กิมิวิทยา (บาลีวันละคำ 3,634)
กิมิวิทยา
หนอน ใครว่าไม่สำคัญ
อ่านว่า กิ-มิ-วิด-ทะ-ยา
ประกอบด้วยคำว่า กิมิ + วิทยา
(๑) “กิมิ”
อ่านว่า กิ-มิ รากศัพท์มาจาก –
(1) กุ (แทนศัพท์ “กุจฺฉิต” = น่าเกลียด) + อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อิ ปัจจัย, แปลง อุ ที่ กุ เป็น อิ (กุ > กิ)
: กุ + อมฺ = กุมฺ + อิ = กุมิ > กิมิ แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ถึงความน่าเกลียด” (วาดเป็นภาพว่า “ความน่าเกลียด” อยู่ตรงโน้น แล้วสัตว์ชนิดนี้ก็เดินไปจน “ถึง” ความน่าเกลียด)
(2) กิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + มิ ปัจจัย
: กิ + มิ = กิมิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สัตว์ที่ถูกสัตว์ที่มีพิษมากกว่าเช่นมดแดงเป็นต้นเบียดเบียน” (2) “สัตว์ที่เบียดเบียนสัตว์อื่น”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “กิมิ” (ปุงลิงค์) ว่า หนอน, แมลง, ตั๊กแตน, ตัวไหม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กิมิ” ว่า a worm, vermin (หนอน, ไส้เดือน) และขยายความไว้ว่า ในที่บางแห่ง “กิมิ” ใช้ในความหมาย As animal of death and putrefaction (ในฐานเป็นสัตว์ตายและเน่าเปื่อย)
บาลี “กิมิ” สันสกฤตเป็น “กฤมิ” และ “กริมิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“กฤมิ, กริมิ : (คำนาม) หนอน, แมลงทั่วไป; ครั่ง; เวตาล; a worm, a grub, an insect in general; lac; a demon.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “กิมิ” ไว้ แต่เก็บเป็น “กิมิชาติ” บอกไว้ว่า –
“กิมิชาติ : (คำแบบ) (คำนาม) หนอน, หมู่หนอน. (ป.).”
จะเห็นได้ว่า คำแปลที่ตรงกันในพจนานุกรมทั้งหลาย คือ “กิมิ” แปลว่า หนอน
(๒) “วิทยา”
บาลีเป็น “วิชฺชา” รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-ย) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)
บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา”
โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”
อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์บาลี คำว่า “วิชฺชา” มักใช้ในความหมายเฉพาะ คือหมายถึงญาณปัญญาที่บรรลุได้ด้วยการฝึกจิต
“วิชฺชา” ถ้าคงรูปบาลี ในภาษาไทยใช้ว่า “วิชา” (ตัด ช ออกตัวหนึ่ง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิชา : (คำนาม) ความรู้, ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน, เช่น วิชาภาษาไทย วิชาช่าง วิชาการฝีมือ. (ป. วิชฺชา; ส. วิทฺยา).”
“วิชา” ตามความหมายในภาษาไทย ตรงกับคำว่า “สิปฺป” (สิบ-ปะ) ที่เราเอามาใช้ว่า “ศิลปะ”
“สิปฺป” ในบาลีหมายถึง ความสามารถที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นผลสำเร็จได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทำได้ทำเป็นไม่ว่าจะในเรื่องอะไร นั่นแหละคือ “สิปฺป–ศิลปะ” หรือ “วิชา” ตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย
“วิทยา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิทยา : (คำนาม) ความรู้, มักใช้ประกอบกับคําอื่น เช่น วิทยากร วิทยาคาร จิตวิทยา สังคมวิทยา. (ส.).”
กิมิ + วิทยา = กิมิวิทยา แปลว่า “วิชาว่าด้วยหนอน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กิมิวิทยา : (คำนาม) วิชาว่าด้วยหนอน.”
ขยายความ :
คำว่า “กิมิวิทยา” พบว่ามีคำภาษาอังกฤษใช้ว่า helminthology
พจนานุกรมศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถานบอกว่า ศัพท์แพทยศาสตร์ ศัพท์วิทยาศาสตร์ และศัพท์สัตววิทยา บัญญัติ helminthology เป็นคำไทยว่า “วิทยาหนอนพยาธิ”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หนอนทำให้คนเป็นดอกเตอร์ได้
: ร่างกายที่เต็มไปด้วยหนอนก็ทำให้คนฉลาดไปนิพพานได้
#บาลีวันละคำ (3,634)
25-5-65
…………………………….
…………………………….