บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พจนานุกรมัง สรณัง คัจฉามิ

พจนานุกรมัง สรณัง คัจฉามิ

—————————

ป.๔ – เป็นวุฒิการศึกษาของคนไทยส่วนใหญ่ในชนบทสมัยก่อน คือสมัยที่ผมอายุ ๘ ขวบและต้อง “เข้าโรงเรียน” ตามเกณฑ์บังคับ

ใครจบ ป.๔ ก็คือจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว คุณสมบัติพื้นฐานของคนจบ ป.๔ ก็คืออ่านออกเขียนได้ ถือกันว่าเพียงพอแล้วที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เป็นปกติสุขตามอัตภาพ

ผมชอบอ่านหนังสือ เมื่อผมอ่านออกเขียนได้แล้วนั้นสิ่งแวดล้อมของผมไม่มีหนังสือให้อ่านมากนัก หนังสือที่อ่านในชั้นเรียนเท่าที่นึกออกก็มีเรื่อง-นกกางเขน นิทานอีสป นิทานสุภาษิต สังข์ทองตอนตีคลี สมบัติผู้ดี กับอะไรอีกสองสามเล่ม 

ผมจำไม่ได้ว่าในโรงเรียนมีห้องสมุดหรือเปล่า แต่รู้สึกว่าจะไม่มีความหลังเกี่ยวกับบรรยากาศเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุดในสมัยที่เข้าโรงเรียนอยู่ในความทรงจำ

ผมเป็นเด็กวัด ในวัดมีหนังสือเบ็ดเตล็ดให้อ่านอยู่บ้าง ผมไม่ทราบว่าหนังสือที่เข้ามาอยู่ในวัดนั้นมาได้โดยระบบอะไร ในวัดไม่มีห้องสมุด แต่มีตู้หนังสือเป็นที่เก็บใบลานคัมภีร์เทศน์ หนังสือพระๆ แล้วก็มีหนังสือเบ็ดเตล็ดปะปนอยู่ด้วย จะเป็นของส่วนตัวของพระรูปใดจัดหามาหรือเป็นของส่วนกลาง ก็นึกไม่ออก

ที่เล่ามานี้ก็คือจะบอกว่า ผมรู้จักพจนานุกรมก็เพราะชอบอ่านหนังสือ

เมื่ออ่านหนังสือ ก็ต้องเห็นตัวอักษรที่ประกอบเข้าเป็นถ้อยคำ อ่านถ้อยคำที่ประกอบเข้าเป็นประโยค แล้วก็รู้ความหมาย จนถึงซึมซับเอาความหมายนั้นเข้ามาไว้ในใจ พูดภาษาสมัยนี้ก็ว่า-เอามาเก็บไว้เป็นข้อมูล

ถ้อยคำภาษาส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดเรารู้เข้าใจความหมายเพราะการซึมซับรับถ่ายทอดเป็นข้อมูลสืบๆ กันมา ไม่ใช่รู้ความหมายเพราะเปิดอ่านความหมายจากพจนานุกรม

การใช้ตัวอักษรประกอบกันเข้าเป็นคำ ถ้าเป็นคำสามัญธรรมดาก็ไม่มีปัญหา คืออ่านเขียนได้ง่าย แต่ถ้าไม่ใช่คำสามัญ ตรงนี้แหละที่เริ่มเป็นปัญหาสำหรับผม

กษัตริย์-ทำไมต้องสะกดอย่างนี้

อานิสง- สง อะไรการันต์ -สงฆ์ หรือ -สงค์ หรืออะไร

สมัยโน้น ถ้าให้ผมเขียนคำนี้ ผมก็คงจะเขียนเป็น-อานิสงฆ์ หรือไม่ก็-อานิสงค์ เพราะผมคุ้นกับ-สงฆ์-สงค์ แบบนี้

เมื่ออ่านมาก อ่านบ่อย ก็เห็นมากเห็นบ่อย เห็นคำที่สะกดไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจ ตอนแรกก็คงจะเหมือนกับคนส่วนมาก คือจำไว้เป็นคำๆ ว่าคำนี้สะกดแบบนี้ โดยไม่จำต้องเข้าใจว่า-ทำไม

ผมจำไม่ได้ว่า มีโอกาสเปิดพจนานุกรมเป็นครั้งแรกเมื่อไร แต่น่าจะเป็นหลังจากบวชเณรแล้วและเข้ามาอยู่วัดในตัวจังหวัดเพื่อเรียนบาลี เพราะตอนที่เป็นเด็กวัด เข้าโรงเรียน และออกจากวัดไปอยู่บ้าน เลี้ยงวัว ทำนา ชีวิตประจำวันไม่เอื้ออำนวยให้จำเป็นต้องหยิบจับหนังสือระดับพจนานุกรมที่ตรงไหนเลย อาจจะเคยเห็นเล่มหนังสือในโรงเรียนหรือที่อื่นๆ บ้าง แต่ไม่เคยหยิบจับเปิดอ่าน

————–

ผมมีพจนานุกรมเป็นสมบัติส่วนตัวเป็นเล่มแรกก็ตอนที่อายุครบ ๒๐ ถึงกำหนด “ญัตติ” เป็นพระ มิตรสหายที่เป็นสามเณรมาด้วยกันลงขันกันซื้อ “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓” ให้เป็นของขวัญวันบวช เป็นของขวัญที่ถูกใจที่สุด และมีคุณค่ามากที่สุด อำนวยความรู้ให้แก่ผมอย่างมหาศาล ทุกวันนี้ผมยังเก็บพจนานุกรมเล่มนั้นไว้เป็นอย่างดี

สมัยโน้นผมมองพจนานุกรมอย่างคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ เชื่อถือและนับถืออย่างสูงสุด บรรดานักปราชญ์ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในพจนานุกรมว่าเป็นคณะกรรมการร่วมจัดทำ เป็นบุคคลพิเศษสุดอันผู้หนึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้-สำหรับผม ทั้งนี้โดยไม่ต้องมีเหตุผลหรือคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น

ขอเรียนว่าแม้ทุกวันนี้ผมก็ยังคงรู้สึกเช่นนั้น เพียงแต่ว่ามีเหตุผลและมีคำอธิบายได้ถ้าใครอยากให้อธิบาย

พจนานุกรมนั้น ตามหลักวิชาท่านว่าเป็นหนังสืออ้างอิง ไม่ใช่หนังสือที่มีไว้เพื่ออ่านในยามว่างเหมือนหนังสือทั่วไป แต่ผมมักมีเวลาว่างเอาพจนานุกรมมาเปิดอ่านบ่อยๆ 

ผมสนใจวิธีอธิบายความหมายที่เรียกเป็นคำวิชาการว่า “นิยาม” หรือ “บทนิยาม” มีคำง่ายๆ หลายคำที่เรารู้ความหมายกันดี แต่ถ้าจะให้นิยาม จะอึกอักขึ้นมาทันทีว่าจะหาคำอะไรมาอธิบายความหมาย

เช่นคำว่า “กระทืบ” 

ทำอย่างไรจึงเรียกว่า กระทืบ จงนิยามมาดู

เมื่ออ่านนิยามคำว่า “กระทืบ” เป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๐๘ ผมขำลึกโดยไม่มีเหตุผล จำได้ติดใจว่า “ยกเท้าแล้วกระแทกลงไป” คือกระทืบ 

ทำไมจึงขำลึกก็ไม่รู้ อาจเป็นเพราะนึกไม่ถึงว่าบทนิยามง่ายๆ อย่างนี้ ทำไมจึงให้ภาพที่ชัดเจนได้ถึงปานนั้น

(ผมเขียนข้อความนี้แล้วจึงไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ คำว่า “กระทืบ” นิยามว่า “ยกเท้ากระแทกลงไป” – ไม่มีคำว่า “แล้ว” ผมจำผิดไปคำเดียว แสดงให้เห็นว่าอะไรที่เราประทับใจ มันจะติดใจเราไปนานแสนนานแม้เราจะไม่ใช่คนมีความจำดี-๕๐ ปีแล้วผมยังจำบทนิยามที่ประทับใจนี้ได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้เปิดดูอีกเลย)

————–

ถ้าพจนานุกรมเป็นบุคคล ก็เป็นคนที่ผมเคารพยำเกรงเป็นอย่างยิ่ง ไม่กล้าแม้แต่จะสบตา ไม่ต้องเอ่ยถึงว่าจะกล้าพูดอะไรด้วย

ผมค่อยๆ เรียนรู้วิธีเปิดพจนานุกรม เริ่มตั้งแต่วิธีหยิบเล่มหนังสือมาถือในมือ ให้ฝ่ามือรับน้ำหนัก ให้สันหนังสืออยู่ระหว่างนิ้วชี้กับหัวแม่มือ ถ้าหนังสือเล่มใหญ่ถือไม่สะดวก จำต้องวางกับพื้นก็อย่าแบะหน้าหนังสือจนแบราบ ต้องประคองให้หนังสือแบะออกแต่พอดีพออ่านได้ จะช่วยถนอมหนังสือไม่ให้ปกหลุดเล่มชำรุดเสียหายก่อนอายุอันควร

เฉพาะพจนานุกรม วิธีเปิดหาคำที่ต้องการต้องรู้จักคะเนลำดับของคำว่า คำนี้อักษรตัวนี้ควรจะอยู่ในตอนไหนของเล่ม ต้นเล่ม กลางเล่ม หรือท้ายเล่ม 

ไม่ใช่ว่าต้องการค้นคำว่า “หฤหรรษ์” แต่เปิดหาไปตั้งแต่หน้าแรก ก ไก่ นั่นคือต้องรู้ว่า ห หีบ จะอยู่ท้ายๆ เล่ม

นักเปิดพจนานุกรมบอกว่า เมื่อพจนานุกรมอยู่ในมือ เปิดไปหน้าที่กะไว้ ไม่เกิน ๓ ครั้ง ต้องเจอคำที่ต้องการ นั่นจึงจะถือว่าเป็นมืออาชีพ

————–

ผมไม่ใช่คนมีความรู้ทางภาษามากอย่างที่หลายท่านเข้าใจ เพียงแต่ผมอาจจะขยันเปิดพจนานุกรมมากหน่อยเท่านั้น บาลีวันละคำที่ผมเขียนทุกวันนั้นผมเปิดตำราเขียนทุกคำ และซึมซับรับความรู้จากตำราไปพร้อมๆ กัน 

เปรียบเหมือนแกงที่ตักใส่ชามไปวางไว้บนโต๊ะ พร้อมกิน แต่ถ้าใครไปดูในครัวจะเห็นเบื้องหลังแกงในชามนั้นเกะกะเต็มครัวไปหมด ฉันใด

บาลีวันละคำที่ญาติมิตรได้อ่านแต่ละคำ ผมก็มีกระดาษทด มีข้อมูลจากพจนานุกรมเล่มนั้นเล่มโน้นขยุกขยิกอยู่เต็มไปหมดฉันนั้น

แม้แต่ภาษาไทยคำง่ายๆ ถ้าไม่แน่ใจว่าสะกดอย่างไรแน่ ผมจะต้องเปิดพจนานุกรมก่อนเสมอ อย่างคำว่า กระทะ กับ กะทิ คำไหนเป็น กระ- คำไหนเป็น กะ- ผมมักจะสับสน ก็ต้องเปิดกันอยู่เรื่อย

เห็นคนสมัยนี้เขียนคำผิด อย่าง อนุญาติ สถิตย์ ไปสู่สุขคติ รู้เลยว่าท่านเหล่านั้นไม่ช่างสงสัย และไม่ขยันเปิดพจนานุกรม

————–

เมื่ออยู่ด้วยกันกับพจนานุกรมนานวันเข้า ได้เห็น ได้สัมผัสมากเข้า ผมก็ค่อยมีความกล้ามากขึ้นที่จะพูดจะคุยด้วย จนกระทั่งกล้าที่จะถกเถียงอภิปรายด้วย

เช่นคำว่า “ปัจจุสมัย” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ สะกดแบบนี้ ตอนนั้นผมยังไม่กล้าพูด แต่มาถึงบัดนี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ก็ยังสะกดแบบนี้ ผมก็บอกว่าผมไม่เห็นด้วย 

เพราะคำนี้เอาคำว่า “ปัจจูส” (เวลาเช้าตรู่) กับคำว่า “สมัย” มาประสมกัน ส เสือ เป็นอักษรที่มีอยู่ในแต่ละคำ ไม่ใช่เป็นตัวสะกดในคำเดียวกันที่มักจะตัดออกตัวหนึ่งตามหลักนิยมในภาษาไทย

“ปัจจุสมัย” สะกดอย่างนี้แยกศัพท์ไม่ได้ 

ปัจจุส + มัย ก็ผิด เพราะ -มัย ไม่มี มีแต่ -สมัย

ปัจจุ + สมัย ก็ผิด เพราะ ปัจจุ- ไม่มี มีแต่ ปัจจุส-

ปัจจุส + สมัย = ปัจจุสสมัย จึงจะถูกต้อง

เพราะฉะนั้น คำนี้ต้องมี ส เสือ ๒ ตัว

เทียบคำไทยพอให้เห็นชัด เช่นพูดว่า –

นาย เอ ได้รับเงินเดือนเดือนละสองหมื่น

ถ้าใครเห็นว่ามีคำว่า “เดือน” ซ้ำกัน ๒ คำ จึงตัดออก 

เป็น- “ได้รับเงินเดือนละสองหมื่น” 

จะแยกคำอย่างไร

ได้รับเงินเดือน + ละ (อะไร -ละ)

ได้รับเงิน + เดือนละ (เงิน-อะไร)

เพราะฉะนั้น ต้องพูดว่า “ได้รับเงินเดือนเดือนละ” จึงจะถูกต้อง

ฉันใดก็ฉันนั้น

แต่แม้ว่าบัดนี้ผมจะกล้าเถียงพจนานุกรม แต่ผมก็ยังเคารพพจนานุกรมเหมือนที่เคยเคารพมาในอดีต

ตรงนี้ต่างจากบางท่าน 

คือบางท่านหลายท่านบอกว่า พจนานุกรมไม่ใช่กฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงใช้บังคับในการเขียนหนังสือของคนไทยไม่ได้ 

หมายความว่าจะมาบังคับให้ต้องสะกดตามพจนานุกรมนั้นไม่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงมีอิสระในการที่จะสะกดคำนั้นคำนี้คำโน้นตามที่ข้าพเจ้าเห็นชอบ

นักเขียนใหญ่ท่านหนึ่ง สะกดคำว่า “นาที” เป็น “นาฑี” ทุกแห่งในหนังสือของท่านเพราะท่านเชื่อว่าคำนี้ต้องใช้ ฑ มณโฑ จึงจะถูก

หลายท่านเขียนคำว่า “ทูต” เป็น “ฑูต” ด้วยเหตุผลเดียวกัน

เวลานี้มีผู้บอกว่าคำว่า “อนุญาต” ใครจะสะกดเป็น “อนุญาติ” ก็ไม่ผิด เพราะพจนานุกรมไม่ใช่กฎหมายประการหนึ่ง และเพราะคนทั่วไปนิยมสะกดอย่างนี้อีกประการหนึ่ง

แล้วก็อย่างที่ผมเพิ่งเขียนไปเมื่อสองสามวันมานี้ คือ คำว่า “จำวัด” (พระนอนหลับ) มีผู้บอกว่า จะใช้หมายถึงพระอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง อย่างที่สื่อมวลชนทั้งหลายนิยมใช้ ก็ไม่เห็นจะผิดอะไร เพราะพจนานุกรมไม่ใช่กฎหมายประการหนึ่ง และเพราะสื่อนิยมใช้ อีกทั้งคนทั่วไปก็เข้าใจเช่นนั้นแล้วอีกประการหนึ่ง

————–

พจนานุกรมไม่ใช่กฎหมายตามตัวหนังสือหรือนิยามของคำว่า “กฎหมาย” ก็จริง แต่พจนานุกรมเป็นมาตรฐานร่วมกันของการเขียนหนังสือ 

การเคารพมาตรฐานร่วมกันเป็นความจำเป็นข้อแรกสุดและสำคัญที่สุดของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม

ผมไม่เห็นด้วยกับพจนานุกรมที่สะกดคำว่า “ปัจจุสมัย” มี ส เสือตัวเดียว และผมยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่าคำนี้ต้องมี ส เสือ ๒ ตัวจึงจะถูกต้อง

แต่เมื่อผมจะเขียนคำนี้ ผมก็สะกดเป็น “ปัจจุสมัย” ส เสือตัวเดียว ตามพจนานุกรมทุกครั้งไป

คุณครูอบ ไชยวสุ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ครูภาษาไทยที่เชี่ยวชาญ ท่านสะกดคำตามพจนานุกรมอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งมีผู้กระแนะกระแหนว่าเป็นพวก-พจนานุกรมัง สรณัง คัจฉามิ 

ท่านแสดงมติไว้ว่า เมื่อเรามีพจนานุกรมเป็นมาตรฐานแล้วก็สมควรเขียนตามพจนานุกรม 

ท่านว่าไว้ในหนังสือ “สะกดให้ถูกตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ว่า –

“โบราณท่านประณีตในการเขียนหนังสือสวย

ปัจจุบันเรามาช่วยกันประณีตทางสะกด”

บางคนสมัยคุณครูอบก็มีความคิดเหมือนบางคนในสมัยนี้ ที่ว่าพจนานุกรมไม่ใช่กฎหมาย บางคนก็ยืนยันว่าพจนานุกรมเองก็ไม่ใช่ว่าจะถูกต้องไปทั้งหมด จึงไม่จำเป็นจะต้องตามพจนานุกรมไปเสียทุกเรื่อง

กรณีนี้คุณครูอบท่านให้หลักไว้ว่า ใครไม่เห็นด้วยกับพจนานุกรม หรือเห็นว่าพจนานุกรมผิดตรงไหน วิธีที่ถูกต้องก็คือเสนอความเห็นแย้งไปที่ราชบัณฑิตยสถานว่า คำนั้นผิดอย่างนั้นๆ ที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ๆ ด้วยเหตุผลอย่างนี้ๆ เมื่อราชบัณฑิตยฯ ได้พิจารณาแล้วและเห็นด้วยกับคำแย้ง สั่งให้แก้คำนั้นให้เป็นอย่างนั้นๆ ตามที่เสนอแย้งนั่นแล้ว เราจึงค่อยชวนกันเขียนตามที่แก้นั้น

ถ้าใครเห็นว่าควรเขียนอย่างไรก็เขียนไปตามที่ตนเห็นควร ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่า “การจลาจลทางภาษา” ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์เลย

————–

ความบกพร่องของพจนานุกรมนั้นเราช่วยกันแก้ไขได้ และต้องช่วยกันแก้ไข ผมเชื่อว่า ราชบัณฑิตยฯ ผู้จัดทำพจนานุกรมไม่ได้มีแต่คนหูหนวกตาบอดที่ไม่ฟังใคร

แต่คนที่อยู่ร่วมกับสังคม แต่ไม่เคารพกติกาสังคม ไม่เคารพมาตรฐานเดียวกันนั้น น่ากลัวกว่าคนหูหนวกตาบอดหลายเท่านัก

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ เมษายน ๒๕๕๙

๑๓:๑๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *