ภูริทัตโต (บาลีวันละคำ 2,779)
ภูริทัตโต
อ่านว่า พู-ริ-ทัด-โต
ประกอบด้วยคำว่า ภูริ + ทัตโต
(๑) “ภูริ”
อ่านว่า พู-ริ รากศัพท์มาจาก –
(1) ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ริ ปัจจัย
: ภู + ริ = ภูริ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่มีอยู่เป็นอยู่” “สิ่งที่มีอยู่” “สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่”
(2) ภู (แทนศัพท์ว่า “ภูต” = มีอยู่, เป็นอยู่) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + อิ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (รมฺ > ร)
: ภู + รมฺ = ภูรมฺ > ภูร + อิ = ภูริ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่ยินดีในประโยชน์ที่มีอยู่”
“ภูริ” (บาลีเป็น “ภูรี” อีกรูปหนึ่ง) (อิตถีลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) (เป็นคำนาม) ความรู้, ความเข้าใจ, พุทธิปัญญา (knowledge, understanding, intelligence)
(2) (เป็นคำนาม) โลก, แผ่นดิน (the earth)
(3) (เป็นคุณศัพท์) กว้าง, แผ่กว้าง, มากมาย, อุดม (wide, extensive, much, abundant)
(๒) “ทัตโต”
รูปคำเดิมเป็น “ทัตต” เขียนแบบบาลีเป็น “ทตฺต” (ทัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (ทา > ท), ซ้อน ตฺ; นัยหนึ่งว่า แปลง ทา กับ ต เป็น ทตฺต
: ทา > ท + ตฺ + ต = ทตฺต แปลตามศัพท์ว่า “อัน-ให้แล้ว”
– ใช้เป็นกริยาแปลว่า (สิ่งใดสิ่งหนึ่ง) อัน–ให้แล้ว (given or granted by –)
– ใช้ในฐานะเป็นนามหรือคุณศัพท์ หมายถึง สิ่งที่ให้, ของที่ให้หรือสังเวย, ของบริจาค (gift, donation, offering)
ภูริ + ทตฺต = ภูริทตฺต (พู-ริ-ทัด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “-อันปัญญาเพียงดังแผ่นดินให้แล้ว”
จินตนาการเป็นภาพว่า มีสิ่งหนึ่งเรียกชื่อว่า “ปัญญาเพียงดังแผ่นดิน”
ปัญญานั้นได้ยื่น “ภูริทตฺต” ให้แก่ชาวโลก
“ภูริทตฺต” จึงมีความหมายว่า “-อันปัญญาเพียงดังแผ่นดินให้แล้ว”
ถ้าเป็นสิ่งของ ก็แปลว่า “สิ่งอันปัญญาเพียงดังแผ่นดินให้แล้ว”
ถ้าเป็นบุคคล ก็แปลว่า “ผู้อันปัญญาเพียงดังแผ่นดินให้แล้ว”
“ภูริทตฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมิภัตติ) เอกพจน์ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ภูริทตฺโต” (ทตฺ– มีจุดใต้ ตฺ)
คำนี้ เขียนแบบบาลีเป็น “ภูริทตฺโต” เขียนแบบบาลีไทยหรือแบบคำอ่านเป็น “ภูริทัตโต”
ขยายความ :
คำว่า “ภูริทตฺต” นี้เป็นนามของพระโพธิสัตว์ในชุดพระเจ้าสิบชาติ ปรากฏในภูริทัตตชาดก คือพระพุทธเจ้าเมื่อเสวยพระชาติเป็นนาคราชนามว่า “ภูริทัต”
อรรถกถาภูริทัตตชาดก (ชาตกัฏฐกถา ภาค 10 หน้า 21) อธิบายความหมายของชื่อ “ภูริทัต” ว่า “ปฐวีสมาย วิปุลาย ปญฺญาย สมนฺนาคโต” แปลว่า “ผู้ประกอบด้วยปัญญาอันกว้างขวางเสมอด้วยแผ่นดิน” แต่ในเรื่องนั้นท่านมีชื่อว่า “ทตฺต” หรือ “ทัตตะ” อยู่ก่อนแล้ว คำว่า “ภูริทัต” จึงหมายความว่า “ทัตตะผู้ประกอบด้วยปัญญาอันกว้างขวางเสมอด้วยแผ่นดิน”
ในหมู่คนไทย เป็นที่เข้าใจกันว่า คำว่า “ภูริทัตโต” นี้เป็นนามฉายาของพระเถระรูปหนึ่ง ที่เราเรียกกันว่า “พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต”
ปีพุทธศักราช 2563 อันเป็นอภิลักขิตสมัย 150 ปี ชาตกาลพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศเกียรติคุณท่านให้เป็นบุคคลสำคัญ ผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลก สาขาสันติภาพ
คำประกาศเกียรติคุณนั้นเป็นภาษาที่ไพเราะ สมควรที่สาธุชนจะพึงสดับ ขอนำมาเสนอไว้ในที่นี้ ดังต่อไปนี้
…………..
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระมหาเถระในพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอุดมบัณฑิต ณ ปัจจุบันสมัย เป็นปูชนียาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของคณะสงฆ์ไทย เป็นพระวิปัสสนาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์กรรมฐาน เพียบพร้อมด้วยปรีชาญาณแห่งไตรสิกขา บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร สง่างามด้วยเนกขัมมปฏิบัติเป็นเนติแบบแผนอันโสภณของหมู่สงฆ์ ดำรงสมณคุณอดุลยกิตติประวัติ มั่นคงในอจลพรหมจริยาภิรัตมิหวั่นไหวต่อโลกามิส อุทิศสรรพกำลังเพื่อสั่งสอนการปฏิบัติสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา กระทั่งขยายอาณาแพร่หลายไปสู่มหาชนทั่วโลกในปัจจุบัน มิจำกัดแต่ภายในประเทศ หากแผ่เผยขอบเขตแห่งคุณานุคุณ ไปค้ำจุนความสงบร่มเย็นถึงไพรัชทวีป มีอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย ตลอดทั่วไปในภูมิภาคเอเชีย เป็นอาทิ
แม้หมู่ผู้มิได้เป็นสมาชิกแห่งพุทธบริษัท ครั้นได้น้อมนำคำสอนของท่านไปปฏิบัติตาม ก็บังเกิดความสงบพบวิธีทุเลาความเร่าร้อนในตัวตน คือสาเหตุซึ่งอำนวยผลเป็นหนทางใหม่ในชีวิต ผลิตสันติรสคือความสงบเยือกเย็นใจ เป็นที่ประจักษ์แจ้งอยู่ทั่วไปในหมู่ผู้ใฝ่ธรรม ฉะนี้แม้ที่สุดย่อมนำมาซึ่งสันติภาพแก่โลกได้อย่างยั่งยืน
ปฏิปทาและอนุศาสนีแห่งความสงบ เรียบง่าย สันโดษ ไม่เบียดเบียน มุ่งประโยชน์แห่งการดำรงชีวิตอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ ไม่เน้นสิ่งปลูกสร้างและถาวรวัตถุซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่น้อมจิตไปในทางขวนขวายทะเยอทะยานอยากได้ความสุขภายนอก อันจำต้องพึ่งพาวัตถุธรรม หากเน้นย้ำการรักษาจิตใจตนเอง ดูใจตนเอง ไม่เพ่งโทษโกรธขึ้งถึงความบกพร่องของผู้อื่น ชี้แนะวิธีบำบัดทุกข์ด้วยการลดละความโลภ ความโกรธ และความหลงออกจากใจตน ดำเนินอุบายโกศลให้มหาชนเข้าถึงความสงบด้วยการเจริญสมาธิ เป็นบาทฐานแห่งสติชอบอันประกอบด้วยปัญญา ครองจริยาอยู่ในระเบียบวินัย ส่งผลให้มนุษยชาติทุเลาการวิวาทบาดหมาง มุ่งบำเพ็ญเพียรเพื่อหนทางทุเลาความเร่าร้อนแห่งกิเลส เป็นเหตุให้ผู้คนหันมาสนใจศึกษาแนวทางที่ท่านได้ดำเนินนำ ศาสนธรรมอันท่านได้จุดประกายแห่งปัญญาไว้ แผ่ขยายความสว่างไสวออกไปสู่สังคมโลกได้จนปรากฏผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังเป็นคุรุฐานียบุคคลผู้ประเสริฐของพระเถรานุเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นต้นสายแห่งพระอาราม อาราม และสำนัก จำนวนเรือนพัน ซึ่งมีฉันทจริตติดตามต่อประทีปทางปัญญา มุ่งมั่นดำเนินกรณียกิจนานา เพื่อความวัฒนาสถาพรแห่งพระพุทธธรรม ให้กำจรไปสู่บรรดามหาชนทั่วไป ไม่จำกัดเพศ วัย เผ่าพันธุ์ วรรณะ ศาสนา และความเชื่อ เอื้อเฟื้อให้บังเกิดสันติภาพเอิบอาบดวงจิตของปัจเจกบุคคล ขยายผลไปสู่สันติภาพในโลกได้ตราบเท่าทุกวันนี้
โอวาทานุสาสนี วิถีจริยาสัมมาปฏิบัติ และกัลยาณประวัติอันงามพิสุทธิ์ ยังคงเสถียรสถิตประดิษฐานสมรรถภาพอันประเสริฐ เป็นบ่อเกิดแห่งความผาสุกสันติคุณแห่งมวลมนุษยชาติ ด้วยเหตุดั่งนี้ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ จึงประกาศเกียรติคุณ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลก สาขาสันติภาพ เนื่องในอภิลักขิตสมัย ๑๕๐ ปีชาตกาล
ขอกิตติประวัติอัจฉริยคุณแห่ง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จงดำรงอยู่คู่พระบวรพุทธศาสนา เป็นดวงประทีปทางปัญญาของชาวโลกสืบไป ตราบนิจนิรันดร
…………..
หมายเหตุ:
คำประกาศเกียรติคุณนี้คัดลอกจากโพสต์ของ Chakkrit Rachain Maneewan โพสต์เมื่อ 20 มกราคม 2563
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพราะรู้จบกระบวนจิตปิดอกุศล
: รู้อะไรในพิภพจบสกล
: ใจของตนไม่รู้จักก็ดักดาน
#บาลีวันละคำ (2,779)
21-1-63