สิทธิบัตร (บาลีวันละคำ 4,222)
สิทธิบัตร
บัตรที่บอกว่าข้ามีสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว
อ่านว่า สิด-ทิ-บัตร
ประกอบด้วยคำว่า สิทธิ + บัตร
(๑) “สิทธิ”
บาลีเขียน “สิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า สิด-ทิ รากศัพท์มาจาก สิธฺ (ธาตุ = สำเร็จ) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ
: สิธฺ + ติ = สิธฺติ (แปลง ติ เป็น ทฺธิ) > สิธฺทฺธิ (ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ) > สิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสำเร็จ” หมายถึง การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สิทธิ, สิทธิ์ : (คำนาม) อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้. (ป., ส.); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อำนาจที่กฎหมายรับรองให้กระทำการใด ๆ โดยสุจริตได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคนอื่น. (อ. right).”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิทฺธิ” เป็นอังกฤษว่า accomplishment, success, prosperity (การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง)
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งฝรั่งชาติอังกฤษเป็นผู้ทำ ไม่ได้แปล “สิทฺธิ” ว่า right
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สิทฺธิ” 3 คำ ขอยกมาเสนอเทียบกันดูคำหนึ่ง ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สิทฺธิ : (คำนาม) ‘สิทธิ,’ ความบัลลุถึงผลสำเร็จ, วิภูษณาธิคมหรืออลังการลาภ; ปรมคติหรือความสิ้นชาติ, บรมสุข; บุณโยทัย, ความสมมโนรถ; วิทยา, พุทธิ; ความถูกต้องหรือถ่องแท้; ปราลพย์หรือความชอบธรรม (ในธรรมนีติ); การชำระณี่ (หรือหนี้); การปิดงำไว้เปนความลับ; ผลของการบูชาเทวดา; เขียงเท้า; เอาษธียมูล, รากไม้อันเปนยา; ความสำคัญใจว่าบัลลุถึงทิพยศักดิ์โดยเรียนจบมายาวิธี; accomplishment, ornamental acquirement; final emancipation from existence, supreme felicity; prosperity, success; knowledge, understanding; accuracy or correctness; validity (in law); discharge of a dept; concealment; the result of adoration of the gods; a wooden slipper; a medicinal root; the supposed acquirement of supernatural power of the completion of magical processes.”
(๒) “บัตร”
บาลีเป็น “ปตฺต” อ่านว่า ปัด-ตะ รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ต ปัจจัย
: ปตฺ + ต = ปตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน”
“ปตฺต” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ปีกนก, ขนนก (the wing of a bird, a feather)
(2) ใบไม้ (a leaf)
(3) แผ่นโลหะบางๆ เล็กๆ ที่พิณ (a small thin strip of metal at the lute)
บาลี “ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปตฺร : (คำนาม) ‘บัตร์’ ใบ, แผ่น; ยานทั่วไป; หางนก; ภู่ศร, ภู่หรือขนนกอันท่านติดไว้ที่ลูกศรหรือลูกดอก; ใบนารล, ‘นารลบัตร์’ ก็เรียก; ใบหนังสือ; ทองใบ; ฯลฯ ; ธาตุทั่วไปอันแผ่แล้วเปนแผ่นบาง; จดหมาย; ลายลักษณ์อักษรทั่วไป; a leaf; a vehicle in general; the wing of a bird; the feather of an arrow; the leaf of the Laurus cassia; the leaf of a book, goldleaf &c.; any thin sheet or plate of metal; a letter; any written document.”
เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า ปตฺต > ปตฺร ใช้ในภาษาไทยว่า บัตร
คำว่า “บัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บัตร : (คำนาม) แผ่นเอกสารแสดงสิทธิของผู้ใช้เป็นต้น มักทำด้วยกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เช่น บัตรประจำตัว บัตรเลือกตั้ง บัตรสมนาคุณ; ภาชนะทำด้วยกาบกล้วย เป็นรูปกระบะสำหรับวางเครื่องเซ่นสังเวย; ใบไม้, กลีบดอกไม้ เช่น ปทุมบัตร; ขนปีก, ปีก เช่น หากันกระสันโบย บัตรเรียกมารังเรียง (สมุทรโฆษ). (ส. ปตฺร; ป. ปตฺต).”
สิทธิ + บัตร = สิทธิบัตร อ่านว่า สิด-ทิ-บัด แปลตามศัพท์ว่า “ใบแสดงสิทธิ์”
ขยายความ :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“สิทธิบัตร : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามที่กำหนดโดยกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร. (อ. patent).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็นดังนี้ –
“สิทธิบัตร : : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์. (อ. patent).”
“สิทธิบัตร” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า patent
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล patent เป็นไทยดังนี้ –
1. พระบรมราชานุญาตที่พระราชทานแก่ห้างร้านขายของ = letters patent (เลท-เทิส แพท-เอ็นท)
2. จดทะเบียน (เครื่องประดิษฐ์), สิทธิประกอบประดิษฐกรรมแต่ผู้เดียว, เนรมิตกรรมที่จดทะเบียน, สิทธิบัตร, เครื่องหมาย
3. รู้กันทั่วไป, ประจักษ์, แจ้ง
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล patent เป็นบาลีดังนี้:
(1) asādhāraṇādhikāra อสาธารณาธิการ (อะ-สา-ทา-ระ-นา-ทิ-กา-ระ) = อำนาจที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งผู้อื่นไม่มีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้นได้
(2) supākaṭa สุปากฏ (สุ-ปา-กะ-ตะ) = เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี
(3) laddhabala ลทฺธพล (ลัด-ทะ-พะ-ละ) = ได้แรงสนับสนุน
แถม :
“สิทธิบัตร” มีความหมายบางแง่คล้ายกับ “ลิขสิทธิ์” พึงศึกษาเทียบเคียงกับความหมายของ “ลิขสิทธิ์” ตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ลิขสิทธิ์ : (คำนาม) สิทธิทางวรรณกรรม ศิลปกรรม และประดิษฐกรรม ซึ่งผู้เป็นต้นคิดได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) สิทธิแต่ผู้เดียวที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ที่ตนได้ทำขึ้น อันได้แก่ สิทธิที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำออกโฆษณา รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปทำเช่นว่านั้นด้วย. (อ. copyright).”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การหวงแหนเป็นวิสัยของโลก
: การแบ่งปันเป็นวิสัยของธรรม
#บาลีวันละคำ (4,222)
3-1-67
…………………………….
…………………………….