วิธีรักษาพระศาสนา
วิธีรักษาพระศาสนา
——————-
ผมได้อ่านโพสต์ในเพจที่ชื่อ พุทธสามัคคี โพสต์เมื่อ 1 มิถุนายน 2558 สรรเสริญการสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่ว่ามีประโยชน์มากมายหลายอย่าง
ขอคัดข้อความตอนหนึ่งมาให้อ่านดังนี้ –
………..
สถานศึกษาจะมีหลายขนาด เช่น สถานศึกษาในหมู่บ้าน ก็เป็นโรงเรียนประถม ในตำบล ในอำเภอ ในจังหวัด ก็เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ขึ้นจนถึงมัธยม บางจังหวัดก็มีสถาบันระดับอาชีวะและอุดมศึกษา ส่วนในระดับประเทศก็มีมหาวิทยาลัยใหญ่ บางแห่งใช้งบก่อสร้างหลายหมื่นล้านบาท ใช้งบดำเนินการปีละหลายพันล้าน
หากทั้งประเทศมีแต่โรงเรียนประชาบาล ไม่มีมหาวิทยาลัย ก็คงยากที่จะพัฒนาการศึกษาและคุณภาพประชากรได้ สถานศึกษาต้องมีหลายระดับ ต่างทำหน้าที่ตามบทบาทของตน
วัดก็เช่นเดียวกัน มีทั้งวัดในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เป็นเหมือนโรงเรียนสอนศีลธรรมในชุมชน และต้องมีวัดใหญ่ๆ เพื่อเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยสอนศีลธรรม เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของวัดต่างๆ เพื่อนำไปขยายผลต่อไปยังประชาชนทั่วประเทศ เป็นแหล่งสร้างสรรค์กิจกรรมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการปลูกฝังศีลธรรม เป็นเหมือนหัวรถจักรที่ฉุดขบวนรถไฟให้เคลื่อนตัวไป
……
เราจึงควรช่วยกันสร้างวัดใหญ่ๆเพิ่มขึ้น ชวนคนเข้าวัดปฏิบัติธรรมให้มากๆและชวนคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาบวชเป็นพระภิกษุให้มากขึ้นด้วย
………..
อ่านแล้วคิดกันอย่างไรบ้างครับ ?
เป็นการเปรียบเทียบที่ฟังดูดี ชวนให้คล้อยตาม
แต่ผิดข้อเท็จจริง
และขัดกับหลักในพระไตรปิฎกชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า
ข้อเท็จจริงก็คือ ในประเทศไทยมีวัดกระจายอยู่แล้วทั่วไป ตามสถิติหลายปีมาแล้วก็ว่ามีประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัด ตอนนี้คงมากกว่านี้มากแล้ว
ตามหลักทางสังคม วัดเหล่านี้ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะ ซึ่งหมายถึงการศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม
พระพุทธศาสนานั้นแยกส่วนเป็น ๓ คือ พระปริยัติศาสนา พระปฏิบัติศาสนา และพระปฏิเวธศาสนา
ท่านผู้ใดยังไม่คุ้นกับคำพวกนี้ ขอได้โปรดศึกษา (เริ่มตั้งแต่คำว่า “พระ” ที่นำหน้าคำเหล่านี้ไปเลย)
บรรพบุรุษของเราท่านสร้างวัดขึ้นมาเพื่อรองรับพระศาสนาทั้ง ๓ ส่วนนี้ โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำ
ใช้ศัพท์สมัยใหม่ก็ว่า-โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้ขับเคลื่อน
พระปริยัติศาสนาที่เป็นรูปธรรมก็คือ การเรียนนักธรรม-บาลี
พระปฏิบัติศาสนาที่เป็นรูปธรรมก็คือการปฏิบัติพระกรรมฐาน รวมทั้งการปฏิบัติกิจวัตรประจำต่างๆ ของสงฆ์
ส่วนพระปฏิเวธศาสนานั้นเป็นผลที่เกิดจากพระศาสนาสองส่วนนั้น
วัดที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศสามารถรองรับพระพุทธศาสนาดังกล่าวมานี้ได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างวัดใหญ่ๆ อะไรอีกแล้ว
ในคำเปรียบเทียบ บอกว่าวัดในหมู่บ้านเหมือนโรงเรียนประถม
วัดในอำเภอเหมือนโรงเรียนมัธยม
วัดในเมืองใหญ่เหมือนมหาวิทยาลัย
เป็นคำเปรียบเทียบที่ผิดความจริงอย่างยิ่ง
เหมือนกับจะบอกว่า วัดในหมู่บ้านสอนได้แค่ศีล
วัดในอำเภอสอนได้แค่สมาธิ
ต้องวัดใหญ่ๆ จึงจะสอนได้ถึงนิพพาน
ผิดความจริงอย่างยิ่ง
วัดที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศสามารถเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าจนถึงนิพพานได้ทุกวัดอยู่แล้ว
วัดเล็กก็สอนนิพพานได้ ไม่ใช่ว่าต้องไปเรียนที่วัดใหญ่
และไม่ว่าจะเป็นวัดเล็กหรือวัดใหญ่ก็ต้องสอนคำสอนที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าจึงจะถือว่าเป็นวัดที่มีคุณภาพ
ถ้าใช้เป็นที่ทำกิจกรรมอื่นหรือเป็นที่เผยแพร่คำสอนที่ผิดไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้าละก็ วัดใหญ่ขนาดไหนก็ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น
————
สิ่งที่ยังขาด จึงไม่ใช่วัด-ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่
แต่คือ-การบริหารจัดการ ตั้งแต่บริหารจัดการกำลังคนเป็นต้นไป จนถึงนโยบายของคณะสงฆ์หรือของรัฐบาลว่า วัดทั้งหลายควรทำงานอะไรให้สังคม
ปัญหาใหญ่ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้คือ –
วัดต่างๆ มีพระอยู่จำพรรษาน้อยลง
คนที่เข้ามาบวชศึกษาพระปริยัติธรรมน้อยลง
และแม้ที่บวชเรียนกันอยู่ขณะนี้ก็มุ่งศึกษาอย่างอื่นที่ไม่ใช่พระปริยัติธรรมกันมากขึ้น
ตรงนี้ต่างหากที่ผู้บริหารการพระศาสนาของเรายังไม่มีนโยบายอะไรทั้งสิ้นที่จะรับมือ
พูดให้กระทบใจก็ต้องว่ำ-จนบัดนี้ก็ยังหลับไม่ตื่น
เราไม่ได้ขาดแคลนวัด
แต่เราขาดแคลนคนที่จะเข้ามาบริหารจัดการวัดให้เป็นวัดที่มีคุณภาพตรงตามหลักของพระพุทธศาสนา คือเป็นแหล่งศึกษาพระปริยัติธรรม และเป็นแหล่งปฏิบัติธรรม
การบริหารจัดการที่ถูกต้องก็คือ
กระจายคน (พระภิกษุสามเณร) ไปอยู่ตามวัดต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว
กระจายการศึกษาพระปริยัติธรรมและการปฏิบัติธรรมออกไปให้ทั่วถึงทุกพื้นที่
ไม่ใช่ใช้วิธีดูดคนจากวัดต่างๆ ให้ไปกระจุกตัวอยู่ที่วัดใหญ่ เหมือนอย่างที่วัดพระธรรมกายถนัดทำ (ยังทำอยู่และจะทำต่อไปอีก)
ไม่ใช่วิธีที่พระเณรต้องทิ้งวัดบ้านเกิดของตัวเองเข้าไปอยู่ในเมือง-แล้วถูกกลืนหายไป ไม่ได้กลับไปช่วยพัฒนาวัดบ้านเกิด-อย่างที่เคยเป็นมาเมื่อศตวรรษที่แล้ว และแม้เวลานี้ก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่
การบริหารจัดการที่ถูกต้องก็คือ หยุดการสร้างวัด-โดยเฉพาะวัดใหญ่ๆ อย่างที่สำนักธรรมกายกำลังเชิญชวนนั่น-ต้องหยุดโดยเด็ดขาด
แต่ต้องหันมาสร้างคนแทน-สร้างคนอย่างเร่งด่วน
สร้างคนที่อยู่ในวัดขณะนี้ให้เป็นคนที่มีคุณภาพ
แล้วให้วัดเป็นสถาบันสร้างคนที่มีคุณภาพให้สังคมต่อไป
การสร้างคนดังกล่าวนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีสร้างวัดเพิ่มขึ้น
วัดที่มีอยู่แล้วนี่แหละใช้เป็นที่สร้างคนได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว
เพียงแต่บริหารจัดการเรื่องคนและกระจายการศึกษาและปฏิบัติออกไปให้ทั่วถึง
และที่สำคัญกว่าอะไรหมดก็คือ-เพียงแต่มีนโยบาย คือขอให้ผู้บริหารมีความคิดจะทำ
และทำอย่างมีเอกภาพ
ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต่างวัดต่างทำ
ยกตัวอย่างเล่นๆ
จัดส่งพระเณรที่สอบประโยค ๙ ได้ ให้กระจายตัวไปอยู่วัดต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อพัฒนาบริหารวัดนั้นๆ ให้เป็นแหล่งศึกษาและปฏิบัติธรรมประจำพื้นที่
แบบนี้ ทำได้ไหม
คิดจะทำไหม
————
ที่เขียนมานี้ ไม่ใช่จะมาคัดค้านการสร้างวัด
ใครมีศรัทธา มีความสามารถจะสร้างได้ก็เชิญสร้างกันเข้าไปตามสบาย
เพียงแต่มาบอกว่า เรามีวัดมากเกินพอแล้ว
วัดและเสนาสนะในวัดที่มีอยู่แล้ว ณ เวลานี้ถูกปล่อยให้เป็นที่อาศัยของนกหนู หาพระเณรดูแลรักษาไม่ค่อยจะได้ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไปหมดแล้ว
การสร้างวัดไม่ว่าจะใหญ่โตขนาดไหน ท่านก็บอกว่าเป็นแค่อามิสบูชา
ไม่ใช่บอกว่าไม่ดี
ดี
แต่ยังมีที่ดีกว่าและจำเป็นเร่งด่วนกว่า
ขอยกข้อความในคัมภีร์มายืนยัน
ช่วยกันสดับ และช่วยกันศึกษานะครับ
————
-๑-
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ไม้สาละทั้งคู่เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชาตถาคต แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ แม้ดนตรีอันเป็นทิพย์ สังคีตอันเป็นทิพย์ก็บรรเลงไปในอากาศเพื่อบูชาตถาคต
ดูก่อนอานนท์ ตถาคตจะชื่อว่าอันบริษัทสักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อมด้วยเครื่องสักการะประมาณเท่านี้หามิได้
ดูก่อนอานนท์ ผู้ใดแล เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง มีปกติประพฤติตามธรรมอยู่, ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคต ด้วยบูชาอย่างยิ่ง.
(มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๒๙)
-๒-
ผิว่าพระผู้มีพระภาคจะไม่พึงทรงทักท้วงการบูชาด้วยอามิสไว้อย่างนั้นไซร้ ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายก็จักเป็นผู้ไม่บำเพ็ญศีลและสมาธิให้บริบูรณ์ และไม่ปฏิบัติวิปัสสนาให้บรรลุมรรคผล จะเอาแต่ชักชวนพวกอุปัฏฐากให้ทำอามิสบูชาเท่านั้น
อันว่าอามิสบูชานั่นไม่อาจดำรงพระศาสนาไว้ได้แม้ชั่วเวลาเพียงดื่มยาคูอึกหนึ่ง, วัดนับพันที่ใหญ่โตมโหฬารเหมือนมหาวิหารก็ดี เจดีย์นับพันที่ใหญ่โตมโหฬารเหมือนมหาเจดีย์ก็ดี หาอาจดำรงพระศาสนาไว้ได้ไม่; ผู้ใดสร้าง, อานิสงส์ก็มีแก่เฉพาะผู้นั้น
ส่วนสัมมาปฏิบัติเป็นบูชาอันสมควรแก่พระศาสดา เพราะสัมมาปฏิบัตินั้นพระองค์โปรดด้วย อาจดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วย
เพราะฉะนั้น … จึงตรัสว่า “อานนท์ ! ผู้ใดแล เป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง มีปกติประพฤติตามธรรมอยู่, ผู้นั้นชื่อว่าสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคต ด้วยบูชาอย่างยิ่ง”
(สุมังคลวิลาสินี ภาค ๒ หน้า ๒๙๘-๓๐๐ อรรถกถามหาปรินิพฺพานสูตร, และอ้างในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค ๑ ข้อ ๖๙ หน้า ๗๖-๗๗ ปูชากถา)
————
ขอได้โปรดสังเกต
๑ แม้แต่บูชาด้วยของทิพย์ พระพุทธองค์ก็ยังตรัสทักท้วงว่าไม่ใช่บูชาอันประเสริฐ
๒ คัมภีร์อรรถกถาอุตส่าห์ดักคอไว้แล้วว่า ถ้าพระพุทธองค์ไม่ทรงทักท้วงอามิสบูชา ภิกษุทั้งหลายในอนาคตก็จะไม่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติธรรม จะเอาแต่ชักชวนญาติโยมให้บูชาด้วยอามิส
ปัจจุบัน-ซึ่งก็คือ “ในอนาคต” ที่ท่านกล่าวไว้-วัดพระธรรมกายก็ยังชวนให้สร้างวัดใหญ่ๆ จนได้ ก็คือทำตรงกับที่ท่านดักคอไว้แล้ว และเตือนไว้แล้วว่าไม่ควรทำนั่นเอง
๓ พระพุทธโฆสาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์อรรถกถาที่กล่าวความตอนนี้ท่านรจนาที่สำนัก “มหาวิหาร” ซึ่งเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในศรีลังกาสมัยโน้น แต่ท่านก็ซื่อตรงต่อธรรม คือบอกไว้ตรงๆ ว่า วัดใหญ่ๆ อย่างสำนักมหาวิหารนี้ ต่อให้สร้างไว้เป็นพันๆ ก็รักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้
๔ พระไตรปิฎกและอรรถกถาที่ยกมานี้ นักวิชาการของวัดพระธรรมกายย่อมจะได้อ่านได้ศึกษามาแล้ว การที่พยายามชวนผู้คนให้สร้างวัดใหญ่ๆ ขึ้นมาอีก ยังจะชื่อว่ามีความซื่อตรงต่อธรรมอยู่หรือ
๕ วัดในสมัยพุทธกาลและสมัยต่อมา คฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาเป็นผู้สร้างทั้งสิ้น พระสงฆ์ควรบอกเขาว่า นี่เป็นเพียงอามิสบูชา สร้างขนาดไหนก็รักษาพระศาสนาไว้ไม่ได้ ถ้าไม่มีปฏิบัติบูชา จึงควรจะก้าวต่อไปอีกให้ถึงปฏิบัติบูชา ไม่ใช่ชวนให้เขาตกคลักอยู่ในอามิสบูชา
————
ขอย้ำว่า การสร้างวัดไม่ใช่เรื่องเสียหาย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลเป็นเรื่องควรทำด้วยซ้ำ
แต่การช่วยกันคิดอ่านพัฒนาวัดที่มีอยู่มากแล้วให้เป็นวัดที่มีคุณภาพ จะเป็นการอำนวยประโยชน์ให้แก่สังคมมากกว่า ทั้งเป็นวิธีที่สามารถรักษาพระศาสนาไว้ได้อย่างแท้จริง
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๖ มิถุนายน ๒๕๕๘
…………………………….
…………………………….