รับราชการอย่างไรให้เจริญก้าวหน้า
รับราชการอย่างไรให้เจริญก้าวหน้า
———————————–
ผมไม่เคยตั้งความหวังไว้ว่าจะรับราชการ
เมื่อออกจากวัดมาแล้วก็คิดอยากทำงานที่วาดฝันอย่างเดียว คืองานหนังสือพิมพ์
หนังสือพิมพ์ดังๆ ในสมัยนั้นผมไปสมัครมาหมดทุกฉบับ
แต่ไม่มีฉบับไหนรับ
ภาษาดอกไม้ที่ผมได้รับคือ “เขียนใบสมัครไว้ ว่างแล้วจะเรียก”
แต่ไม่มีฉบับไหนเรียก
โชคดีที่ผมได้ทำงานที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุเพื่อการค้นคว้าและเผยแผ่ทางพระพุทธศาสนา เป็นงานวิชาการที่ถนัดและใจรัก
มูลนิธิภูมิพโลภิกขุเป็นหน่วยงานเอกชน หัวฝรั่ง บริหารงานแบบฝรั่ง ฝึกให้เป็นคนสู้งาน ผมได้นิสัยทำงานเพื่องานมาจากที่นั่น
อยู่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ เกือบ ๔ ปี ผมไปสอบเข้ารับราชการที่หอสมุดแห่งชาติในตำแหน่งนักภาษาโบราณ
อยู่หอสมุดแห่งชาติ ๓ ปี ๔ เดือน ผมไปสอบเข้ารับราชการที่กองทัพเรือในตำแหน่งอนุศาสนาจารย์
อยู่กองทัพเรือจนเกษียณอายุราชการ
ในฐานะคนเคยทำงานเอกชนที่เขี้ยวลากดิน
เคยรับราชการพลเรือนที่-สบายๆ
และเคยรับราชการทหารที่เข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย
ผมคงมีสิทธิ์ที่จะเสนอคำแนะนำบางประการสำหรับคนที่เดินตามหลังผมมา-เน้นหนักในสายทหารซึ่งผมอยู่มานานที่สุด
คำแนะนำเพื่อการรับราชการที่เจริญกาวหน้า มีดังนี้ –
………………….
ข้อ ๑ จงยึดถือระเบียบวินัยขององค์กรให้มั่นคง
อย่ามองคน แต่จงมองกฎ
ตัวอย่างเช่น ทหารแต่งเครื่องแบบออกนอกอาคารต้องสวมหมวก นี่เป็นกฎ
มีทหารจำนวนหนึ่ง มีทั้งยศสูงทั้งยศต่ำ ที่แต่งเครื่องแบบไปไหนมาไหน ทั่วตลาด ทั่วบ้าน ทั่วเมือง โดยไม่สวมหมวก
เหมือนพระออกนอกวัดแต่ไม่ห่มคลุม ชักจะนิยมกันมากขึ้น
ท ทหารหมวกหาย-ผมไม่เคยประพฤติ ไม่เคยเอามาเป็นตัวอย่าง และไม่เคยบอกให้ใครถือเป็นตัวอย่าง
ถ้าจะเป็น ก็เป็นตัวอย่างในทางเลว
ใครทำก็ทำไป แต่ผมไม่ทำ
ตอนเป็นเรือโท วันหนึ่งผมเข้าเป็นนายทหารเวรประจำวัน พอสองทุ่ม ถอดเครื่องแบบได้ ผมสวมรองเท้าแตะเดินออกไปนอกกรม ผ่านประตูกองรักษาการณ์
ยามรักษาการณ์เรียกให้ผมหยุด ชี้ไปที่รองเท้า บอกว่าสวมรองเท้าแตะผ่านประตูนี้ไม่ได้ ผิดระเบียบ
ผมอายแทบแทรกแผ่นดินหนี
ผมย้อนกลับเข้าไปในกรม แต่งเครื่องแบบแล้วเดินออกไปใหม่ คราวนี้ทหารยามคนเดิมทำความเคารพผมอย่างเข้มแข็ง
ผมจำเป็นบทเรียนว่า ทำตามกฎ อย่าทำตามคน
………………….
ข้อ ๒ คำสั่งของผู้บังคับบัญชาคือประกาศิตสวรรค์
ทุกคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชาสั่งโดยชอบ อย่าตอบเป็นอันขาดว่า “ทำไม่ได้”
ถ้าทำไม่ได้จริงๆ จงตอบว่า “ขอรับไปศึกษารายละเอียดดูก่อน” แล้วพยายามพัฒนาตนเองจนสามารถปฏิบัติงานตามคำสั่งนั้นได้
นั่นคือ-อย่าบังอาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่จงจัดระเบียบของตัวเองเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ โดยร้องขอความเห็นใจจากผู้อื่นให้น้อยที่สุด
เมื่อเป็นนาวาโท ผมถูกส่งเข้าโรงเรียนหลักสูตรนายทหารอาวุโส ระยะเวลาศึกษา ๖ เดือน เวลาเรียนเต็มเหยียด-โดยเฉพาะวิชาสัมมนา ครูบาอาจารย์ควดจนไม่มีเวลากระดิกตัวไปทางไหนได้
ช่วงเวลานั้นเมืองไทยเรากำลังเตรียมการเฉลิมฉลองปีกาญจนาภิเษก เตรียมการจัดให้มีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีการสร้างเรือพระที่นั่งลำใหม่ในกระบวนพยุหยาตรา และมีการจัดประกวดกาพย์เห่เรือสำหรับเรือพระที่นั่งลำใหม่ มีประกาศเชิญชวนไปทั่วท้องน้ำ
วันหนึ่ง ผมเข้าไปที่กรมเพื่อค้นเอกสารบางเรื่องประกอบการเขียนข้อพิจารณาฝ่ายอำนวยการตามหัวข้อวิชาในหลักสูตร ผมได้รับทราบในวันนั้นว่าท่านเจ้ากรมมีคำสั่งด้วยวาจาให้นาวาโททองย้อยแต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวด
ผมนึกถึงภาพของเพื่อนอนุศาสนาจารย์ท่านหนึ่ง ประจำอยู่ที่กอง ลูกยังเล็ก ภรรยากำลังท้องแก่ ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการสนามชายแดนที่จังหวัดจันทบุรีเป็นเวลา ๑ ปี
สิ่งที่เพื่อนท่านนั้นทำก็คือ นั่งหงายศีรษะพิงเก้าอี้ เอามือก่ายหน้าผากอยู่ครึ่งวัน แล้วเดินทางไปปฏิบัติราชการตามคำสั่งโดยไม่ปริปากแม้แต่คำเดียว
ผมนับถือเป็นแบบอย่างมาจนถึงทุกวันนี้
ผมถอยหลังมาตั้งหลัก จัดระเบียบชีวิตของตัวเองใหม่เพื่อให้มีเวลาแต่งกาพย์เห่เรือเข้าประกวดตามคำสั่ง โดยที่การเรียนตามหลักสูตรก็ยังคงเป็นไปอย่างหนักหนาสาหัสเท่าเดิม
………………….
ข้อ ๓ จงอย่าทะเลาะกับผู้บังคับบัญชา กับผู้มียศสูงกว่า และถ้าเป็นไปได้-กับทุกคน
ในระบบทหาร มีหลักอยู่ว่า “ผู้บังคับบัญชาย่อมถูกเสมอ” และเมื่อใดที่ท่านบอกว่า “คุณผิด” จงอย่าได้บังอาจโต้แย้ง
คำว่า “ผมไม่ผิด” หรือ “ผมถูก ท่านผิด” ที่เราเป็นคนพูดนั้น ไม่มีข้อมูลในพจนานุกรมของผู้บังคับบัญชา
ผมจะถูกหรือผมจะผิด ให้ผู้บังคับบัญชาเป็นคนพูดเองดีที่สุด
วันหนึ่งผมเข้าเป็นนายทหารเวรประจำวัน รุ่งขึ้นนายทหารผู้ใหญ่ท่านหนึ่งท่านมาถึงกรมแต่เช้า ทหารเวรยังไม่ได้เปิดประตูห้องทำงานของท่าน ทำให้ท่านต้องรอเป็นเวลานาน พอท่านเข้าห้องได้ก็สั่งให้ไปตามนายทหารเวรประจำวันมาพบ
ผมถือหมวกเข้าไปชิดเท้าทำความเคารพ และยืนในท่าถือหมวกตรงหน้าโต๊ะทำงานของท่าน (ท่าถือหมวกทำอย่างไร ท่านที่เป็นทหารคงนึกภาพออก) ท่านเอะอะเอ็ดตะโรใส่ผมแบบไม่ยั้ง บรรยายความบกพร่องที่ไม่กำกับดูแลให้ทหารเวรเปิดห้อง แล้วสาธยายหน้าที่ของนายทหารเวรประจำวันยาวเหยียด บรรยายความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากความบกพร่องในหน้าที่ (เหมือนกับว่าความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้เกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น)
ผมยืนตรงอย่างสงบ ไม่เอ่ยถ้อยคำใดๆ สบตาท่านตลอดเวลาที่ท่านพูดบ่งบอกถึงความตั้งใจฟังและเต็มใจรับความผิดโดยไม่มีข้อโต้แย้ง
ท่านพูดคนเดียวอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง บ่นถึงการอบรมดูแลทหาร บ่นถึงความบกพร่องของหน่วยงานในวงกว้างออกไป ลงท้ายกลายเป็นการปรับทุกข์ถึงปัญหาต่างๆ ภายในกรม
ตลอดเวลานั้นผมพูดอยู่คำเดียวว่า “ครับผม”
ในที่สุด เหมือนกับเครื่องยนต์ที่ค่อยเย็นลงแล้ว ท่านคงจะรู้สึกได้ถึงอะไรบางอย่าง ท่านมองหน้าผมแล้วถามว่า “เอากาแฟสักถ้วยไหม”
นายทหารผู้ใหญ่ท่านนั้นเกษียณในชั้นยศพลเรือโท ก็นับว่าใหญ่พอสมควร ทุกครั้งที่ท่านเข้ามาในกองทัพเรือและเจอผม ท่านจะทักทายพูดคุยอย่างเป็นกันเอง และที่สำคัญท่านเรียกผมว่า “อาจารย์” ทุกคำ
………………….
ข้อ ๔ อย่าสร้างปัญหาให้ผู้บังคับบัญชา
โดยเฉพาะการตั้งเงื่อนไข อ้างความจำเป็นส่วนตัวในการทำงาน และที่สำคัญ-การโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่
ผมบรรจุครั้งแรกอยู่ในกรม ในขณะที่เพื่อนฝูงย้ายออกไปหาประสบการณ์หน่วยนอกกันเป็นว่าเล่น ผมต้องเฝ้ากรมอยู่ถึง ๕ ปี
ถ้าเป็นพระก็เป็นนิสัยมุตกะแล้ว ท่านจึงย้ายออกไปอยู่หน่วยนอก
ผมรับราชการในกองทัพเรือ ๒๕ ปี ทำตัวเป็น “หมาก” ที่ดี ไม่เคยขอไปอยู่ที่นั่น ขอไม่อยู่ที่โน่น ท่านจะจับไปวางตรงไหนก็ได้ ทุกตำแหน่งมีงานให้ผมทำได้เต็มมือทั้งนั้น
………………….
ข้อ ๕ จะเอางานเจริญ หรือจะเอาตัวเจริญ
ข้อนี้ต้องเลือกเอาเอง
เอางานเจริญ ก็มองเนื้องาน ตั้งหน้าทำงานให้ถูกงาน
เอาตัวเจริญ ก็มองหน้านาย คือผู้บังคับบัญชา ตั้งหน้าทำให้นายถูกใจ
เอางานเจริญ ก็ทำตามคำที่ท่านพุทธทาสบอกว่า ข้าราชการคือคนที่ทำงานให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ
เมื่อประชาชนพอใจ ก็เป็นเครื่องรับรองว่างานของเราสำเร็จ งานก็เจริญ
เอาตัวเจริญ ก็ต้องปรับใหม่เป็นว่า ข้าราชการคือคนที่ทำงานให้นายร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ
เมื่อนายพอใจ นายก็จะปูนบำเหน็จความดีความชอบ ให้ยศให้ตำแหน่ง ตลอดจนให้ผลประโยชน์
อย่างไรก็ตาม พึงระลึกถึงความจริง ๒ ประการไว้เสมอ
ประการที่ ๑ ความจริงที่ว่า ระบบราชการก็คือระบบอำนาจในมือนาย ยิ่งเป็นข้าราชการการเมืองด้วยแล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดเจน
นักการเมืองต้องการอำนาจก็เพราะอำนาจเป็นที่มาของผลประโยชน์ทั้งปวง
และผู้มีอำนาจจะอำนวยประโยชน์ให้ใครก็ต่อเมื่อผู้นั้นทำให้เขาถูกใจเท่านั้น
ข้าราชการที่ต้องการรับราชการให้ตัวเจริญ จึงต้องพยายามทำให้ผู้มีอำนาจถูกใจเข้าไว้ เพราะการถูกใจย่อมนำไปสู่การอำนวยประโยชน์
ประการที่ ๒ ความจริงที่ว่า การรับราชการให้ตัวเจริญนั้น ตัวจะได้อยู่เสวยผลก็ในชั่วเวลาสั้นๆ เท่านั้น
อย่างปกติก็แค่เกษียณอายุราชการ
อย่างดีที่สุดก็ต่อไปอีกแค่ชั่วชีวิต
หากแม้จะมีผลสืบต่อไปถึงลูกหลานบ้าง ก็ใช่ว่าจะยั่งยืนยาวนานไปได้สักเพียงไหน ซ้ำก็เสวยผลกันอยู่ในวงแคบๆ เพียงไม่กี่คน
แต่การรับราชการให้งานเจริญนั้น ตัวเราอาจเป็นได้แค่พออยู่พอกิน แต่ผลงานเนื้องานจะอยู่ยั่งยืน อำนวยประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ในวงกว้างไปนานเท่านาน
แม้ตัวตายไปแล้ว ผลงานก็ยังอยู่
เรียกได้ว่าอยู่เลยตายต่อไปอีกยาวไกล
จะรักยาวหรือรักสั้น เลือกเอาเอง
———————–
ทั้งหมดนี้ตั้งใจเขียนเพื่อญาติมิตรบางคนที่เดินตามหลังผมมา
แต่อาจจะเป็นประโยชน์แก่ญาติมิตรทั้งปวงได้บ้างอีกด้วย-โดยเฉพาะญาติมิตรที่ยังรับราชการอยู่
หวังว่าทุกท่านจะตัดสินใจเลือกแนวทางที่ถูกต้องโดยทั่วกัน
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑ กันยายน ๒๕๖๐
๑๕:๕๐
…………………………….
…………………………….