บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

มีค่าเพียงแค่เครื่องประดับอาคาร?

มีค่าเพียงแค่เครื่องประดับอาคาร?

———————————

ภาพประกอบเรื่องนี้เป็นภาพที่ญาติมิตรคนหนึ่งของผมท่านไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ แล้วนำมาโพสต์เมื่อ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑

ท่านบอกว่า …

เห็นองค์นี้แล้ว เหมือนโดนสะกด 

ดูเหมือนจะยิ้มให้ด้วยนะ 

ศิลปะเขมร ศตวรรษที่ ๑๒-๑๓

…………………

ผมบันทึกความรู้สึกของผมไว้ว่า …

ดูแวบแรก 

ก็เหมือนดูภาพของเก่าของโบราณทั้งหลาย 

คือรู้สึกขรึมขลังดี 

แต่พอดูนานๆ 

ดูไปคิดไป 

คิดไปดูไป 

เกิดความรู้สึกสงสารรูปเหล่านี้ 

คือคิดไปว่า รูปพวกนี้ต้นฉบับเดิมแท้ท่านสร้างไว้ที่ไหนกันหนอ 

แล้วการที่คนรุ่นเราไปเอามาประดับประดิษฐ์ไว้ตรงนี้ มันใช่แล้วหรือ – 

ก็คล้ายๆ เมื่อเห็นสัตว์ป่าในกรง 

รู้สึกว่ามันผิดที่ผิดทาง 

ประมาณนั้น

ถ้าคนรุ่นเราเก่งจริง 

ทำไมไม่หาวิธีนำไปติดตั้งไว้ตรงที่เป็นต้นกำเนิดเดิม 

ให้เขาอยู่ตรงที่เดิมที่เขาเคยอยู่ 

ถ้าพวกเราอยากดูก็พากันไปดู ณ ที่ดั้งเดิมนั้น 

ทำได้แบบนั้นจะไม่น่านับถือกว่าดอกหรือ 

ไม่ใช่ไปเอาเขามาขังไว้ในที่ที่เราสร้างขึ้นใหม่

การที่เที่ยวไปเก็บกวาดเอามาตั้งไว้ในที่ใหม่ตามแนวคิดของเรา มันน่าภาคภูมิใจตรงไหนกัน?

เวลาดูของในพิพิธภัณฑ์ ชักรู้สึกแบบนี้ 

ยิ่งพระพุทธรูปมีแต่พระเศียรตั้งอยู่ ดูแล้วสลดใจ 

แบบนั้นคือที่อันควรที่พระพุทธปฏิมาจะประดิษฐานแล้วหรือ 

เราเห็นพระพุทธรูปเป็นอะไรไป 

เครื่องประดับอาคารกระนั้นหรือ

จำได้ว่าสมัยที่พุทธมณฑลเปิดตัวครั้งแรก 

ที่อาคารหอประชุม 

เขาเอาพระพุทธรูปมาตั้งเป็นเครื่องประดับไว้ด้านนอกรอบๆ อาคาร – 

ดูลักษณะที่เอามาตั้ง เห็นเจตนาชัดเจนว่าตั้งไว้เป็นเครื่องประดับ (ตามแนวคิดฝรั่ง) 

เหมือนตามบ้านท่านผู้มีอันจะกินทั้งหลายที่นิยมเอาพระพุทธรูปตั้งเป็นเครื่องประดับห้องรับแขก

พระพุทธรูปเป็นเครื่องประดับห้องรับแขก-นั่นก็อีกอย่างหนึ่ง

ดูไปคิดไป 

แล้วก็รำพึงรำพันไป

ตามประสาคนมาจากวัดนะครับ

…………………

พระพุทธปฏิมานั้นคนคิดสร้างขึ้นก็เพื่อเป็นอุปกรณ์เครื่องช่วยในการเจริญพุทธานุสติ อันเป็นบุญกิริยาอย่างหนึ่ง

ถ้าคนที่คิดสร้างพระพุทธรูปเป็นคนแรกฟื้นขึ้นมาเห็นคนรุ่นเราเอาพระพุทธรูปเป็นเครื่องประดับห้องประดับอาคาร 

เขาคงต้องรีบตายกลับไปใหม่เป็นแน่ 

———————-

Pannarai Chuapibul

22 ชม. · 

๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑

เห็นองค์นี้แล้ว เหมือนโดนสะกด ดูเหมือนจะยิ้มให้ด้วยนะ ศิลปะเขมร ศตวรรษที่ ๑๒-๑๓

Asian Civilisations Museum สิงคโปร์

——-

ทองย้อย แสงสินชัย 

๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *