บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปาราชิกกับโทษจำคุก

ปาราชิกกับโทษจำคุก

———————–

ไม่ต้องเอา “พระ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

……………….

ได้ยินว่ามีคนคิดจะให้คนที่ต้องอาบัติปาราชิกต้องติดคุกด้วย

คนที่เห็นด้วยก็มาก

คนที่ไม่เห็นด้วยก็มี

คนที่เห็นด้วยบอกว่า-จะได้สาสมกับความชั่วที่ทำลงไป

คนที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า-พระมีวินัยพระจัดการกันเองอยู่แล้ว บ้านเมืองไม่ควรเข้ามายุ่ง ทำแบบนี้แหละที่เรียกว่าฆราวาสปกครองพระ

……………….

ผมเห็นว่าปัญหานี้เกิดจากความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ

ขออนุญาตแวะตรงนี้ก่อนนะครับ

เรื่องเกี่ยวกับพระภิกษุสงฆ์ เวลานี้มี “ความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ” ที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำในสังคมเราก็คือ มองคนที่ไม่ใช่พระว่าเป็นพระ

ผิดไปตั้งแต่ภาษาที่ใช้เรียกนั่นเลย 

คนที่ไม่ใช่พระแต่แต่งตัวเป็นพระ เราก็เรียกกันว่า “พระปลอม” ซึ่งผิดในสาระสำคัญ 

คนที่ไม่ใช่พระแต่แต่งตัวเป็นพระ นั่นคือ “คนปลอมเป็นพระ” เขาไม่ใช่พระ เป็นคนธรรมดา แต่เรากลับไปเรียกเขาว่า “พระ” คำพูดก็เลยหลอกความรู้สึกของเราเองว่า พระเลว พระไม่ดี ทั้งๆ ที่นั่นคือคนเลว คนไม่ดี ไม่ใช่พระ เพราะเราลากเข้าไปเกี่ยวกับพระแล้วไม่แยกให้ชัดว่า ใครเป็นพระ ใครไม่ใช่พระ

แล้วพระจริงล่ะ?

คนบวชถูกต้องตามพระธรรมวินัย แต่ประพฤติตัวเลวนั่นเล่า จะให้เรียกว่าอะไร?

แบบนั้นแหละที่ควรเรียกว่า “พระปลอม” เป็นคำเรียกที่ถูกต้องที่สุดในสาระสำคัญ

หมายความว่า คนที่เข้ามาบวชเป็นพระในพระธรรมวินัยนี้ต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ ๒ ส่วนเท่านั้น คือส่วนที่ “ห้ามทำ” และส่วนที่ “ต้องทำ”

ไม่ทำส่วนที่ห้ามทำ 

ไม่ละเลยส่วนที่ต้องทำ

พระรูปใดปฏิบัติได้ดังนี้ พระรูปนั้นคือพระจริงพระแท้ เพราะทำได้จริงตรงตามหลักพระธรรมวินัยที่สมัครใจเข้ามาบวช

ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในทุกวันนี้ก็คือ เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยแล้ว 

(๑) ทำสิ่งที่ห้ามทำ แล้วพยายามอธิบายว่าเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ผิด ถึงผิดก็เล็กน้อย ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร

(๒) ละเลยสิ่งที่ต้องทำ แล้วพยายามอธิบายว่า ถึงไม่ทำก็ไม่เสียหายอะไร ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนไป พระต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคม

ทำและคิดอย่างนี้แหละที่ควรเรียกว่า “พระปลอม” ในความหมายที่ว่าไม่ปฏิบัติจริงตามพระธรรมวินัย คือเป็นพระ แต่การปฏิบัติไม่จริงอย่างพระที่ปฏิบัติจริงตามพระธรรมวินัย

นั่นคือ ตัดสินความเป็นพระจริงหรือพระไม่จริงกันที่การปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

ถ้าจะใช้คำเรียกขึ้นต้นว่า “พระ” ก็ควรใช้หลักดังกล่าวมานี้

ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย = พระจริง

ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย = พระปลอม

ส่วนคนที่ไม่ได้บวชจริง ก็อย่าเรียกขึ้นต้นว่า “พระ” เพราะเขาไม่ใช่พระ ได้ยินใครเรียกเช่นนั้นก็ต้องระวังอย่าให้ภาษามาหลอกให้หลง 

คนที่ทำมาหากินกับการบอกข่าวยิ่งต้องระวังให้จงหนัก อย่าบอกข่าวเพื่อความมัน เพื่อความสะใจ หรือเพื่อ rating แต่จงบอกข่าวเพื่อให้ความรู้และให้ปัญญาแก่สังคม แต่ที่สำคัญที่สุดคือ-บอกความจริง 

การบอกความจริงนี้เป็นอุดมคติ เป็นอุดมการณ์ และเป็นหน้าที่ของผู้ทำงานอันมีเกียรตินี้ที่ยึดถือกันมาแต่กาลก่อน ที่ว่า “…มีหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏ” 

ที่ว่ามานี้คือความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำเรียกขาน ญาติมิตรที่อ่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยนะครับ

……………….

คราวนี้ก็มาถึงเรื่องปาราชิกกับโทษจำคุกตามที่ตั้งใจจะเขียน

เรื่องนี้ก็ต้องใช้หลัก-แยกให้ได้ว่าใครเป็นพระ ใครไม่ใช่พระ 

ถ้าแยกไม่ออกก็ยุ่ง 

ถ้าแยกออกก็ง่าย

จับหลักกันตรงที่-พระพุทธศาสนาอยู่กับคน คนอยู่กับสังคม สังคมอยู่กับกฎกติกา เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาก็ต้องอยู่กับกฎกติกาของสังคมด้วย

เพื่อให้มองเห็นภาพ อาจพูดว่าสังคมไทยประกอบด้วยอาณาจักรกับพุทธจักร 

คนทั่วไปอยู่ในกฎกติกาของอาณาจักร คนที่เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์อยู่ในกฎกติกาของพุทธจักร แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของอาณาจักรด้วย เพราะพระพุทธศาสนาอยู่กับสังคม ก็คืออยู่กับอาณาจักร ไม่ได้แยกตัวเป็นอิสระหรือไปอยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์

ในถิ่นที่ผู้นำสังคมหรือผู้ได้อำนาจรัฐเป็นสัมมาทิฐิ กฎกติกาของอาณาจักรก็จะไม่ก้าวข้ามเข้ามาก้าวก่ายหรือเบียดเบียนบีบคั้นคนที่อยู่ในพุทธจักร

พูดกันชัดๆ เมืองไทยไม่เคยออกกฎหมายบังคับให้พระภิกษุสามเณรต้องกระทำการอันเป็นการละเมิดพระธรรมวินัย

ตรงกันข้าม เมืองไทยในสมัยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญนี่เองเคยออกกฎหมายหยุดราชการวันพระ ซึ่งเป็นการเกื้อกูลแก่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง (กรณีเช่นนี้จะไม่มีวันหวนกลับมาเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกแล้ว-เว้นไว้แต่ชาวพุทธจะได้ผู้นำที่เข้มแข็ง ไม่ใช่อ่อนปวกเปียกเหมือนทุกวันนี้!)

บางกรณีดูเหมือนเป็นการบีบคั้น เช่นกฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์ทหาร ชายไทยที่มีอายุถึงเกณฑ์ต้องไปเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ไม่เว้นแม้แต่พระ นี่ดูเหมือนบีบบังคับกัน 

แต่ทางราชการก็มีข้อผ่อนผันให้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด พระที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ก็ใช้สิทธิ์ผ่อนผันกันอยู่จนถึงทุกวันนี้

ผมเองสมัยที่เป็นพระก็ใช้สิทธิ์ผ่อนผัน เพราะตอนนั้นสอบได้นักธรรมชั้นตรี ต้องไปขึ้นทะเบียนทหาร แต่ไม่ต้องไปไล่ทหาร

พระที่ “ถูกทหาร” ก็ไม่ใช่ว่าต้องไปเป็นทหารทั้งผ้าเหลือง เช่นเดียวกับโทษจำคุกจำขัง กฎหมายไทยไม่เคยเอาคนเข้าห้องขังทั้งผ้าเหลือง นี่ก็ต้องแยกให้ชัด อย่าเอาไปปนกับกรณี-ถือว่าลาสิกขาแล้วหรือว่ายังมีสิทธิ์เป็นพระอยู่ แต่ที่แน่ๆ ถ้าจะเข้าห้องขังต้องเปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์ออกก่อน จะยังเป็นพระหรือสิ้นสุดความเป็นพระเอาไปพูดกันทีหลัง นี่คือกฎกติกาของอาณาจักร-เมืองไทยที่ผู้ได้อำนาจรัฐยังเป็นสัมมาทิฐิ

ทีนี้เจาะลงไปที่พระต้องอาบัติปาราชิกกับความคิดที่จะให้ติดคุกด้วย 

เมื่อแยกออกเป็นอาณาจักรกับพุทธจักรก็เห็นชัดว่า การปรับโทษให้ต้องอาบัติปาราชิกเป็นการใช้อำนาจในเขตแดนของพุทธจักรล้วนๆ ฝ่ายอาณาจักรไม่ได้ข้ามเขตเข้ามาก้าวก่ายอะไรเลย

อ้าว แล้วที่คิดจะให้ติดคุกด้วยนั่นล่ะ ไม่ได้ก้าวก่ายหรือ?

ตรงนี้แหละครับคือรอยต่อที่ชวนให้หลง

พระที่ต้องอาบัติปาราชิกนั้นขาดจากความเป็นพระทันที นั่นคือพ้นจากเขตแดนพุทธจักรกลับเข้าไปอยู่ในเขตแดนอาณาจักรเรียบร้อยแล้ว คือเป็นคนของอาณาจักรร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว อาณาจักรจะจัดการอะไรอย่างไรกับคนของตน ก็เป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ของอาณาจักร 

โทษจำคุกหรือโทษต่างๆ นั้นมีฐานความผิดหลากหลาย ถ้าอาณาจักรจะกำหนดฐานความผิดว่า ผู้ใดต้องอาบัติปาราชิกขณะเป็นพระ ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุก … ก็ย่อมสามารถทำได้ 

แต่เราไปหลงทางกับคำที่พูดกันว่า “พระต้องอาบัติปาราชิกต้องติดคุกด้วย” คือไปคิดว่าพระติดคุก ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงผู้ติดคุกคือคนที่ทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่พระติดคุก

ลองคิดเทียบดู จะเข้าใจง่ายขึ้น –

พระลักทรัพย์ (๕ มาสกขึ้นไป) มีความผิด ๒ ฐาน คือทางพระวินัยเป็นทุติยปาราชิก ทางกฎหมายเป็นการทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องติดคุกเพราะลักทรัพย์ ไม่ใช่ติดคุกเพราะทุติยปาราชิก

พระฆ่าคนตาย มีความผิด ๒ ฐาน คือทางพระวินัยเป็นตติยปาราชิก ทางกฎหมายเป็นการทำความผิดฐานฆ่าคนตาย ต้องติดคุกเพราะฆ่าคนตาย ไม่ใช่ติดคุกเพราะตติยปาราชิก

พระเสพเมถุน มีความผิดฐานเดียว คือทางพระวินัยเป็นปฐมปาราชิก พระอวดอุตริมนุสธรรม มีความผิดฐานเดียว คือทางพระวินัยเป็นจตุตถปาราชิก แต่ทางกฎหมายยังไม่มีบทบัญญัติว่าเป็นความผิด 

ดังนั้น ถ้าทางอาณาจักรจะกำหนดฐานความผิดขึ้นมา เช่นบัญญัติเป็นกฎหมายว่า ผู้ใดต้องอาบัติปาราชิกขณะเป็นพระ ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุก … ก็ย่อมสามารถทำได้ ก็เหมือนกับกำหนดว่า ลักทรัพย์มีความผิด ฆ่าคนตายมีความผิด นี่ก็..ต้องอาบัติปาราชิกขณะเป็นพระมีความผิด …

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การกำหนดฐานความผิดเช่นนั้นเหมาะสมหรือไม่ วิธีหาคำตอบก็คือ เอาความเสียหายเป็นสำคัญ ไม่ใช่เอาตัวผู้ทำเป็นเกณฑ์

ลักทรัพย์ ฆ่าคน ใครทำก็เสียหายทั้งนั้น จึงสมควรกำหนดว่าเป็นความผิดต้องติดคุก

ต้องอาบัติปาราชิกขณะเป็นพระ ใครทำก็เสียหายทั้งนั้น จึงสมควรกำหนดว่าเป็นความผิดต้องติดคุก

อธิบายให้สมเหตุสมผลได้หรือไม่ เอาเหตุผลไปสู้กันตรงนั้น 

แต่อย่าลากเอา “พระ” เข้าไปเกี่ยว

เวลาบัญญัติว่า ลักทรัพย์ ฆ่าคน ติดคุก เราไม่ได้คำนึงว่าชาวบ้านทำมีความผิด พระทำไม่มีความผิด เราคำนึงเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากการกระทำ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ทำก็ตาม

ถ้าจะบัญญัติว่า ต้องอาบัติปาราชิกขณะเป็นพระมีความผิด ก็ควรใช้หลักการเดียวกัน คือคำนึงเฉพาะความเสียหายที่เกิดจากการกระทำ

ใครเห็นว่า ผู้ต้องอาบัติปาราชิกขณะเป็นพระทำความเสียหายถึงขั้นสมควรติดคุก ก็ยกเหตุผลมา

ใครเห็นว่า ผู้ต้องอาบัติปาราชิกขณะเป็นพระไม่ได้ทำความเสียหายถึงกับจะต้องติดคุก ก็ยกเหตุผลมา

ไม่ต้องเอา “พระ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๘:๓๘

………………………………………

ปาราชิกกับโทษจำคุก

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *