รับบาตร หรือ รับบาต (บาลีวันละคำ 2,249)
รับบาตร หรือ รับบาต
เมื่อพระออกบิณฑบาต คำเก่าเรียกว่า “ไปโปรด” หรือ “ออกโปรด” คำใหม่นอกจากเรียกตรงๆ ว่า “ออกบิณฑบาต” หรือ “ไปบิณฑบาต” แล้ว ยังมีคำที่เรียกกันอีกคำหนึ่งคือ “ไปรับบาตร”
คำว่า “บาตร” ในที่นี้ควรสะกดอย่างไร
“รับบาตร” อย่างที่สะกดนี้
หรือ “รับบาต” –บาต ไม่มี ร เรือ คือย่อมาจากคำว่า “รับบิณฑบาต”
(๑) ถ้าสะกด “รับบาตร”
“บาตร” ในที่นี้ก็คือ “บาตรพระ” บาลีว่า “ปตฺต” (ปัด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ภาชนะเป็นที่ตกลงแห่งข้าวสุก” หมายความว่า ข้าวสุก (= อาหาร) ตกลงไปในภาชนะชนิดนี้ จึงเรียกภาชนะนี้ว่า “ปตฺต”
(2) “ภาชนะที่รักษาจากการตก” หมายความว่า (1) รักษา คือระวังไม่ให้ภาชนะนี้ตก เนื่องจากแต่เดิมบาตรทำด้วยดิน ตกแล้วแตก (2) รักษา คือรองรับอาหารที่ตกลงมาไม่ให้หล่นถึงพื้น แต่ให้ตกลงในภาชนะนี้
“ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราเขียนอิงสันสกฤต แต่ยืดเสียงเป็น “ปาตร” และแผลง ป เป็น บ เป็น “บาตร”
ถามว่า “รับ” เป็นกิริยาของใคร คือใครรับบาตรจากใคร ญาติโยมรับบาตรจากพระภิกษุสามเณร หรือว่าพระภิกษุสามเณรรับบาตรจากญาติโยม
กรณีญาติโยมรับบาตรจากพระภิกษุสามเณร หมายถึงญาติโยมมีจิตศรัทธาต้องการถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณร ในสมัยพุทธกาลชาวบ้านที่มีศรัทธาเช่นนั้นนิยมรับบาตรจากพระภิกษุสามเณรนำไปใส่อาหารแล้วนำบาตรที่มีอาหารบรรจุอยู่นั้นมาถวายพระภิกษุสามเณรเจ้าของบาตร อย่างนี้ก็เรียกได้ว่า “รับบาตร” (โยมรับบาตรไปจากพระ)
หรืออาจเป็นกรณีที่ญาติโยมมีจิตศรัทธาต้องการถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณร จึงมาขอรับบาตรไปที่บ้านเพื่อใส่อาหาร แล้วขอให้พระภิกษุสามเณรรูปนั้นตามไปที่บ้านของตนเพื่อ “รับบาตร” พร้อมทั้งอาหารในบาตรกลับคืนมา อย่างนี้ก็เรียกได้ว่า “รับบาตร” ได้เช่นกัน (พระรับบาตรคืนมาจากโยม)
การกระทำทั้ง 2 ลักษณะนี้ ต่อมาจึงเอามาใช้เรียกกิริยาที่พระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตว่า “รับบาตร” ทั้งๆ ที่ไม่มีใครรับบาตรไปจากใคร
(๒) ถ้าสะกด “รับบาต” ( –บาต ไม่มี ร เรือ)
ต้องหมายถึงตัดมาจากคำเต็มว่า “ไปรับบิณฑบาต” คือพระภิกษุสามเณรนำบาตรไปรับอาหารจากญาติโยมที่รอใส่บาตรอยู่ที่บ้านหรือตามที่ต่างๆ
อาหารที่ญาติโยมถวายให้แก่พระภิกษุสามเณรที่นำบาตรไปรับเช่นนี้มีคำเรียกโดยเฉพาะว่า “บิณฑบาต” (-บาต ไม่มี ร เรือ) แปลตามศัพท์ว่า “การตกไปในบาตรแห่งก้อนข้าวที่คนอื่นให้” (บิณฑ > ปิณฺฑ = ก้อนข้าว, บาต > ปาต = การตก)
“รับบิณฑบาต” พูดลัดตัดคำเหลือเพียง “รับบาต”
แต่อธิบายอย่างนี้และสะกดอย่างนี้คงไม่มีใครยอมรับ เพราะคนส่วนมากพอได้บินเสียง “บาด” และเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระภิกษุสามเณรออกรับอาหารจากญาติโยม ร้อยทั้งร้อยจะต้องเข้าใจว่า เสียงที่เปล่งออกมาว่า “บาด” ต้องสะกดเป็น “บาตร” คือบาตรพระเท่านั้น “บาด” อื่นไม่มี
อนึ่ง คำว่า “ไปรับบาตร” นั้นมีนัยเฉพาะอีกอย่างหนึ่งว่า พระภิกษุสามเณรมีโยมเจ้าประจำคอยใส่บาตร เวลาไปบิณฑบาตที่บ้านโยมผู้นั้นก็จะพูดว่า “ไปรับบาตร” ( -ที่บ้านโยม ก โยม ข)
หลักพระธรรมวินัย :
เมื่อพระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาต ญาติโยมควรรู้หลักพระธรรมวินัยบางประการ เช่น –
๑. พระภิกษุสามเณรจะไม่สวมรองเท้าออกบิณฑบาต ทั้งนี้เพราะมีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่า “ไม่พึงสวมรองเท้าเข้าบ้าน” และในทางพระวินัยถือว่า การออกบิณฑบาตคือการเข้าบ้าน
๒. มีพระวินัยบัญญัติว่า ปริมาณอาหารที่รับจะต้องไม่มากเกินขอบปากบาตร (คือพอฉันอิ่มในแต่ละวัน) ถ้ามีญาติโยมใส่บาตรมากจนล้นบาตร พระวินัยอนุญาตให้ถ่ายอาหารออกแล้วรับอีกได้ แต่อาหารทั้งหมดต้องไม่เกิน 3 บาตร อาหารที่รับมามากเช่นนั้นท่านว่าต้องแบ่งปันให้แก่เพื่อนพระภิกษุสามเณรด้วยกัน ห้ามกีดกันไว้ฉันเฉพาะตัว
๓. อาหารเพื่อดำรงชีพของพระภิกษุสามเณรต้องได้มาจากการบิณฑบาต ดังที่พระอุปัชฌาย์จะต้องสอนพระบวชใหม่ตั้งแต่วันแรกว่า
“ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา – การบวชมีวิธีดำรงชีวิตโดยอาศัยโภชนะคืออาหารแต่ละคำที่ได้มาด้วยปลีแข้ง”
คำว่า “อาหารแต่ละคำที่ได้มาด้วยปลีแข้ง” ก็คือต้องเดินบิณฑบาต และต้องออกบิณฑบาตวันต่อวัน เพราะมีสิกขาบทห้ามเก็บสะสมอาหาร
พระภิกษุสามเณรจะไม่ออกบิณฑบาตก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนที่กำหนดไว้ในพระวินัย
เงื่อนไขนั้นกำหนดไว้เป็นประการใด ควรต้องช่วยกันศึกษา (มิใช่นั่งนิ่งรอให้มีใครเอาความรู้มาใส่ปากป้อนให้)
๔. มีคำพระเก่าพูดสืบกันมาว่า “อาหารพระเหมือนอาหารเสือ” หมายความว่า การออกบิณฑบาตนั้นบางวันได้อาหารมาก บางวันได้น้อย และบางวันแทบจะไม่ได้เลยก็มี ชีวิตพระจึงเหมือนเสือออกล่าเหยื่อ วันไหนจับเหยื่อได้ก็อิ่ม วันไหนจับไม่ได้ก็อด
๕. การออกบิณฑบาตก็เพื่อให้ได้อาหารมาดำรงชีพพอมีกำลังเรี่ยวแรงศึกษาปฏิบัติธรรม เจตนารมณ์ของการบิณฑบาตมีเท่านี้ (ส่วนการสงเคราะห์ญาติโยมให้ได้บำเพ็ญบุญหรือได้บุญ เป็นการขยายผลไปจากเจตนาเดิมนี้) มิใช่เพื่อเอาของที่บิณฑบาตได้ไปขาย หรือไปเลี้ยงครอบครัว หรือบิณฑบาตเงินเพื่อรวย หรือเพื่อการอื่นๆ ซึ่งเป็นการประทุษร้ายต่อศรัทธาของญาติโยม ทั้งเป็นการประทุษร้ายต่อพระศาสนาอีกด้วย
…………..
บาลีวันละคำชุด:-
: ช่วยกันสืบทอดพระศาสนา
: ช่วยกันรู้ภาษาพระธรรมวินัย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ตายเพราะไม่มีแรงหากิน
: มีเกียรติกว่าตายเพราะมีแรงแย่งกันกิน
#บาลีวันละคำ (2,249)
9-8-61