บาลีวันละคำ

ประลาต – ปลาสนาการ (บาลีวันละคำ 1,910)

ประลาตปลาสนาการ

คำที่ยังไม่หนีไปไหน

อ่านว่า ปฺระ-ลาด และ ปะ-ลาด-สะ-นา-กาน

(๑) “ประลาต

บาลีเป็น “ปลาต” อ่านว่า ปะ-ลา-ตะ รากศัพท์มาจาก ปลายฺ (ธาตุ = หนีไป) + ปัจจัย, ลบ ยฺ ที่สุดธาตุ

: ปลายฺ + = ปลายต > ปลาต แปลตามศัพท์ว่า “หนีไปแล้ว” หมายถึง วิ่งหนี (run away)

ในบาลี “ปลาต” เป็นคำกริยาและเป็นคุณศัพท์ได้ด้วย

ปลาต” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประลาต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ประลาต : (คำกริยา) หนีไป. (ป. ปลาต).”

(๒) “ปลาสนาการ

แยกศัพท์เป็น ปลาสน + อาการ

(ก) “ปลาสน” บาลีอ่านว่า ปะ-ลา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก ปลายฺ (ธาตุ = หนีไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง ยฺ ที่สุดธาตุเป็น (ปลายฺ > ปลาส)

: ปลายฺ + ยุ > อน = ปลายน > ปลาสน แปลตามศัพท์ว่า “การหนีไป” หมายถึง การวิ่งหนี (running away)

(ข) “อาการ” บาลีอ่านว่า อา-กา-ระ รากศัพท์มาจาก อา (ทั่วไป) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กร > การ)

: อา + กรฺ = อากร + = อากร > อาการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำทั่วไป

อาการ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :

(1) ภาวะ, สภาพ (state, condition)

(2) คุณสมบัติ, คุณภาพ, ลักษณะประจำตัว (property, quality, attribute)

(3) ลักษณะ, รูปร่างหน้าตา, รูป (sign, appearance, form)

(4) วิธี, รูปลักษณะ, อาการ (way, mode, manner)

(5) เหตุผล, หลักฐาน, เรื่องราว (reason, ground, account)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “อาการ” ไว้ดังนี้ –

(1) สภาพที่เป็นอยู่หรือที่เป็นไป เช่น อาการซึมเศร้า.

(2) กิริยาท่าทาง เช่น อาการตื่นเต้น.

(3) ความรู้สึก สิ่งที่ปรากฏ หรือภาวะผิดปรกติในร่างกายที่บ่งบอกความมีโรค เช่น อาการเจ็บคอ อาการเจ็บหน้าอก อาการชักกระตุก.

(4) ลักษณะเดียวกัน เช่น โดยอาการนั้น.

(5) ส่วนของร่างกายรวมทั้งอวัยวะภายนอก อวัยวะภายใน และสิ่งที่เกี่ยวเนื่องภายในร่างกายซึ่งทางพระพุทธศาสนานิยมว่ามี ๓๒ อย่าง เรียกว่า อาการ ๓๒ เช่น ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก จนถึงน้ำมูตร (น้ำปัสสาวะ) และเยื่อในสมอง.

ปลาสน + อาการ = ปลาสนาการ แปลตามศัพท์ว่า “อาการคือการหนีไป” มีความหมายเท่าคำเดิม คือ “ปลาสน

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปลาสนาการ : (คำกริยา) หนีไป. (ป.).”

หมายเหตุ : รากศัพท์คำว่า “ปลาต” และ “ปลาสน” ที่แสดงไว้นี้เป็นนัยหนึ่งเท่านั้น ในตำราบาลียังแสดงรากศัพท์เป็นอย่างอื่นอีกด้วย แต่ความหมายคงเหมือนกัน

…………..

อภิปราย :

ในภาษาไทย คำว่า “ประลาต” และ “ปลาสนาการ” มักใช้เฉพาะในภาษาเขียนและในวรรณกรรม

คำว่า “ประลาต” เช่นในเรื่อง “กษัตริยานุสรณ์” พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีโคลงบทหนึ่งว่า –

อันสยามเป็นบ้านเกิด….เมืองนอน

ดุจบิดามารดร…………..เปรียบได้

ยามสุขสโมสร…………..ทุกเมื่อ

ยามศึกทุกข์ยากไร้……..ปลาตเร้นฤๅควร

(ในที่นี้พบว่าสะกด “ปลาต” ตามบาลี)

คำว่า “ปลาสนาการ” เช่น –

“… หมู่มฤคีทั้งหลายใหญ่และน้อยเห็นซึ่งรอยเท้าแห่งราชสีห์ มิอาจจะปลาสนาการหนีไปได้ ก็สลบซบเซาอยู่กับที่ … (มิลินทปัญหาแปล หน้า 488)

ปัจจุบันนี้ คนไทยรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักคำว่า “ประลาต” และ “ปลาสนาการ” กันแล้ว

เมื่อมีเหตุการณ์พิเศษทางการเมืองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ควรถือเป็นโอกาสที่จะทำความรู้จักกับคำไทยที่มาจากบาลีทั้ง 2 คำนี้เพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ได้อีกส่วนหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

น  อนฺตลิกฺเข  น  สมุทฺทมชฺเฌ

น  ปพฺพตานํ  วิวรํ  ปวิสฺส

น  วิชฺชเต  โส  ชคติปฺปเทโส

ยตฺรฏฺฐิโต  มุจฺเจยฺย  ปาปกมฺมา.

หนีไปกลางอากาศ

ปลาตไปอยู่กลางสมุทร

มุดเข้าไปใต้ภูเขาเข้าถ้ำ

สถานที่อันจะหนีพ้นบาปกรรมนั้นบมิได้มีเลย

ปาปวรรค ธรรมบท 25/19

ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 5 (ตโยชนวัตถุ)(105)

1-9-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย