กาเล เทโว ปวสฺสตุ (บาลีวันละคำ 3,635)
กาเล เทโว ปวสฺสตุ
“ขอฝนจงตกต้องตามฤดูกาล” – เรียนบาลีจากวลีสั้นๆ
บาลีวันละคำวันนี้มีคำบาลี 3 คำ คือ –
(๑) “กาเล”
อ่านตรงตัวว่า กา-เล รูปคำเดิมเป็น “กาล” บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กลฺ > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาล ๑, กาล– : (คำนาม) เวลา, คราว, ครั้ง, หน. (ป., ส.).”
“กาล” แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “กาเล” แปลว่า “ในกาล” หมายถึง ตามเวลาที่เหมาะสม, ตามเวลาที่สมควร
แทรก-แถม :
ที่พูดกันว่า “บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย” มีความหมายเช่นนี้ คือรูปคำเดิมเป็นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อเอาไปพูดหรือเขียนเป็นข้อความ ต้องเปลี่ยนรูปเป็นอีกอย่างหนึ่งแล้วแต่ความหมายที่ต้องการจะพูด
การเปลี่ยนรูปนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในบาลีไวยากรณ์ การเรียนบาลีที่พูดกันว่ายากๆ นั้นก็ยากตรงนี้ คือตรงที่ต้องกำหนดจดจำหลักเกณฑ์และวิธีการทางไวยากรณ์ได้แม่นยำ เห็นรูปคำแล้วเห็นไวยากรณ์ติดมาด้วยทันที
(๒) “เทโว”
อ่านตรงตัวว่า เท-โว รูปคำเดิมเป็น “เทว” อ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)
: ทิวฺ + อ = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ” (3) “ที่เป็นที่เพลิดเพลินแห่งพวกเทวดา” (4) “สิ่งเป็นเหตุเพลิดเพลินแห่งชาวโลก”
ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา
แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –
(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)
(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)
(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)
ในที่นี้ “เทว” ใช้ในความหมายว่า ฝน หรือเมฆฝน
“เทว” เป็นประธานในประโยค แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “เทโว” แปลว่า “อันว่าฝน” (“อันว่า” เป็นคำเชื่อม [อายตนิบาต] ประกอบคำแปลศัพท์ที่เป็นประธานในประโยค)
(๓) “ปวสฺสตุ”
อ่านว่า ปะ-วัด-สะ-ตุ เป็นคำกริยาอาขยาต รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + อ (อะ) ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + ตุ วิภัตติอาขยาต บอกความบังคับ แปลว่า “จง-” เอกวจนะ ปฐมบุรุษ (คือประธานเป็นผู้-หรือสิ่งที่ถูกกล่าวถึง)
: ป + วสฺส = ปวสฺสฺ + อ + ตุ = ปวสฺสตุ แปลว่า “จงตก” (ใช้เฉพาะกับฝน)
“ปวสฺสตุ” รูปคำกริยาปกติเป็น “ปวสฺสติ” (ปะ-วัด-สะ-ติ) แปลว่า “ฝนตก”, ฝนเริ่มตก, ให้เกิดฝน (to “rain forth”, to begin to rain, shed rain)
เห็นคำว่า “ปวสฺสตุ” ขอให้นึกถึงคำที่เราคุ้น คือ “โหตุ” ลง ตุ วิภัตติอาขยาตเหมือนกัน
“โหตุ” = จงมี, จงเป็น
“ปวสฺสตุ” = (ฝน) จงตก
ขยายความ :
“กาเล เทโว ปวสฺสตุ” เป็น “คาถา” (คำร้อยกรอง) 1 บาท มี 8 พยางค์
แปลยกศัพท์:
เทโว = อันว่าฝน
ปวสฺสตุ = จงตก
กาเล = ในกาล
แปลรวมความ: “ฝนจงตกตามกาล”
แปลถอดความ: “ขอฝนจงตกต้องตามฤดูกาล”
“กาเล เทโว ปวสฺสตุ = ขอฝนจงตกต้องตามฤดูกาล” เป็นถ้อยคำตั้งความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง มีความหมายรวมว่า ขอให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ผู้คนทำมาหากินกันไปเป็นปกติสุขทุกประการเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เกิดและอาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย
: ถามหัวใจว่าปรารถนาดีต่อแผ่นดินบ้างหรือเปล่า
#บาลีวันละคำ (3,635)
26-5-65
…………………………….
…………………………….