บาลีวันละคำ

อัยการ [1] (บาลีวันละคำ 421)

อัยการ [1]

อ่านว่า ไอ-ยะ-กาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกคำแปลว่า “การของเจ้า

ถ้าถือตามคำแปลของ พจน.42 “อัยการ” ตรงกับบาลีว่า “อยฺยการ” อ่านว่า ไอ-ยะ-กา-ระ

อยฺย” หมายถึง ผู้เป็นใหญ่, ผู้ปกครอง, ผู้สูงศักดิ์, เจ้าเหนือหัว, เจ้านาย, หัวหน้า ตรงกับคำเรียกขานที่ว่า ท่านผู้ทรงเกียรติ, ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

อยฺย” คำนี้ แปลตามรากศัพท์จริงๆ ว่า “ควรเข้าไปหา” และ “ที่รู้จักกันทั่วไปว่าประเสริฐ

ขยายความตามหลักตรรกะว่า เราต้องการสิ่งใด จึงเข้าไปหาสิ่งนั้น, สิ่งใดประเสริฐ เราจึงต้องการสิ่งนั้น

ดังนั้น ความหมายโดยนัยของ “อยฺย” ก็คือ “ศูนย์รวมแห่งผลประโยชน์” หรือ “ผลประโยชน์ของส่วนรวม” นั่นเอง

การ” แปลว่า การกระทำ, งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา

อยฺย + การ = อยฺยการ เขียนแบบไทยว่า “อัยการ

พจน.42 บอกความหมายของ “อัยการ” ไว้ดังนี้ –

1. ตัวบทกฎหมาย เรียกว่า พระอัยการ

2. ชื่อสำนักงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง ดำเนินคดีแพ่งและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เรียกว่า สำนักงานอัยการสูงสุด, เดิมเรียกว่า กรมอัยการ

3 เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดินเพื่ออำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เรียกว่า พนักงานอัยการ หรือ ข้าราชการอัยการ

4 เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ทั้งนี้ จะเป็นข้าราชการในสำนักงานอัยการสูงสุดหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้

5 โบราณเรียกว่า พนักงานรักษาพระอัยการ ยกกระบัตร หรือ ยกบัตร

อัยการ : ผู้ปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน

ใครที่จ้องแต่จะเขมือบ : ก็คือ เหลือบของแผ่นดิน

———————

(รับฝากจากพระคุณท่าน อาทิตฺตเมธี ภิกฺขุ)

บาลีวันละคำ (421)

10-7-56

อัยการ

(อาทิตฺตเมธี ภิกฺขุ ๓ ก.ค.๕๖)

อยฺย = พระคุณเจ้า, พระผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นใหญ่, ผู้ปกครอง, เจ้านาย, ผู้สูงศักดิ์ (ศัพท์วิเคราะห์)

อยิตพฺโพ อุปคนฺตพฺโพติ อยฺโย ผู้ควรเข้าไปหา

อย ธาตุ ในความหมายว่าไป, ถึง ย ปัจจัย

สปฺปุริเสหิ อยิตพฺโพ อุปคนฺตพฺโพติ อยฺโย ผู้อันพวกสัตบุรุษเข้าไปหา (เหมือน วิ.ต้น)

เสฏฺฐภาเวน อยียเต ญายเตติ อยฺโย ผู้อันคนรู้จักทั่วไปว่าเป็นผู้ประเสริฐ

อย ธาตุ ในความหมายว่ารู้ ย ปัจจัย

อยฺย (รูปย่อแทนการออกเสียง “อริย”) (บาลี-อังกฤษ)

(นาม) สุภาพบุรุษ, เจ้าเหนือหัว, เจ้านาย, หัวหน้า gentleman, sire, lord, master (อยฺยา (พหุ.) = สุภาพบุรุษผู้ทรงเกียรติ, ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย)

(คุณ) ทรงคุณค่า, เป็นสุภาพบุรุษ, ทรงเกียรติ worthy, gentlemanly, honourable

การ

การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ; การผลิตหรือการใช้ คือสภาวะหรือคุณภาพ (ของ–); ผู้ทำหรือจัดการ หรือค้า (กับ–)

อยฺย คุณ.,ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ผู้เจริญ, เจัานาย, คนมีตระกูล.

การ ป.

การกระทำ, การสักการะ.

อัยยะ

  น. ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นใหญ่, นาย. (ป.).

อัยการ

  [ไอยะ-] น. การของเจ้า; (โบ) ตัวบทกฎหมาย เรียกว่า พระอัยการ; (กฎ) ชื่อสำนักงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง ดำเนินคดีแพ่งและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เรียกว่า สำนักงานอัยการสูงสุด, เดิมเรียกว่า กรมอัยการ, ถ้าหมายถึงเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายแผ่นดินเพื่ออำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เรียกว่า พนักงานอัยการ หรือ ข้าราชการอัยการ, เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ทั้งนี้ จะเป็นข้าราชการในสำนักงานอัยการสูงสุดหรือเจ้าพนักงานอื่นผู้มีอำนาจเช่นนั้นก็ได้, โบราณเรียกว่า พนักงานรักษาพระอัยการ ยกกระบัตร หรือ ยกบัตร.

การ ๑

  น. งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทํา, มักใช้เข้าคู่กับคํา งาน เช่น การงาน เป็นการเป็นงาน ได้การได้งาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว การคลัง การเมือง, ถ้าอยู่หน้ากริยา ทํากริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน.

-การ ๒

  น. ผู้ทํา, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต เช่น กรรมการ ตุลาการ, ถ้าอยู่หลังคําอื่นที่ไม่ใช่คําศัพท์ มีความหมายเป็นเฉพาะก็มี เช่น กงการ เจ้าการ นักการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ.

-การ ๓

  คําประกอบท้ายสมาสคําบาลีและสันสกฤต มีความหมายเหมือน การ ๑ เช่น ราชการ พาณิชยการ.

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย