ไสยศาสตร์ (บาลีวันละคำ 1,095)
ไสยศาสตร์
อ่านว่า ไส-ยะ-สาด
ประกอบด้วย ไสย + ศาสตร์
(๑) คำว่า “ศาสตร์” บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก :
(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง ส ที่สุดธาตุเป็น ต
: สสฺ + ถ = สสถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์”
(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถ ปัจจัย แปลง ร เป็น ต
: สรฺ + ถ = สรถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย”
(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ถ ปัจจัย, ลดเสียง อา ที่ สา-(ส) เป็น อะ, แปลง ส เป็น ต
: สาสฺ + ถ = สาสถ > สสถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ”
ขยายความ :
(1) “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)
(2) “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)
(3) “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชา หรือ ระบบวิชาความรู้. ใช้ในภาษาไทยว่า “ศาสตร์” (science, art, lore)
ในที่นี้ “สตฺถ” มีความหมายตามข้อ (3) คือ “ศาสตร์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาสตร-, ศาสตร์ : (คำนาม) ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์. (ส.).”
(๒) คำว่า “ไสย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ไสย, ไสย– : (คำนาม) ลัทธิอันเนื่องด้วยเวทมนตร์คาถาซึ่งเชื่อว่าได้มาจากพราหมณ์ เช่น ถูกคุณถูกไสย.”
พจน.54 ไม่ได้บอกว่าคำว่า “ไสย” มาจากภาษาอะไร
มีผู้แสดงความเห็นว่า –
(1) “ไสย” มาจาก “ไสยา”
พจน.54 บอกไว้ว่า
“ไสยา : (คำนาม) การนอน, ที่นอน. (ป. เสยฺยา; ส. ศยฺยา).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสยฺยา” ว่า a bed, couch (เตียง, ที่นอน)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล “ศยฺยา” ว่า ‘ศัยยา,’ ที่นอน; การร้อย; a bed or couch; stringing.
“ไสยศาสตร์” ตามคำนี้ ให้ความหมายกันว่า “ศาสตร์ที่ทำให้หลับ” คือทำให้งมงายโง่เขลา
(2) “ไสย” มาจากบาลีว่า “เสยฺย” (เส็ย-ยะ)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสยฺย” ว่า better, excellent (ดีกว่า, ประเสริฐกว่า)
“ไสยศาสตร์” ตามคำนี้ ให้ความหมายกันว่า “ศาสตร์ที่ประเสริฐ”
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ไสยศาสตร์ : (คำนาม) ตําราทางไสย, วิชาทางไสย.”
ความหมายของคำว่า “ไสยศาสตร์” ที่เข้าใจกันน่าจะตรงกับคำว่า “คุณ” ที่พจน.54 บอกไว้ คือ –
“คุณ ๒ : (คำนาม) อาถรรพณ์ คือ พิธีทําร้ายต่ออมิตร โดยเสกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้าในตัวหรือฝังรูปฝังรอย เรียกกันว่า กระทําคุณ, ผู้ถูกกระทำ เรียกว่า ถูกคุณ, คุณไสย ก็ว่า.”
ความหมายอื่นๆ ของ “ไสยศาสตร์” พึงศึกษาต่อไป
คำเตือน : โปรดอ่านข้อความในภาพประกอบก่อน แล้วจึงอ่านคำสรุปประจำวันนี้
: ใช้เงินไปทำอะไร ก็สำคัญ
: แต่ได้เงินมาอย่างไร สำคัญกว่า
————
หมายเหตุ :
๑ ภาพประกอบจากโพสต์ของ:
กิตติวังโส นามะ เปรียญ 20 พฤษภาคม 2558
๒ ท่านที่ต้องการทราบความนัยแห่งไสยศาสตร์ โปรดตามไปอ่านหนังสือ-“สถานการณ์พระพุทธศาสนา: ทวนกระแสไสยศาสตร์” ตามลิงก์ที่ให้ไว้ข้างล่างนี้
สถานการณ์พระพุทธศาสนา: ทวนกระแสไสยศาสตร์
20-5-58