บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ฤๅจะมีค่าแค่เพียงเสียงเพรียกหา

ฤๅจะมีค่าแค่เพียงเสียงเพรียกหา

———————————-

ขอเรียนถามมายังญาติมิตรนักเรียนบาลีทั้งหลายครับ

ท่านผู้ใดเคยเห็นคาถาพาหุงแปลโดยพยัญชนะบ้างครับ 

คืออาจจะมีใครเคยแปลไว้ แล้วก็มีใครเคยเห็นแล้วเก็บต้นฉบับไว้ 

หรือมีหนังสือที่มีคาถาพาหุงแปลโดยพยัญชนะพิมพ์อยู่ในเล่ม 

หรือญาติมิตรที่อ่านโพสต์นี้เคยแปลไว้เอง – อะไรประมาณนี้

ใครมีบ้างครับ

ถ้ามี ผมขอครับ

ไม่ใช่คาถาพาหุงแปลที่มีอยู่ทั่วไปแล้วนะครับ 

เอาแบบที่แปลโดยพยัญชนะ หรือแปลยกศัพท์นั่นเลย

แปลธรรมดาไม่เอา เพราะมีทั่วไปอยู่แล้ว

ถ้าไม่มี 

ท่านผู้ใดสามารถจะรับอาสาแปลบ้างครับ

แปลเป็นพุทธบูชา ไม่มีค่าจ้างรางวัล 

เอาบุญเป็นกำไร

ผมก็แปลได้ แต่อยากจะขอร้องนักเรียนบาลีให้ช่วยกันทำงาน

นี่คือข้อสอบจริงนะครับ

เรื่องก็คือ ผมกำลังจะอัญเชิญคาถาพาหุงมาพิจารณาถ้อยคำเฉพาะที่มักจะสวดผิดพลาดคลาดเคลื่อน ซึ่งก็มีหลายแห่งอยู่ 

เมื่อวันก่อนโน้น ไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่ง พระท่านสวดถวายพรพระ-ก็คือบทพาหุงนั่นแหละ ท่านก็ยังสวดคลาดเคลื่อนหลายคำเหมือนกับที่ผมเคยได้ฟังมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กวัด

ก็เลยมาคิดดูว่า ทำไมไม่มีใครยกเรื่องนี้ขึ้นมาชำระสะสางกันเสียที 

นักเรียนบาลีที่เรียนจบแล้วมีเยอะ แต่ทำไมไม่มีใครคิดจะทำเรื่องนี้กันบ้าง

ผมคิดว่าควรเริ่มต้นด้วยการแปลบทพาหุงโดยพยัญชนะออกเผยแพร่ก่อน เพราะจุดนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานให้เห็นคำศัพท์ในตัวบท 

คำไหนเป็น อิ คำไหนเป็น อี

คำไหนเป็นครุ คำไหนเป็นลหุ

ปูพื้นกันไปจากตรงนี้ก่อนเลย

ครั้นแล้วจึงหยิบยกคำที่สวดผิดขึ้นมาอธิบายชี้แจงให้เห็นว่า คำผิดคืออย่างไร คำถูกคืออย่างไร

ต่อจากนั้นก็รวบรวมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือเรื่องราวเหตุการณ์ในตัวเรื่องแต่ละบท (เรื่องนี้มีผู้ทำไว้บ้างแล้ว ผมก็เคยทำไว้)

ที่สำคัญคือ ประวัติของบทพาหุง แต่งสมัยไหน แต่งที่ไหน ใครแต่ง ช่วยกันศึกษาค้นคว้า

แล้วรวมเรื่องทั้งหมดเข้าด้วยกัน 

แล้วช่วยกันเผยแผ่ให้แพร่หลาย

เผยแผ่จนเป็นที่รู้เห็นทั่วกันแล้ว ขั้นสุดท้ายอันเป็นขั้นตอนสำคัญ ก็คือขอให้คณะสงฆ์ปฏิรูปการสวดบทพาหุง โดยเฉพาะตรงถ้อยคำที่สวดผิดพลาดคลาดเคลื่อน ให้สวดถูกต้องเป็นแบบแผนเดียวกันทั่วสังฆมณฑล โดยมีเรื่องราวข้อมูลที่เราช่วยกันรวบรวมจัดทำขึ้นดังกล่าวมานั้นเป็นคู่มือ

นี่เป็นงานโดยตรงของนักเรียนบาลีนะครับ

เรียนกันมาแล้ว เรียนจบแล้ว เอาความรู้มาใช้งานตรงนี้ 

เป็นงานตรงตัวตรงสายที่สุด

สายงานทางโลก เขาเรียนจบแล้วเอาวิชาความรู้ที่เรียนมาไปใช้ทำงานจริง

สายงานทางบาลี เรียนจบแล้ว ไม่ควรทำแค่เอามานั่งภาคภูมิใจเฉยๆ

ทั้งๆ ที่-งานที่รอให้ทำก็มีอยู่เยอะแยะ

เรื่องคาถาพาหุงนี่ก็เป็นงานชิ้นหนึ่ง

ผมกำลังชวนให้เริ่มต้นกันตรงนี้

จึงขอเปิดฉากด้วยการร้องถามว่า 

– ท่านผู้ใดเคยเห็นคาถาพาหุงแปลโดยพยัญชนะบ้าง?

– หรือท่านผู้ใดจะรับอาสาแปลโดยพยัญชนะบ้าง?

– หรือจะปล่อยให้ผมตะโกนกู่ก้องร้องอยู่กลางทะเลทรายแต่เพียงผู้เดียว?

รอคำตอบครับผม 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๗:๔๖

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *