บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จาก ม.๗ ถึงนายกรัฐมนตรีไทย-ถ้าไม่ใช่พุทธ

จาก ม.๗

———-

ถึงนายกรัฐมนตรีไทย-ถ้าไม่ใช่พุทธ

———-


เมื่อวาน (๑๗ มกราคม ๒๕๕๙) ผมมีภารกิจทางสังคมที่จะต้องปฏิบัตินอกบ้าน เสร็จกิจแล้วได้สนทนากับเพื่อนร่วมทางระหว่างนั่งรถกลับบ้านถึงเรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชซึ่งกำลังมีกรณีเยื้องแย้งกันอุตลุดอยู่ในขณะนี้

เพื่อนร่วมทางเสนอให้ศึกษามาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕

………..

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ฉบับเดิม มาตรา ๗ บัญญัติไว้สั้นๆ ว่า

—————

“พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช”

—————

ไม่ได้บอกวิธีสถาปนาว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ใครจะเป็นผู้เริ่มต้น

ผมเข้าใจว่า ขั้นตอนก็คือ เมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง พระมหากษัตริย์ก็จะตรัสสั่งลงมาว่ามีพระราชประสงค์จะทรงสถาปนาพระภิกษุรูปใดให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงจะไปดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ตามแบบธรรมเนียม ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ต่อไป

นี่คือที่พูดกันว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

ครั้นต่อมา ถึงปี ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ มาตรา ๗ ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ ข้อความเป็นดังนี้ –

—————

มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

—————

กรุณาอ่านอย่างน้อยสัก ๒ เที่ยว

จะเห็นว่า มาตรา ๗ ที่แก้ไขใหม่นี้บอกไว้ค่อนข้างชัดเจน คือ

๑ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชได้เพียงองค์หนึ่ง นั่นคือคณะสงฆ์ไทยจะมีสมเด็จพระสังฆราชในเวลาเดียวกันมากกว่าองค์หนึ่งไม่ได้

๒ ขั้นตอนในการดำเนินการเริ่มต้นด้วย-นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ – หมายความว่า 

(๑) ใครอื่นจะเป็นผู้เสนอไม่ได้ แม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเสนอ ผู้เสนอได้มีนายกรัฐมนตรีคนเดียว 

(๒) นามที่ถูกเสนอจะเป็นพระภิกษุทั่วๆ ไปไม่ได้ ต้องเป็นพระภิกษุที่ดำรงสมณศักดิ์ “สมเด็จพระราชาคณะ” เท่านั้น

(๓) แม้ในหมู่สมเด็จพระราชาคณะนั่นเอง จะเสนอรูปไหนตามความพอใจก็ไม่ได้ ต้องเสนอเฉพาะสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด

(๔) และสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด ต้องสูงสุดโดยสมณศักดิ์ คือได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะก่อน ไม่ใช่สูงสุดโดยพรรษา คือบวชก่อน (ตามหลักพระธรรมวินัย ภิกษุเคารพกันตามลำดับพรรษา คือผู้บวชทีหลังเคารพผู้บวชก่อน)

(๔) นายกรัฐมนตรีต้องเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะดังกล่าวนั้นไปให้มหาเถรสมาคมพิจารณาก่อน ไม่ใช่นำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยตรง

(๕) เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นชอบด้วยแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อไป

—————

ชัดเจนแล้วนะครับว่า ขั้นตอนของการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชต้องทำอย่างไร

ขอความกรุณานำไปตรวจสอบกับพฤติการณ์-เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่า –

ใครทำอะไรไปแล้วอย่างไร 

ถูกตามขั้นตอนหรือผิดขั้นตอน 

รวมทั้งประเด็นที่ว่ากฎหมายข้อนี้ไปขัดหรือแย้งกับกฎหมายข้อไหนบ้างหรือไม่

ตรวจสอบกับหลักการแล้ว เราก็จะเข้าใจได้ และกำหนดท่าทีของตนเองได้ถูกว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร หรือแม้กระทั้งควรหรือไม่ควรที่จะแสดงความเห็นว่าอย่างไร

—————

ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนก็คือ –

๑ นายกรัฐมนตรีจะต้องเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะภายในเวลาไหน คือตั้งแต่เมื่อไรถึงเมื่อไร (บางกรณี กฎหมายจะกำหนดเงื่อนเวลาไว้ชัดเจน)

๒ ถ้าเกิดนายกรัฐมนตรีไม่เสนอ จะด้วยเหตุอะไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไปจะให้ใครทำอย่างไร

๓ เสนอไปแล้ว (ตามขั้นตอนข้างต้น) ถ้ามหาเถรสมาคมไม่เห็นชอบ จะต้องทำอย่างไร

๔ เสนอไปแล้ว ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย คือไม่ทรงประกาศสถาปนา จะต้องทำอย่างไร

ประเด็นเหล่านี้ อาจจะมีข้อกำหนดไว้แล้วก็ได้ 

ขอแรงญาติมิตรที่ทราบเรื่องกรุณานำข้อมูล (ถ้ามี) มาเสนอสู่กันฟังด้วยครับ

—————

ทั้งหมดที่เขียนมานี้มิได้มีความประสงค์จะทะเลาะทุ่มเถียงกับใคร เพียงแต่นำข้อมูลมาวางไว้ให้ช่วยกันพิจารณาเท่านั้น

ผมเข้าใจว่าที่ทำกันมาแล้วและที่คิดจะทำกันต่อไป หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถูกต้อง 

เป็นเหตุให้สนับสนุนหรือค้านแบบไม่มีฐานยืน

—————

แง่มุมที่ผมเกิดความคิดขึ้นมาในเวลานี้ก็คือ ในอนาคต ถ้านายกรัฐมนตรีไทยไม่ใช่ชาวพุทธ เช่นถ้านายกรัฐมนตรีเป็นมุสลิม แล้วมีกรณีที่จะต้องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเกิดขึ้น – ภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไร?

จะพูดได้ไหมว่า สมเด็จพระสังฆราชแห่งคณะสงฆ์ไทยนั้นมุสลิมเป็นคนเสนอตั้ง?

หรือว่า-จะพูดเช่นนั้นไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่ได้เสนอในฐานะเป็นมุสลิม แต่เสนอในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี

แล้วถ้าเกิดนายกรัฐมนตรีมุสลิมท่านนั้น (ถ้ามี) ท่านอ้างว่า ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชขัดต่อหลักศาสนาของท่าน จะทำอย่างไร

หรือถ้าเกิดนายกรัฐมนตรีมุสลิมคิดไกลไปอีกว่า การมีคณะสงฆ์อยู่ในประเทศไทยขัดต่อหลักศาสนาของท่าน จะทำอย่างไร

ก็เหมือนกับเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว-กรณีที่นายอำเภอบางคนที่เป็นมุสลิม หรือรัฐมนตรีบางคนที่เป็นมุสลิม ท่านบอกว่า พระพุทธรูปอยู่ตรงนั้นขัดต่อหลักศาสนาของท่าน ท่านจึงสั่งให้เอาไปไว้ที่อื่น

ถ้าถ้าเกิดนายกรัฐมนตรีมุสลิม (ถ้ามี) ท่านสั่งให้เอาสมเด็จพระสังฆราชไปไว้ที่อื่น สั่งให้เอาคณะสงฆ์ไทยไปไว้ที่อื่น

จะทำอย่างไรกัน

ขอย้ำว่าผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดมิได้มีความประสงค์จะทะเลาะทุ่มเถียงกับใคร หรือต้องการจะเปิดประเด็นเพื่อให้แตกแยกใดๆ ทั้งสิ้น

ผมเพียงแต่ชวนให้คิดกันไว้ เพราะกรณีที่ว่านี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเมืองไทยในไม่ช้าไม่นานอย่างแน่นอน 

เมื่อถึงเวลานั้นจะได้ไม่ต้องมานั่งงงว่าจะทำอย่างไรกันดี

ศึกษามาตรา ๗ แล้วคิดเบ็ดเสร็จไปถึงนายกรัฐมนตรี

เป็นหน้าที่ของเรา

ดีกว่ามัวแต่ไปเชียร์ฝ่ายนั้น ค้านฝ่ายนี้

ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของเรา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๘ มกราคม ๒๕๕๙

๑๗:

———

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔

ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘/หน้า ๑๓๙๑ – ๑๔๑๐/๑๔ ตุลาคม ๒๔๘

หมวด ๑

สมเด็จพระสังฆราช

มาตรา ๕ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

——–

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ฉบับเดิม

หมวด ๑

สมเด็จพระสังฆราช

มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ฉบับแก้ไข พ.ศ.๒๕๓๕

หมวด ๑

สมเด็จพระสังฆราช

มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบ

ของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้

ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

(มาตรา ๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕)

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว สมควรปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช การแต่งตั้งและถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุอำนาจหน้าที่และการปฏิบัติหน้าที่ของมหาเถรสมาคม การปกครอง การสละสมณเพศของคณะสงฆ์และคณะสงฆ์อื่น วัด การดูแลรักษาวัด ทรัพย์สินของวัด และศาสนสมบัติกลาง ตลอดจนปรับปรุงบทกำ หนดโทษให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน จึงจำ เป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *