บาลีวันละคำ

มงคลสูตร (บาลีวันละคำ 913)

มงคลสูตร

(ลำดับ 1 ในเจ็ดตำนาน)

คำว่า “มงคลสูตร” (มง-คน-ละ-สูด) บาลีเป็น “มงฺคลสุตฺต” (มัง-คะ-ละ-สุด-ตะ) ประกอบด้วย มงฺคล + สุตฺต

มงฺคล” (มัง-คะ-ละ) แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงความเจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องถึงความบริสุทธิ์แห่งเหล่าสัตว์” (3) “เหตุที่ตัดความชั่ว

ความหมายที่เข้าใจกัน คือ (1) มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มีมหกรรมหรืองานฉลอง (auspicious, prosperous, lucky, festive) (2) ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง (good omen, auspices, festivity)

มงฺคล” ตามหลักพระพุทธศาสนาหมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ

มงฺคล” ในภาษาไทยใช้ว่า “มงคล” (มง-คน)

สุตฺต” (สุด-ตะ) แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “วจนะที่หลั่งเนื้อความออกมา” (2) “วจนะที่ยังเนื้อความให้หลั่งไหลออกมาเหมือนแม่โคหลั่งน้ำนม” (3) “วจนะที่รักษาธรรมไว้ด้วยดี” (4) “วจนะที่ประกาศเนื้อความ

สุตฺต” ในที่นี้ในภาษาไทยใช้ว่า “สูตร” หรือ “พระสูตร” หมายถึงพระธรรมเทศนาหรือธรรมกถาเรื่องหนึ่งๆ ในพระสุตตันตปิฎก แสดงเจือด้วยบุคลาธิษฐาน คือมีตัวบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ สาระสำคัญอยู่ที่เรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือข้อธรรมที่แสดงในเหตุการณ์นั้น

มงฺคล + สุตฺต = มงฺคลสุตฺต > มงคลสูตร แปลว่า พระสูตรอันว่าด้วยสิ่งที่เป็นมงคล

บรรยายความ:

มงคลสูตร เป็นบทที่ว่าด้วยเหตุที่ให้เกิดสิริมงคล กล่าวถึงมงคลชีวิต 38 ประการ ซึ่งทุกข้อถือเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต ทั้งนี้เพราะชีวิตมีหลายช่วงหลายจังหวะแตกต่างกันไป ทำให้ทราบแนวทางดำเนินชีวิตตามหลักพุทธศาสนา และทำให้ทุกก้าวย่างของชีวิตมั่นคง วิถีชีวิตตามหลักพุทธศาสนาเมื่อแยกโดยเป้าหมายแล้วมีสองระดับ คือระดับโลกิยะ และระดับโลกุตตระ มงคลชีวิต 38 ประการ เป็นเหมือนแผนที่ชี้ทางไปสู่เป้าหมายของชีวิตทั้งสองระดับโดยมีข้อปฏิบัติอย่างกลมกลืน สอดคล้อง และเกื้อกูลกันโดยลำดับ

บทมงคลสูตรนี้ มีคำสวดขึ้นต้นว่า “อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ฯลฯ ตันเตสัง มังคะละมุตตะมันติ

พระสูตรนี้มีตำนานมาว่า:

มหาชนในชมพูทวีปประชุมกันในที่ต่างๆ มีประตูเมืองและในศาลานั่งพักเป็นต้น แล้วให้เงินแก่คนที่เล่านิทาน คนที่รู้นิทานก็เล่าเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องรามเกียรติ์ และมหาภารตยุทธเป็นต้น อันเป็นเรื่องนอกพระศาสนา เรื่องหนึ่งๆ กว่าจะเล่าจบก็นับเป็นเวลา 4 เดือน

ครั้งหนึ่งมีการสนทนากันถึงเรื่องมงคล เกิดปัญหาขึ้นในที่ประชุมว่า อะไรเป็นมงคล ? ใครรู้จักมงคลบ้าง ?

บางคนตอบว่า รูปที่เห็น เช่น รูปโคอสุภะและม้าอัสดรเป็นต้นนั่นแหละเป็นมงคล

บางคนว่า เสียงที่ได้ยิน เช่น เสียงขับร้อง เสียงพิณพาทย์ ระนาด ฆ้องเป็นต้นนั่นแหละเป็นมงคล

บางคนว่า กลิ่นหอมหรือรสโอชาที่สูดดมลิ้มเลียเข้าไปนั่นแหละเป็นมงคล

เป็นอันว่าไม่สามารถตกลงกันได้แน่ว่าอะไรเป็นมงคล เถียงกันไปเถียงกันมาไม่สิ้นสุดจนทำให้การคิดมงคลกระจายไปจนถึงชั้นพรหมอกนิฏฐภพ กระทั่งในหมื่นจักรวาล แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินเด็ดขาดว่า “นี้เท่านั้นนะเป็นมงคล” จนเวลาล่วงเลยมาถึง 12 ปี พวกเทวดาจึงพากันเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร กราบทูลถามถึงเรื่องมงคล พระองค์จึงตรัสมงคลสูตรนี้อันว่าด้วยสิ่งที่เป็นมงคล 38 ประการ คือ:

(คำบาลีอนุวัตตามตัวบทในมงคลสูตร)

(1) อเสวนา จ พาลานํ = ไม่คบคนพาล

(2) ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา = คบบัณฑิต

(3) ปูชา จ ปูชนียานํ = บูชาผู้ที่ควรบูชา

(4) ปฏิรูปเทสวาโส = อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม

(5) ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา = ได้ทำบุญมาก่อน

(6) อตฺตสมฺมาปณิธิ = ตั้งตนไว้ชอบ

(7) พาหุสจฺจํ = เล่าเรียนมาก

(8) สิปฺปํ = มีศิลปวิทยา (สามารถทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้)

(9) วินโย จ สุสิกฺขิโต = เคร่งครัดในวินัย

(10) สุภาสิตา จ ยา วาจา = พูดดี

(11) มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ = บำรุงบิดามารดา

(12) ปุตฺตสงฺคโห = สงเคราะห์บุตร

(13) ทารสงฺคโห = สงเคราะห์คู่ครอง

(14) อนากุลา จ กมฺมนฺตา = การงานไม่คั่งค้าง

(15) ทานํ = บำเพ็ญทาน

(16) ธมฺมจริยา = ประพฤติธรรม

(17) ญาตกานญฺจ สงฺคโห = สงเคราะห์ญาติ

(18) อนวชฺชานิ กมฺมานิ = ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

(19) อารตี วิรตี ปาปา = งดเว้นความชั่ว

(20) มชฺชปานา จ สญฺญโม = สังวรในการดื่มน้ำเมา

(21) อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ = ไม่ประมาทในความดี

(22) คารโว = ความเคารพ

(23) นิวาโต = ความสุภาพอ่อนน้อม

(24) สนฺตุฏฺฐี = ความสันโดษ

(25) กตญฺญุตา = มีความกตัญญู

(26) กาเลน ธมฺมสฺสวนํ = ฟังธรรมตามกาล

(27) ขนฺตี = อดทน

(28) โสวจสฺสตา = ว่าง่าย (พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำ)

(29) สมณานญฺจ ทสฺสนํ = พบเห็นสมณะ

(30) กาเลน ธมฺมสากจฺฉา = สนทนาธรรมตามกาล

(31) ตโป = บำเพ็ญเพียร

(32) พฺรหฺมจริยํ = ประพฤติพรหมจรรย์

(33) อริยสจฺจาน ทสฺสนํ = เห็นอริยสัจ

(34) นิพฺพานสจฺฉิกิริยา = ทำพระนิพพานให้แจ้ง

(35) ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ = ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

(36) อโสกํ = จิตไม่เศร้าโศก

(37) วิรชํ = จิตปราศจากธุลี

(38) เขมํ = จิตเกษม

แต่ละข้อๆ นี้เป็นอุดมมงคลที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในมงคลสูตร

ทั้งเทวดาและมหาชนเมื่อได้ฟังดังนั้นก็หายสงสัย

ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ทุกครั้งจำเป็นต้องสวดบทมงคลสูตรนี้ เพื่อให้ประชาชนทราบแนวทางการดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นการย้ำเตือนให้ระลึกถึงการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องแก่ประชาชน กล่าวได้ว่า มงคลสูตรนอกจากจะให้ผลในแง่ของกำลังใจแล้ว ยังให้ผลที่เป็นมงคลยิ่งขึ้นหากนำหลักธรรมที่ตรัสไว้ในมงคลสูตรไปปฏิบัติในชีวิตจริงอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้น มงคลสูตรจึงถือว่าเป็นสูตรหนึ่งที่ทำให้การเจริญพระพุทธมนต์มีคุณค่ามากขึ้น

——-

ที่มา:

อธิบายบทสวดมนต์ วัดสุทัศนเทพวราราม หน้า 77-78

พระมหาสุทธิพงษ์ อภิวํโส เรียบเรียง

พิมพ์ครั้งที่ 2, กุมภาพันธ์ 2548.

บริษัท สื่อตะวัน จำกัด, มปท.

——

ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอในหมู่ผู้ศึกษามงคลสูตรก็คือ จำนวนมงคลมีกี่ข้อ ?

แม้ผู้รู้แต่ปางก่อนจะได้แสดงไว้ชัดเจนว่า มงคลมี 38 ข้อ แต่ก็ยังมีนักรู้สมัยใหม่ตั้งทฤษฎีนับจำนวนมงคลกันไปต่างๆ เช่น มี 37 ข้อ ต้องเพิ่มข้อนั้นข้อนี้เข้าไปจึงจะครบ 38 บ้าง มี 39 ข้อบ้าง และล่าสุดมีผู้เสนอทฤษฎีใหม่ว่า มงคลมี 10 ข้อตามจำนวนคาถา (บทร้อยกรอง) ที่แสดงมงคลในมงคลสูตรซึ่งนับเฉพาะคาถาที่ระบุชื่อมงคลมี 10 คาถา

: นับได้กี่มงคลก็สำคัญ

: แต่ปฏิบัติได้กี่มงคลสำคัญกว่า

—————

(ทดลองนำเสนอ “เจ็ดตำนาน” ตามข้อเสนอแนะของญาติมิตร)

#บาลีวันละคำ (913)

17-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *