อาคโต ภนฺเต (บาลีวันละคำ 1,107)
อาคโต ภนฺเต
(ประเพณีเรียกชื่อพระลงทำวัตรสวดมนต์)
อ่านว่า อา-คะ-โต พัน-เต
“อาคโต ภนฺเต” เป็นภาษาบาลีที่เป็นประโยคคำพูดสมบูรณ์
(๑) “อาคโต”
เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อา (กลับความ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ต ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: อา + คมฺ = อาคม + ต = อาคมต > อาคต
เรียนไวยากรณ์ง่ายๆ :
๑ คมฺ ธาตุ หมายถึง ไป แต่เมื่อมี อา (คำอุปสรรค) นำหน้า ทำให้กลับความหมาย จาก “ไป” กลับเป็น “มา”
๒ ต ปัจจัย (อ่านว่า ตะ-ปัจจัย) เป็นเครื่องหมายอดีตกาล ประกอบท้ายธาตุตัวไหน ทำให้ธาตุตัวนั้นแปลว่า “-แล้ว” เช่น –
มต (มะ-ตะ) = ตายแล้ว
คต (คะ-ตะ) = ไปแล้ว
ชิต (ชิ-ตะ) = ชนะแล้ว
อาคต (อา-คะ-ตะ) ประกอบวิภัตตินาม วิภัตติที่หนึ่ง เอกพจน์ ปุงลิงค์ ได้รูปเป็น “อาคโต” แปลว่า “มาแล้ว”
(๒) “ภนฺเต”
เป็นศัพท์จำพวกนิบาต ในหมวด “คำทัก” หรือคำร้องเรียก (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อาลปนะ”)
ภนฺเต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญ” เป็นคําที่พระผู้น้อยหรือที่มีพรรษาน้อยกว่าเรียกหรือขานรับพระผู้ใหญ่หรือที่มีพรรษามากกว่า หรือเป็นคำที่คฤหัสถ์ใช้เรียกพระสงฆ์ (ถ้าผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย ใช้คำว่า “อาวุโส”)
สำหรับท่านที่เห็นคำฝรั่งแล้วเข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น โปรดดูพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ไขความคำว่า “ภนฺเต” ไว้ดังนี้ –
Bhante: voc. of polite address: Sir, venerable Sir (อาลปนะสำหรับคำร้องเรียกที่สุภาพ : ท่าน, ท่านที่เคารพ)
ตามวัดต่างๆ เมื่อพระภิกษุสามเณรทำวัตรเช้า-เย็น (ในพรรษาเพิ่มเวลาเช้ามืดประมาณ 04:00 อีกรอบหนึ่ง) ร่วมกันเสร็จแล้ว มีธรรมเนียมเรียกชื่อ-ขานชื่อเพื่อตรวจสอบบันทึกเป็นสถิติ และกระตุ้นเตือนให้มีกุศลฉันทะยิ่งขึ้นในการบำเพ็ญกิจวัตรของสงฆ์ สำหรับพระภิกษุจะถูกเรียกด้วยฉายา สามเณรเรียกด้วยชื่อ เนื่องจากไม่มีฉายา และต้องขานตอบด้วยคำว่า “อาคโต ภนฺเต” เช่น (เรียกพระมหาทองย้อย วรกวินฺโท)
เรียก : วรกวินฺโท
ขาน : อาคโต ภนฺเต
“อาคโต ภนฺเต” แปลว่า “มาแล้วขอรับ” = มาครับ
สมัยที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเรียนชั้นประถม เมื่อนักเรียนเข้าห้องเรียนแล้ว ครูประจำชั้นจะเอา “บัญชีเรียกชื่อ” มาเรียกชื่อนักเรียนทีละคน นักเรียนชายขานว่า “มาครับ” นักเรียนหญิงขานว่า “มาค่ะ”
ไม่ทราบแน่ว่า “มาครับ – มาค่ะ” ได้แบบมาจาก “อาคโต ภนฺเต” ของพระ หรือว่า “อาคโต ภนฺเต” แปลมาจาก “มาครับ – มาค่ะ” ของนักเรียน
ชื่อ : ขานแทนกันได้
บุญ : ทำแทนกันไม่ได้
5-6-58