บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วิถีชีวิตสงฆ์ (๑)

วิถีชีวิตสงฆ์ (๑)

————–

ญาติมิตรที่ติดตามอ่านข้อเขียนของผม คงจะได้เห็นว่าผมเอ่ยถึงคำว่า “วิถีชีวิตสงฆ์” อยู่บ่อยๆ

“วิถีชีวิตสงฆ์” คืออะไร?

จะเข้าใจความหมายของคำนี้ ต้องถอยไปตั้งหลักมองภาพรวมแห่งการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา

เมื่อศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะเสื่อมสิ้นลงและผ่านช่วงเวลาที่เรียกว่า “พุทธันดร” (ช่วงเวลาที่โลกไม่รู้จักพระพุทธศาสนา) อันยาวนานไปแล้ว พระพุทธเจ้าโคดม-พระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้จึงอุบัติขึ้นเมื่อประมาณ ๒๖๐๐ มาแล้ว

พระพุทธองค์ประกาศธรรมที่ตรัสรู้ให้ประชาชนได้รับรู้ ผู้ที่ได้ฟังแล้วมีศรัทธาเลื่อมใสออกบวชเป็นจำนวนมาก

เหตุผลที่ออกบวชปรากฏอยู่ในคำรำพึงของผู้ออกบวชเอง ดังที่ท่านบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกว่า – 

(ความต่อไปนี้เป็นพระพุทธดำรัสตรัสแก่พระเจ้าอชาตศัตรู ณ สวนมะม่วงของหมอชีวก ทรงแสดงถึงบุคคลที่สนใจพระพุทธศาสนาจนถึงได้ฟังธรรมแล้วออกบวช)

………………………………

โส  ตํ  ธมฺมํ  สุตฺวา  ตถาคเต  สทฺธํ  ปฏิลภติ  ฯ 

ครั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต

โส  เตน  สทฺธาปฏิลาเภน  สมนฺนาคโต  อิติ  ปฏิสญฺจิกฺขติ  

เมื่อได้ศรัทธาแล้ว ย่อมเห็นตระหนักว่า

สมฺพาโธ  ฆราวาโส 

ฆราวาสคับแคบ

รชาปโถ 

เป็นทางมาแห่งธุลี

อพฺโภกาโส  ปพฺพชฺชา 

บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง

นยิทํ  สุกรํ  อคารํ  อชฺฌาวสตา  เอกนฺตปริปุณฺณํ  เอกนฺตปริสุทฺธํ  สํขลิขิตํ  พฺรหฺมจริยํ  จริตุํ  

การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์บริสุทธิ์โดยส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย

ยนฺนูนาหํ  เกสมสฺสุํ  โอหาเรตฺวา  กาสายานิ  วตฺถานิ  อจฺฉาเทตฺวา  อคารสฺมา  อนคาริยํ  ปพฺพเชยฺยนฺติ  ฯ 

อย่ากระนั้นเลย เราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิตเถิด

………………………………

ออกบวชแล้วทำอะไรกันบ้าง?

โปรดสดับต่อไป –

………………………………

โส  เอวํ  ปพฺพชิโต  สมาโน  ปาติโมกฺขสํวรสํวุโต  วิหรติ  

เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังในพระปาติโมกข์

อาจารโคจรสมฺปนฺโน 

ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร (คือความประพฤติปฏิบัติอันสมควรแก่ภูมิเพศบรรพชิต)

อณุมตฺเตสุ  วชฺเชสุ  ภยทสฺสาวี 

โทษผิดเพียงเล็กน้อยก็เห็นว่าเป็นภัยน่ากลัว (ไม่กล้าล่วงละเมิด)

สมาทาย  สิกฺขติ  สิกฺขาปเทสุ 

สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

กายกมฺมวจีกมฺเมน  สมนฺนาคโต  กุสเลน 

ประกอบด้วยกายกรรมวจีกรรมที่เป็นกุศล

ปริสุทฺธาชีโว 

เลี้ยงชีพอย่างบริสุทธิ์

สีลสมฺปนฺโน 

ถึงพร้อมด้วยศีล

อินฺทฺริเยสุ  คุตฺตทฺวาโร 

คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

(ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ฯลฯ มีสติรู้เท่านั้น ไม่หลงชอบหลงชังตามไป)

สติสมฺปชญฺเญน  สมนฺนาคโต 

ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ 

สนฺตุฏฺโฐ  ฯ 

เป็นผู้สันโดษ

ที่มา: สามัญญผลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม ๙ ข้อ ๑๐๒

………………………………

นี่คือที่มาของ “วิถีชีวิตสงฆ์”

แล้วเนื้อตัวของวิถีชีวิตสงฆ์เป็นอย่างไร?

ในพิธีอุปสมบท เมื่อบวชเป็นพระแล้วท่านมีหลักนิยมให้ทำสิ่งที่เรียกกันในบัดนี้ว่า “บอกอนุศาสน์” คือเรื่องที่พระอุปัชฌาย์จะต้องรีบชี้แจงให้พระใหม่เข้าใจทันที

ท่านที่นิยมเข้าไปนั่งดูพิธีบวชในโบสถ์ ถ้าสังเกตสักหน่อยก็จะเห็นว่า เมื่อสำเร็จเป็นองค์พระแล้ว ก่อนจะถึงขั้นตอนถวายเครื่องไทยธรรมกรวดน้ำรับพร พระอุปัชฌาย์จะพูดหรือ “ว่า” อะไรกับพระใหม่อีกพักใหญ่ นั่นแหลคือการ “บอกอนุศาสน์”

เรื่องที่บอกอนุศาสน์แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่ “ห้ามทำเด็ดขาด” และ “ต้องทำอย่างยิ่ง”

ส่วนที่ห้ามทำเด็ดขาดมี ๔ เรื่อง ถอดมาจากอาบัติปาราชิกนั่นเอง คือ –

๑. ห้ามมีกิจกรรมทางเพศ

๒. ห้ามลักขโมย

๓. ห้ามฆ่าคน (รวมถึงการทำแท้ง)

๔. ห้ามอวดว่าได้บรรลุธรรม

ทั้ง ๔ เรื่องนี้เรียกว่า “อกรณียกิจ” แปลว่า “เรื่องที่ห้ามทำ” ที่ต้องบอกทันทีก็เพราะหากไปทำเข้าจะขาดจากความเป็นพระทันที เรื่องห้ามทำอื่นเอาไว้บอกกันทีหลังได้

เมื่อป้องกันการทำผิดแล้ว ก็ต้องอธิบายวิธีใช้ชีวิตแบบพระให้ฟังด้วย ไม่ใช่ว่าบวชแล้วก็ยังทำตัวเหมือนชาวบ้าน วิธีใช้ชีวิตแบบพระท่านเรียกว่า “นิสัย” สกัดเอาความหมายว่า วิธีกินอยู่อย่างพระ มี ๔ เรื่องที่สำคัญ 

ขอยกคำบาลีกำกับไว้ด้วย ดังนี้ –

………………………………

๑. ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา  

วิถีชีวิตสงฆ์อาศัยโภชนะคือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง (คือออกบิณฑบาต) 

ตตฺถ  เต  ยาวชีวํ  อุสฺสาโห  กรณีโย  ฯ

เธอพึงทำอุตสาหะ (คือตั้งใจปฏิบัติตาม) ในข้อนั้นจนตลอดชีวิต 

อติเรกลาโภ  สงฺฆภตฺตํ  อุทฺเทสภตฺตํ   นิมนฺตนํ  สลากภตฺตํ  ปกฺขิกํ  อุโปสถิกํ  ปาฏิปทิกํ  ฯ

อดิเรกลาภ (คือจะไม่ออกบิณฑบาตก็ได้ ถ้ามีผู้ถวายภัตตาหารเหล่านี้) คือ ภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตามสลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ ภัตถวายในวันปาฏิบท

๒. ปํสุกูลจีวรํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา  

วิถีชีวิตสงฆ์อาศัยบังสุกุลจีวร (คือผ้าที่เลือกเก็บผ้าทิ้งแล้วมาตัดเย็บย้อมใช้เอง) 

ตตฺถ  เต  ยาวชีวํ  อุสฺสาโห  กรณีโย  ฯ

เธอพึงทำอุตสาหะ (คือตั้งใจปฏิบัติตาม) ในข้อนั้นจนตลอดชีวิต 

อติเรกลาโภ  โขมํ  กปฺปาสิกํ  โกเสยฺยํ  กมฺพลํ  สาณํ  ภงฺคํ  ฯ

อดิเรกลาภ (คือจะไม่ใช้ผ้าบังสุกุลก็ได้ ถ้ามีผู้ถวายผ้าสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ) คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าแกมกัน

๓. รุกฺขมูลเสนาสนํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา  

วิถีชีวิตสงฆ์อาศัยโคนต้นไม้เป็นที่พัก 

ตตฺถ  เต  ยาวชีวํ  อุสฺสาโห  กรณีโย  ฯ

เธอพึงทำอุตสาหะ (คือตั้งใจปฏิบัติตาม) ในข้อนั้นจนตลอดชีวิต 

อติเรกลาโภ  วิหาโร  อฑฺฒโยโค  ปาสาโท  หมฺมิยํ  คุหา  ฯ

อดิเรกลาภ (คือจะไม่อยู่อาศัยโคนไม้ก็ได้ ถ้ามีผู้สร้างที่อยู่ถวายหรือหาที่อยู่ที่เหมาะสมอย่างอื่นได้) คือ วิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ

๔. ปูติมุตฺตเภสชฺชํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา  

วิถีชีวิตสงฆ์อาศัยยาดองน้ำมูตรเป็นยาป้องกันและแก้อาการเจ็บป่วย 

ตตฺถ  เต  ยาวชีวํ  อุสฺสาโห  กรณีโย  ฯ

เธอพึงทำอุตสาหะ (คือตั้งใจปฏิบัติตาม) ในข้อนั้นจนตลอดชีวิต 

อติเรกลาโภ  สปฺปิ  นวนีตํ  เตลํ  มธุ  ผาณิตนฺติ  ฯ 

อดิเรกลาภ (คือจะไม่ใช้ยาดองเช่นว่านั้นก็ได้ ถ้ามีผู้ถวายยาอย่างอื่น) คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้าผึ้ง น้ำอ้อย

ที่มา: มหาขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๔ ข้อ ๑๔๓

………………………………

ทั้ง ๔ ข้อนี้คือแกนของวิถีชีวิตสงฆ์ ปฏิบัติตามนี้คือดำรงวิถีชีวิตสงฆ์

โปรดสังเกตว่า คำที่มีเหมือนกันทุกข้อคือ “ตตฺถ  เต  ยาวชีวํ  อุสฺสาโห  กรณีโย” แปลว่า “เธอพึงทำอุตสาหะในข้อนั้นจนตลอดชีวิต” ผมวงเล็บไว้ว่า “คือตั้งใจปฏิบัติตาม”

นั่นคือท่านย้ำว่า เมื่อบวชแล้วให้ตั้งใจปฏิบัติตามวิถีชีวิตสงฆ์ ไม่ใช่ตั้งใจละเลยหลีกเลี่ยงหรือละเมิด แล้วพยายามหาเหตุผลมาอธิบายว่า จำเป็นต้องทำ หรือไม่ใช่เรื่องร้ายแรง หรือที่นิยมอ้างกันในเวลานี้ว่า โลกเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป ต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่กับโลกได้

……………..

มีต่อ

……………..

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕

๑๖:๐๒

……………………………………..

วิถีชีวิตสงฆ์ (๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………..



ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *