บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

นิพพานปติโยโหตุ

นิพพานปติโยโหตุ

——————–

บาลีเพี้ยน

โปรดทราบเป็นเบื้องต้นว่า ชื่อเรื่องที่เขียนว่า “นิพพานปติโยโหตุ” ข้างบนนั้นเป็นคำบาลีที่ผิดเพี้ยน

คำที่ถูกต้องเขียนแบบคำบาลีว่า 

นิพฺพานปจฺจโย โหตุ

เขียนแบบคำอ่านว่า 

นิพพานะปัจจะโย โหตุ

สันนิษฐานว่า คำบาลีผิดเพี้ยนคำนี้เกิดจากมีผู้พูดและมีผู้ฟัง

ผู้พูดคงจะพูดถูกต้องแล้วว่า

นิพฺพานปจฺจโย โหตุ

(นิบ-พา-นะ-ปัด-จะ-โย โห-ตุ)

แต่ผู้ฟัง-ซึ่งคงจะไม่รู้คำบาลีและไม่คุ้นกับเสียงบาลี-ได้ยินคำว่า “ปัดจะโย” เป็น “ปะติโย” 

ลองออกเสียง ๒ คำนี้สลับกันไปมา จะได้ยินชัดว่าเสียง “ปัดจะโย” เพี้ยนเป็น “ปะติโย” ได้

แค่นั้นยังไม่เป็นไร ถ้าเพียงแต่ได้ยินหรือพูดตามเฉยๆ

แต่ผู้ได้ยินเช่นนั้น (ได้ยิน-ปจฺจโย เป็น –ปติโย) ได้เอาคำที่ตนเข้าใจผิดว่าเป็นเช่นนั้นมาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย

ถ้าเขียนแล้วเก็บไว้อ่านคนเดียวก็ยังไม่เป็นไร เพราะเข้าใจผิดลำพังตัวคนเดียว 

แต่เขียนแล้วได้นำออกเผยแพร่ให้คนทั้งหลายเห็นด้วย

เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๖ ได้มีการยกป้ายแสดงข้อความที่มีคำบาลีผิดเพี้ยนนี้เป็นครั้งแรก (ดูภาพประกอบ)

น่าสังเกตว่าป้ายดังกล่าวนี้ติดตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศโดยพร้อมเพรียงกัน

สันนิษฐานว่าผู้เขียนผิดเป็นคนแรกนั้นน่าจะอยู่ในฐานะที่สำคัญมากคนหนึ่ง จึงไม่มีใครทักท้วงตั้งแต่แรก และจึงสามารถทำให้ป้ายที่มีข้อความเขียนผิดนั้นกระจายไปทั่วประเทศได้โดยไม่มีใครทัดทาน

สรุปว่า 

นิพฺพานปจฺจโย (นิบ-พา-นะ-ปัด-จะ-โย)

ไม่ใช่ นิพพาน ปติโย

—————–

ความรู้ทางภาษา :

เสียงที่อ่านว่า “นิบ-พา-นะ-ปัด-จะ-โย” ควรเขียนแบบคำบาลีเป็น –

นิพฺพานปจฺจโย 

(นิพฺ- มีจุดใต้ พฺ, ปจฺ- มีจุดใต้ จ)

ถ้าจะเขียนแบบคำอ่าน ก็เขียนเป็น –

นิพพานะปัจจะโย  

นิพฺพานปจฺจโย (นิพพานะปัจจะโย) ประกอบด้วย นิพฺพาน + ปจฺจโย เขียนติดกันเป็น  นิพฺพานปจฺจโย 

ไม่ใช่เขียนแยกเป็น นิพฺพาน คำหนึ่ง ปจฺจโย อีกคำหนึ่ง

หรืออย่างที่ในคำเพี้ยนเขียนแยกเป็น นิพพาน ปติโย โหตุ

หรือเขียนติดกันเป็นพืด – นิพพานปติโยโหตุ

นิพฺพาน” คือ นิพพาน คือการดับกิเลสตัณหาได้หมดสิ้น

ปจฺจโย” เป็นคำเดียวกับที่เราคุ้นคือ “ปัจจัย”

คำว่า “โหตุ” แปลว่า “จงเป็น” ก็ต้องเขียนแยกกันเป็นอีกคำหนึ่ง

นิพฺพานปจฺจโย โหตุ” แปลว่า “จงเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน” = ขอความดีคือบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญนี้จงเป็นเหตุสนับสนุนให้ข้าพเจ้าได้บรรลุถึงพระนิพพาน

เป็นประโยคภาษาบาลีที่ติดปากคนไทยทั่วไป โดยเฉพาะคนรุ่นเก่า เมื่อทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งเสร็จแล้ว ก็จะกล่าวข้อความนี้เป็นการอธิษฐาน หรือตั้งความปรารถนา 

ข้อความเต็มๆ ที่เคยได้ยินกล่าวกัน มีว่า –

นิพฺพานปจฺจโย  โหตุ  เม  อนาคเต  กาเล” 

มีความหมายว่า ขอความดีที่ได้บำเพ็ญนี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าบรรลุพระนิพพานในอนาคตกาลโน้นเทอญ 

เป็นการตั้งความปรารถนาที่สูงส่ง ตรงเป้าหมายของพระพุทธศาสนา และถือว่าเป็นอุดมคติของชาวพุทธที่ทำความดีเพื่อผลสูงสุดนี้ ผลอื่นๆ เป็นเรื่องรองลงมา

โปรดสังเกตว่า แม้จะปรารถนาสิ่งสูงสุด แต่ก็มิใช่ในชาติปัจจุบัน หากแต่ “ในอนาคตกาลโน้นเทอญ” เป็นการตั้งความปรารถนาแบบเจียมตัวและรู้ประมาณศักยภาพของตัวเอง แต่กระนั้นก็ไม่ละทิ้งความพยายาม ด้วยตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจน

ประโยคนี้มี ๒ คำเท่านั้น คือ “นิพฺพานปจฺจโย” คำหนึ่ง และ “โหตุ” อีกคำหนึ่ง 

ไม่ใช่ “นิพพาน นะ” หรือ “นะปัจจัยโย” ดังที่มักพูดผิดติดปาก

—————–

นิพฺพานปจฺจโย โหตุ” เป็นคำแสดงความปรารถนาเมื่อตัวผู้พูดได้บำเพ็ญบุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลง เป็นคำตั้งความปรารถนาเพื่อตัวผู้พูดเอง ไม่ใช่ตั้งความปรารถนาเพื่อผู้อื่น

นิพฺพานปจฺจโย โหตุ” ไม่ใช่คำแสดงความอาลัยหรือความปรารถนาดีเมื่อพระภิกษุมรณภาพ

ท่านผู้มรณภาพจะบรรลุนิพพานได้ก็ด้วยการปฏิบัติขัดเกลาตามหลักปฏิบัติที่ถูกต้องด้วยตนเองเท่านั้น นิพพานไม่ใช่สำเร็จได้ด้วยการตั้งความปรารถนาของบุคคลอื่น

ตรงนี้ต่างจากคำที่เรานิยมพูดกันว่า “ขอจงไปสู่สุคติในสัมปรายภพ

การไปสู่สุคติ คือไปเกิดในภพภูมิที่ดีอาจสำเร็จได้เมื่อบุคคลอื่นบำเพ็ญบุญกุศลแล้วอุทิศให้ผู้ตาย และผู้ตายได้อนุโมทนาในส่วนบุญนั้น

แต่นิพพานไม่ใช่เช่นนั้น 

นิพพานต้องปฏิบัติเอาเอง 

นิพพานไม่สำเร็จด้วยการตั้งความปรารถนาของคนหนึ่งให้แก่อีกคนหนึ่ง

การเอาคำนี้มาตั้งความปรารถนาเพื่อบุคคลอื่นจึงผิดหลักสัจธรรม

ท่านผู้ใดก็ตามเป็นผู้คิดริเริ่มเอาคำว่า “นิพฺพานปจฺจโย โหตุ” มาใช้ในการแสดงความปรารถดีเมื่อพระภิกษุมรณภาพ 

และท่านผู้ใดก็ตามเป็นผู้เอาคำนี้มาเขียนผิดเป็น “นิพพาน ปติโย โหตุ” 

กระผมกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย ที่ต้องพูดตรงๆ เช่นนี้

เรื่องของหลักธรรมนั้น ผิดว่าไปตามผิด ถูกว่าไปตามถูก

รักกันจริงต้องช่วยกันแก้ผิดให้เป็นถูก

ไม่ใช่ช่วยกันอธิบายผิดให้เป็นถูก เพราะเกรงใจกัน หรือเกรงบารมีกัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘

————

นิพพาน ปติโย โหตุ ดูที่นี่อีกแห่งหนึ่ง:

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9580000057637

กับ – ตถ ตา และ Suttipong Phuensaen‎

————–

Suttipong Phuensaen‎

ทองย้อย แสงสินชัย

21 พฤษภาคม 2558 เวลา 16:32 น. ·

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *