มิลินทปัญหา (บาลีวันละคำ 3,626)
มิลินทปัญหา
สนทนากันอย่างบัณฑิต
อ่านว่า มิ-ลิน-ทะ-ปัน-หา
ประกอบด้วยคำว่า มิลินท + ปัญหา
(๑) “มิลินท”
เขียนแบบบาลีเป็น “มิลินฺท” (มีจุดใต้ นฺ) อ่านว่า มิ-ลิน-ทะ เป็นคำประเภทที่บาลีไวยากรณ์เรียกว่า “อสาธารณนาม” แปลว่า “ชื่อที่ไม่ทั่วไป” คือชื่อเฉพาะ ตั้งขึ้นสําหรับเรียกคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ เพื่อให้รู้ชัดว่าเป็นใครหรืออะไร (proper name)
ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบคำอธิบายรากศัพท์คำว่า “มิลินฺท” นักเรียนบาลีท่านใดทราบที่มา ขอความกรุณานำมาแสดงเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
ในภาษาไทย คำว่า “มิลินฺท” ใช้เป็น “มิลินท์” อ่านว่า มิ-ลิน หรือ “มิลินท-” กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า มิ-ลิน-ทะ- เช่นในคำว่า “มิลินทปัญหา” เป็นต้น
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “มิลินท์” บอกไว้ดังนี้ –
…………..
มิลินท์ : มหากษัตริย์เชื้อชาติกรีก ในชมพูทวีป ครองแคว้นโยนก ที่สาคลนคร (ปัจจุบันเรียกว่า Sialkot อยู่ในแคว้นปัญจาบ ที่เป็นส่วนของปากีสถาน) ทรงมีชาติภูมิที่เกาะอลสันทะ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าตรงกับคำว่า Alexandria คือเป็นเมืองหนึ่งที่พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชสร้างขึ้นบนทางเดินทัพที่ทรงมีชัย ห่างจากสาคลนครประมาณ ๒๐๐ โยชน์ ทรงเป็นปราชญ์ยิ่งใหญ่ โต้วาทะชนะนักปราชญ์ทั้งหลายในสมัยนั้น จนในที่สุดได้โต้กับพระนาคเสน ทรงเลื่อมใสหันมานับถือพระพุทธศาสนา และเป็นองค์อุปถัมภกสำคัญ ชาวตะวันตกเรียกพระนามตามภาษากรีกว่า Menander ครองราชย์ พ.ศ. ๔๒๓ สวรรคต พ.ศ. ๔๕๓.
…………..
(๒) “ปัญหา”
อ่านว่า ปัน-หา เขียนแบบบาลีเป็น “ปญฺหา” อ่านว่า ปัน-หา รากศัพท์มาจาก ปญฺห (ธาตุ = ถาม; ต้องการ) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปญฺห + อ = ปญฺห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ข้อที่พึงถาม” (2) “ข้ออันคนอยากรู้”
“ปญฺห” ในบาลีก็คือที่เราใช้ในภาษาไทยว่า “ปัญหา” นั่นเอง “ปญฺห” ในบาลีเป็นปุงลิงค์ ถ้าแจกวิภัตติสามัญ คือวิภัตติที่หนึ่ง เอกพจน์ ก็จะเป็น “ปญฺโห” พหูพจน์เป็น “ปญฺหา”
ภาษาไทยไม่ใช้ “ปัญหะ” ตามรูปเดิมในบาลี และไม่ใช้ “ปัญโห” ตามรูปเอกพจน์ แต่ใช้เป็น “ปัญหา” ตรงกับพหูพจน์ในบาลี
คิดให้เป็นปริศนาธรรม ก็เหมือนจะบอกว่า ธรรมชาติของปัญหาต้องมีมาก เรื่องมาก ยุ่งยากมากเสมอ
“ปญฺห” “ปญฺโห”หรือ “ปญฺหา” คำที่เราคุ้นหน้าคุ้นตา แต่มีความหมายมากกว่าที่เราคิด คือหมายถึง –
(1) คำถาม, ระบบคำถาม, แบบสอบถาม (a question, a system of questions, questionnaire)
(2) วิธีถาม, การสอบถาม, การสืบสวน, ปัญหา (mode of asking, inquiry, investigation, question)
(3) การถาม, การสอบถาม, การไต่ถาม (asking, enquiring, questioning)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปัญหา : (คำนาม) ข้อสงสัย, ข้อขัดข้อง, เช่น ทําได้โดยไม่มีปัญหา, คําถาม, ข้อที่ควรถาม, เช่น ตอบปัญหา, ข้อที่ต้องพิจารณาแก้ไข เช่น ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาทางการเมือง. (ป.).”
มิลินฺท + ปญฺหา = มิลินฺทปญฺหา (มิ-ลิน-ทะ-ปัน-หา) แปลว่า “ปัญหาของพระเจ้ามิลินท์”
“มิลินฺทปญฺหา” เป็นชื่อคัมภีร์บาลีสำคัญเล่มหนึ่ง บันทึกคำสนทนาโต้ตอบปัญหาธรรม ระหว่างพระนาคเสนกับพระเจ้ามิลินท์
“มิลินฺทปญฺหา” ในภาษาไทยเรียกทับศัพท์เป็น “มิลินทปัญหา” หรือเรียกเป็นคำแปลว่า “ปัญหาพระยามิลินท์”
ขยายความ :
หนังสือ “มิลินทปัญหา” ฉบับมหาเถรสมาคมจัดพิมพ์ในวาระมงคลสมัยที่เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เมื่อทรงดำรงพระฐานันดรที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษาเมื่อพุทธศักราช 2536 มีคำนำกล่าวไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้ –
…………..
มิลินทปัญหาเป็นหนังสือที่สำคัญเล่มหนึ่งในพระพุทธศาสนา มีมาแต่โบราณ เชื่อกันว่ารจนาขึ้นในราวพุทธศักราช 500 สำหรับผู้รจนานั้นไม่เป็นที่ปรากฏชัดว่าเป็นพระเถระรูปใด มีแต่ทางสันนิษฐานกันเท่านั้น สำหรับในประเทศไทยเชื่อกันว่า ผู้รจนาคือพระติปิฏกจุฬาภัย แต่ที่มีความเห็นตรงกันอย่างหนึ่งคือ มิลินทปัญหานี้เกิดขึ้นทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งก็ได้แก่รัฐปัญจาบของอินเดียปัจจุบัน โดยรจนาเป็นภาษาสันสกฤตก่อน แล้วต่อมาได้ถูกนำไปแปลถ่ายทอดเป็นอักษรภาษาอื่นๆ หลายภาษา เช่น ภาษาโรมัน ภาษาบาลี ภาษาจีน เป็นต้น โดยเฉพาะพากย์ภาษาบาลีพระเถระลังกาได้เป็นผู้นำมาถ่ายทอดเป็นอักษรสีหลก่อน แล้วมีการถ่ายทอดในยังนานาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาซึ่งใช้หนังสือที่แต่งขึ้นในประเทศลังกามาเป็นตำรับตำรา เช่นประเทศไทยเป็นต้น เพราะมีการถ่ายทอดและแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายทอดหลายหน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เนื้อหาของมิลินทปัญหาผิดกันไปบ้าง มิได้ตรงกันเสียทั้งหมดทีเดียว
เนื้อหาของมิลินทปัญหานี้เป็นเรื่องโต้ตอบธรรมะเชิงอภิปรัชญาระหว่างพระนาคเสนเถระกับพระเจ้ามิลินท์ซึ่งเป็นกษัตริย์ชาติอินโดกรีก มีนามตามที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ยุคนั้นว่าพระเจ้าเมนันเดอร์ เป็นหนังสือที่อธิบายความธรรมะได้อย่างแจ่มแจ้งลึกซึ้ง ประกอบด้วยอุปมาอุปมัยที่ทำให้เกิดความเข้าใจธรรมะได้ง่าย เหมาะแก่ผู้คนทุกยุคทุกสมัยจะพึงเข้าใจได้โดยไม่ยากนัก นอกจากนั้น มิลินทปัญหายังมีคุณค่าทางด้านจริยศาสตร์ จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวรรณคดี อีกส่วนหนึ่งด้วย กล่าวกันว่า วรรณคดีที่เกิดภายหลังพระไตรปิฎกแล้ว ไม่มีคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาคัมภีร์ใดจะมีคุณค่าเท่ามิลินทปัญหา และหลังจากนั้นก็เป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สนทนาอย่างบัณฑิต พิชิตปัญหา
: สนทนาอย่างพาล พิการทางปัญญา
#บาลีวันละคำ (3,626)
17-5-65
…………………………….
…………………………….