บาลีวันละคำ

สังโยชน์ (บาลีวันละคำ 2,887)

สังโยชน์

อ่านว่า สัง-โยด

เขียนแบบบาลีเป็น “สํโยชน” อ่านว่า สัง-โย-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ยุชฺ (ธาตุ = ผูก, ประกอบ) + ยุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ยุ-(ชฺ) เป็น โอ (ยุชฺ > โยช), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สํ + ยุชฺ = สํยุชฺ + ยุ > อน = สํยุชน > สํโยชน แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิเลสที่ผูกใจสัตวโลก” (2) “กิเลสเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ” หมายถึง เครื่องผูก, พันธนาการ (bond, fetter)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังโยชน์ : (คำนาม) เครื่องพัวพัน, เครื่องผูกรัด, หมายเอากิเลสที่ผูกคนไว้กับวัฏสงสาร มี ๑๐ อย่าง มีสักกายทิฐิเป็นต้น พระอริยบุคคลเมื่อละสังโยชน์เป็นลําดับจนหมดก็เป็นพระอรหันต์. (ป. สํโยชน, สญฺโญชน; ส. สํโยชน).”

ขยายความ :

ขอนำข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [329] ว่าด้วย “สังโยชน์ 10” มาเสนอพอเป็นพื้นฐานแห่งความเข้าใจ ดังนี้

…………..

สังโยชน์ 10 กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับวัฏฏทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล (Saṃyojana: fetters; bondage)

ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5: (สังโยชน์เบื้องต่ำ เป็นอย่างหยาบ เป็นไปในภพอันต่ำ (Orambhāgiya~: lower fetters)

1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นตนเป็นต้น (Sakkāyadiṭṭhi: personality-view; false view of individuality)

2. วิจิกิจฉา ความสงสัย, ความลังเล ไม่แน่ใจ (Vicikicchā: doubt; uncertainty)

3. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงายเห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร (Sīlabbataparāmāsa: adherence to rules and rituals)

4. กามราคะ ความกำหนัดในกาม, ความติดใจในกามคุณ (Kāmarāga: sensual lust)

5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง (Paṭigha: repulsion; irritation)

ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5: สังโยชน์เบื้องสูง เป็นอย่างละเอียด เป็นไปแม้ในภพอันสูง (Uddhambhāgiya~: higher fetters)

6. รูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ (Rūparāga: greed for fine-material existence; attachment to realms of form)

7. อรูปราคะ ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ (Arūparāga: greed for immaterial existence; attachment to formless realms)

8. มานะ ความสำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ (Māna: conceit; pride)

9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน (Uddhacca: restlessness; distraction)

10. อวิชชา ความไม่รู้จริง, ความหลง (Avijjā: ignorance)

สังโยชน์ 10 ในหมวดนี้ เป็นแนวพระสูตร หรือ สุตตันตนัย แต่ในบาลีแห่งพระสูตรนั้นๆ มีแปลกจากที่นี้เล็กน้อย คือ ข้อ 4 เป็น กามฉันท์ ความพอใจในกาม (sensual desire) ข้อ 5 เป็น พยาบาท ความขัดเคือง, ความคิดร้าย (ill-will) ใจความเหมือนกัน

…………..

พึงทราบหลักต่อไปด้วยว่า สังโยชน์นี้ท่านยังใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการกำหนดภูมิแห่งพระอริยุคคล กล่าวคือ –

(1) พระโสดาบัน ละสังโยชน์ 3 ข้อต้นได้

(2) พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ 4 และ 5 ให้เบาบางลงด้วย

(3) พระอนาคามี ละสังโยชน์ 5 ข้อต้นได้หมด

(4) พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทางโลก ยิ่งรู้มากยิ่งถูกผูกมัด

: ทางธรรม ยิ่งรู้ชัดยิ่งหลุดพ้น

#บาลีวันละคำ (2,887)

8-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย