มุมอับของสังคมเรา
มุมอับของสังคมเรา
——————-
เวลาไปวัด ไม่ว่าจะไปทำบุญวันพระอยางวันนี้ (๖ มกราคม ๒๕๖๔ แรม ๘ ค่ำ เดือนยี่) หรือแวะเข้าไปไหว้พระในวันธรรมดาที่เดินออกกำลังตอนเช้า ผมชอบแวะเวียนไปทางห้องน้ำ ดูว่ามีใครเปิดน้ำเปิดไฟทิ้งไว้บ้างหรือเปล่า
ห้องน้ำในวัดที่ไม่หวงห้ามคนทั่วไปมักมีปัญหาคนเปิดน้ำเปิดไฟทิ้งไว้
กับอีกอย่างหนึ่ง คือขันที่ตักน้ำ เมื่อเสร็จกิจแล้วคนส่วนใหญ่จะวางหงายไว้หรือปล่อยลอยแช่อยู่ในอ่างน้ำ
ผมได้รับการอบรมสั่งสอนมาว่า ขันน้ำในห้องห้องน้ำเมื่อเสร็จกิจแล้วให้วางคว่ำลงบนขอบอ่างหรือในที่ที่เหมาะสม อย่าวางหงาย และอย่างลอยไว้ในอ่าง เหตุผลก็คือขันจะได้แห้งสะอาด พร้อมใช้ในคราวต่อไป ทั้งเป็นการยืดอายุการใช้งานได้ด้วย
ปัจจุบันห้องน้ำตามวัดบางแห่งอาจเปลี่ยนไปใช้แบบฉีดน้ำแทนตักน้ำราด ก็แก้ปัญหาลักษณะนิสัยการใช้ขันในห้องน้ำไปได้ แต่ที่ยังเป็นแบบตักน้ำราดก็ยังต้องมีปัญหาต่อไป ปัญหาเปิดน้ำทิ้งไว้ก็ยังพบเสมอ
แต่ที่พบประจำก็คือเปิดไฟทิ้งไว้ ไฟที่เปิดทิ้งไว้นั้นไม่ใช่เปิดเพราะลักษณะห้องน้ำบางแห่งจำเป็นต้องมีแสงสว่างตลอดเวลา แต่จะเปิดเฉพาะเวลากลางคืน พอสว่างก็ปิด
ปัญหาก็คือสว่างแล้วก็ยังไม่มีใครปิด บางทีเปิดทิ้งไว้ครึ่งวันค่อนวันหรือเปิดไว้ทั้งวันทั้งๆ ที่สว่างแล้วและเวลานั้นก็ไม่มีใครมาใช้ห้องน้ำ
บางที (และน่าจะเป็นส่วนมาก) ผู้เข้ามาใช้ห้องน้ำนั่นเองพอเข้ามาก็เปิดไฟ แต่พอเสร็จกิจแล้วออกไปก็ลืมปิด หรือไม่ลืม แต่ไม่ใส่ใจที่จะปิดเพราะเป็นคนนิสัยหยาบ
ผมมักจะต้องปิดไฟที่เปิดทิ้งไว้แบบนี้เสมอ พร้อมกับคิดว่า-นี่ถ้าผมไม่มาปิด ก็คงเปิดอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน
น้ำ-ไฟที่รั่วไหลไปโดยเปล่าประโยชน์เช่นนี้คงไม่ใช่มีวัดเดียว ถ้าเอาทุกวัดทั้งประเทศมารวมกันเข้าคงมีปริมาณมหาศาล เป็นการพล่าผลาญทรัพยากรโดยที่ไม่มีใครรู้สึกถึงความสิ้นเปลืองใดๆ
ผมคิดต่อไปถึงปฏิปทาของหลวงปู่-พระครูขันตยาภิรัต เจ้าอาวาสวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี พระอุปัชฌาย์บวชเณรให้ผม กิจที่หลวงปู่ทำเป็นประจำคือเดินตรวจรอบๆ วัดตอนเช้ามืดทุกวัน หลวงปู่จะให้พระ เณร หรือเด็กวัดคนหนึ่งเดินตามท่านไปด้วยเสมอ
ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าทำไม แต่มาคิดดูตอนนี้ พอเข้าใจได้ นั่นคือถ้าเกิดไปเจอเหตุอะไรเข้าก็จะได้ให้ผู้เดินตามนั้นช่วยแก้ไข อีกทั้งยังเป็นการ “ฝึกงาน” ให้อย่างวิเศษที่สุด พระรุ่นหลังได้แบบอย่างจากหลวงปู่ไปโดยทั่วกัน
เท่าที่สดับมา เจ้าอาวาสยุคเก่าท่านทำแบบนี้ทั้งนั้น-เดินตรวจวัดตอนเช้าๆ อะไรที่ใครหลงลืมทำไว้ตั้งแต่กลางคืนจึงมีโอกาสได้รับการแก้ไขตั้งแต่เช้า
ผมไม่แน่ใจว่าเจ้าอาวาสสมัยนี้ยังใช้ปฏิปทาแบบเจ้าอาวาสรุ่นเก่ากันอยู่บ้างหรือเปล่า หรือจะอ้างอีกว่า-สังคมเปลี่ยนไป ยุคสมัยเปลี่ยนไป จ้างคนมาเป็นเวรยามสะดวกกว่ากันเยอะ แบบเดียวกับจ้างคนกวาดวัดสบายกว่าพระเณรกาดเองเยอะเลย
ผมยังคิดเล่นๆ ต่อไปอีกว่า ถ้าคณะสงฆ์หรือมหาเถรสมาคม-โดยประธานกรรมการมหาเถรสมาคม-จะกรุณาออกคำสั่งให้วัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรกวดขันการรั่วไหลของพลังงานน้ำ-ไฟภายในวัด และให้วัดต่างๆ ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดจริงจังเสมอไปตลอดไป (ไม่ใช่สั่งทีก็ทำที) ไม่ต้องรอให้เกิดวิกฤตพลังงานขึ้นเสียก่อนจึงค่อยคิดทำ พระศาสนาก็จะช่วยชาติบ้านเมืองประหยัดพลังงานไปได้เป็นอันมาก
แต่ก็ตรงนี้แหละครับที่ผมตั้งชื่อบทความนี้ว่า “มุมอับของสังคมเรา” นั่นก็คือ สังคมเราให้ความสำคัญแก่ “ใคร” มากกว่า “อะไร” หรืออันที่จริงให้ความสำคัญแก่ “ใคร” อย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่ให้ความสำคัญแก่ “อะไร” เลย
อย่างกรณีที่ผมเล่าและเสนอแนวคิดมานี้ เราก็จะถามกันแต่เพียงว่า ใครคิดใครเสนอ ถ้าคนคิดเป็นคนสำคัญในบ้านเมือง ก็จะมีคนลุกขึ้นมารับเอาความคิดนั้นไปทำอย่างกุลีกุจอ หรืออย่างหัวซุกหัวซุน หรืออย่างเอาเป็นเอาตาย โดยแทบจะไม่ได้สนใจเลยแม้แต่น้อยว่าความคิดนั้นดีอย่างไรหรือด้อยอย่างไร
แต่ถ้าคนคิดคนเสนอเป็นใครสักคนที่เป็นคนธรรมดา แม้ความคิดนั้นจะดีวิเศษ ทำแล้วเกิดคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่มหาศาลสักเพียงไรก็ตาม ก็จะไม่มีใครสนใจแต่อย่างใดทั้งสิ้น
มิหนำซ้ำ ผู้อยู่ในตำแหน่งบริหารส่วนใหญ่มักคิดว่า การทำตามข้อเสนอแนะของคนอื่น-โดยเฉพาะคนที่อยู่ต่ำกว่าตน-เป็นการเสียเกียรติ
ไม่มีใครคิดอยากจะออกจากมุมอับนี้กันบ้างเลยหรือ?
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๖ มกราคม ๒๕๖๔
๑๑:๒๐
…………………………….
…………………………….