ในมือ คือพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาทั้งหลาย ศึกษาเพื่อหาความรู้ เอาความรู้จริงๆ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือจบการศึกษาเอาปริญญาอย่างที่เราส่วนมากกำลังทำกัน

แล้วเอาผลการศึกษาไปเสนอต่อชาวโลกในวันวิสาขบูชาปีหน้า เอาผลการศึกษาเป็นเครื่องบูชาพระพุทธคุณ 

ผมว่าทำอย่างนี้วิสาขบูชาจะมีความหมายความสำคัญทุกวันตลอดปี ไม่ใช่มีอยู่แค่วันเดียวอย่างที่เรากำลังทำกันอยู่

อามิสบูชาหรือการทำตามรูปแบบก็ควรแก่การอุโมทนานะครับ ใช่ว่าจะไร้ผล แต่ขอเชิญชวนให้ก้าวข้ามไปให้ถึงปฏิบัติบูชาหรือธรรมบูชาด้วย จะควรแก่การอนุโมทนายิ่งขึ้น

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๗:๔๕

…………………………………………

วิสาขบูชานุสติ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *