บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วิธีเปลี่ยนโลก

วิธีเปลี่ยนโลก

————–

ผมเคยเล่าให้ฟังว่า มีญาติมิตรถามผมมาว่า วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ จะใช้คำว่า “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี” ได้หรือไม่

ผมตอบไปว่า ตามความเห็นของผมน่าจะใช้ได้ แต่เรื่องอย่างนี้จะทำตามความเห็นส่วนตัวไม่ได้ ควรจะต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้กำหนด หรือเป็นผู้สั่งออกมา 

ผมพูดทิ้งไว้ด้วยว่า-ทั้งนี้ก็แล้วแต่ว่าผู้รับผิดชอบจะออกไปชนกับปัญหาหรือจะรอให้ปัญหาวิ่งเข้ามาชน

—————–

เมื่อเช้านี้ (๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑) ผมเดินออกกำลังตามปกติ ไปเห็นป้ายข้างทางใช้คำว่า “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี” ไปเรียบร้อยแล้ว 

เจ้าของป้ายคือเทศบาลเมืองราชบุรี

เรื่องนี้ทำให้ผมคิดอะไร

๑ เทศบาลเมืองราชบุรีคงถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และได้รับคำตอบยืนยันว่าใช้ได้เหมือนเดิม ก็จึงยกป้ายที่มีคำว่า “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี” 

๒ เทศบาลเมืองราชบุรีไม่ได้ถามไปที่ไหนๆ ทั้งนั้น แต่เข้าใจเอาเองว่าใช้คำนี้ได้เหมือนเดิม ก็จึงยกป้ายที่มีคำว่า “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี” 

มองจากมุมนี้จะได้เห็นความจริงว่า เรื่องถูกเรื่องผิดที่เกิดขึ้นในสังคมเรานี้เกิดขึ้นจากการลงมือทำ ไม่ได้เกิดจากการนั่งคิดหรือนั่งพูด

ผู้ลงมือทำจะทำด้วยเหตุผลอะไรอย่างไรก็แล้วแต่ แต่การลงมือทำนั้นเกิดผลปรากฏขึ้นในสังคมได้จริง 

ถ้าผิด ความผิดก็เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว

ถ้าถูก ความถูกก็เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ความผิดหรือความถูกนั้นเกิดขึ้นเพราะการลงมือทำ

เพราะฉะนั้น จึงได้หลักการว่า อยากให้อะไรเป็นอะไร อยากให้เกิดอะไรขึ้นในสังคม จงลงมือทำ เพราะการลงมือทำเท่านั้นที่ส่งผลให้เกิดอะไรๆ ขึ้นมาได้จริง

เอาแต่คิด เอาแต่พูดหรือเอาแต่เขียน แม้ความคิดนั้นจะดีเลิศเพียงไร แต่ถ้าไม่มีการลงมือทำ ความคิดนั้นก็เปล่าประโยชน์ 

—————–

ขอให้สังเกตด้วยว่า หลายๆ กรณี คนลงมือทำเขาไม่ต้องมีขั้นตอนหรือมีกรรมวิธีอะไรมากเลย อยากทำก็ลงมือทำทันที 

สมมุติว่าเรื่องที่ทำนั้นเกิดเป็นปัญหา 

คราวนี้ คนที่เข้ามาแก้ปัญหามักจะมีขั้นตอนหรือมีกรรมวิธีมากที่สุด ประชุมกันเอย ถกเถียงกันเอย บางทีในขั้นที่ว่า-จะแก้ปัญหาหรือจะไม่แก้ แค่นี้ก็ยังตกลงกันไม่ได้ ยังไปไม่ถึงขั้นลงมือทำ 

คนสร้างปัญหา ลงมือทำได้ทันที

แต่คนแก้ปัญหา ลงมือทำทันทีไม่ได้ 

สังคมเรามักเป็นเช่นนี้ 

ยังมีผลต่อเนื่องไปอีก นั่นคือ เรื่องที่ผิดเรื่องที่เป็นปัญหานั่นเอง ผู้รับผิดชอบมักไม่รู้ว่า-เกิดเรื่องผิดๆ ขึ้นแล้ว 

อย่างการใช้คำว่า “ทีฆายุกา โหตุ มหาราชินี” นี่แหละ สมมุติว่าตามเหตุผลที่ถูกต้องแล้วใช้ไม่ได้ 

แล้วสมมุติว่ามีใครแจ้งไปที่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

เราก็เดาได้เลยว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบก็จะบอกว่า เอ ไม่เห็นรู้เรื่องนี้เลย ยังไม่เห็นมีเรื่องเข้ามา ยังไม่เห็นมีใครบอก

กว่ากระบวนแก้ปัญหาจะเริ่มต้น รอกันไปเถิด

บางทีปัญหานั้นๆ ลงรากลึกหรือขยายตัวแพร่หลายไปมากมาย – เช่นการใช้ถ้อยคำผิดๆ พูดผิด สะกดผิด ใช้คำผิดความหมาย ใช้กันไปทั่วบ้านทั่วเมืองจนแก้ไม่ได้ จนในที่สุดผิดกลายเป็นถูก —

ก็เกิดจากสาเหตุนี้ สาเหตุที่ผู้รับผิดชอบนั่งรอให้ปัญหาวิ่งเข้ามาชน แต่ไม่ได้ออกไปชนกับปัญหา 

ขนาดปัญหาวิ่งเข้ามาชนแล้ว ยังต้องรอกระบวนการลงมือแก้ปัญหาอีกยาวนานกว่าจะได้ลงมือทำจริงๆ

—————–

สรุปว่า อยากให้อะไรเป็นอะไร อยากให้เกิดอะไรขึ้นในสังคม อย่าพูดอย่างเดียว จงลงมือทำด้วย 

การลงมือทำเท่านั้นที่เปลี่ยนโลกได้

………….

วันที่ ๑๔ เบื้องหน้าแต่พรรษากาล

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๑

๑๑:๑๑

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *