อาวาส (บาลีวันละคำ 420)
อาวาส
บาลีอ่านว่า อา-วา-สะ
ภาษาไทยอ่านว่า อา-วาด
“อาวาส” รากศัพท์คือ อา + วส (ธาตุ = อยู่) + ณ ปัจจัย
ณ ปัจจัย หรือปัจจัยที่เนื่องด้วย ณ (เช่น เณ ณฺย) มักไม่ปรากฏตัว ณ (ภาษาสูตรไวยากรณ์ว่า “ลบ ณ ทิ้งเสีย”) แต่มีอำนาจทีฆะต้นธาตุ คือธาตุที่มี 2 พยางค์ ถ้าพยางค์แรกเสียงสั้นก็ยืดเป็นเสียงยาว (อะ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู) ในที่นี้ วส ธาตุ “ว” เสียงสั้น จึงยืดเป็น “วา” : อา + วส = วาส + ณ = อาวาส
“อาวาส” แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มาอยู่” = มาถึงตรงนั้นแล้วก็อยู่ จึงเรียกที่ตรงนั้นว่า “อาวาส” ความหมายกว้างๆ คือ การพักแรม, การพักอยู่, การอาศัยอยู่, การอยู่; ที่อยู่, ที่พำนัก
ในภาษาไทย “อาวาส” มีความหมายเฉพาะว่า วัด
จากการศึกษาสังเกตสิ่งก่อสร้างภายในอาวาสในเมืองไทยที่มีมาแต่ก่อน ท่านแบ่งเป็น 3 เขต ตามแนวแห่งพระรัตนตรัย คือ
1. เขตที่มีโบสถ์ วิหาร เจดีย์ สถูป พระธาตุ เรียกว่า “พุทธาวาส”
2. เขตที่มีศาลาการเปรียญ หอไตร หอสวดมนต์ เรียกว่า “ธัมมาวาส”
3. เขตที่เป็นกุฏิที่พระสงฆ์อยู่ เรียกว่า “สังฆาวาส”
“อาวาส” ที่ไม่เกี่ยวกับวัด คือ “ฆราวาส” (ฆร + อาวาส) แปลว่า “ผู้อยู่ครองเรือน” คือชาวบ้านทั่วไป พูดล้อตามเขตทั้งสามข้างต้นก็ว่า “เขตของชาวบ้าน”
: พระอยู่อย่างพระ ศาสนาพิลาส
: พระอยู่อย่างฆราวาส ศาสนาพินาศ
บาลีวันละคำ (420)
9-7-56
อาวาส = อาวาส, วัด, ที่อยู่อาศัย, ที่พัก (ศัพท์วิเคราะห์)
อาวสนฺติ เอตฺถาติ อาวาโส ที่เป็นที่มาอยู่
อา บทหน้า วส ธาตุ ในความหมายว่าอยู่ ณ ปัจจัย ทีฆะ อ เป็น อา
อาวาส (บาลี-อังกฤษ)
การพักแรม, การพักอยู่, การอาศัยอยู่, การอยู่; ที่อยู่, ที่พำนัก, อาวาส
sojourn, stay, dwelling, living; dwelling — place, residence
อาวาส ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ที่อยู่อาศัย, อาวาส, วัด.
อาวาส (ประมวลศัพท์)
ที่อยู่, โดยปรกติหมายถึงที่อยู่ของพระสงฆ์ คือ วัด
อาวาส
[-วาด] น. วัด เช่น เจ้าอาวาส ที่อยู่ เช่น พุทธาวาส (พุทธ + อาวาส) คือ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูป หมายถึง โบสถ์ วิหาร สังฆาวาส (สังฆ + อาวาส) คือ ที่อยู่ของพระสงฆ์; ผู้ครอบครอง เช่น ฆราวาส (ฆร + อาวาส) คือ ผู้ครอบครองเรือน หรือผู้อยู่ครองเรือน. (ป., ส.).
อาวาสิก
น. ผู้ครอบครองอาวาส คือ พระสงฆ์. (ป.).