บาลีวันละคำ

อัครสาวก (บาลีวันละคำ 1,490)

อัครสาวก

อ่านว่า อัก-คฺระ-สา-วก

ประกอบด้วย อัคร + สาวก

(๑) “อัคร

บาลีเป็น “อคฺค” (อัก-คะ) รากศัพท์มาจาก อชฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง ชฺ ที่ (อ)-ชฺ เป็น คฺ, ซ้อน คฺ

: อชฺ > อค + = อคฺค + = อคฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ถึงความประเสริฐที่สุด” (2) “ฐานะอันบุคคลถึงได้ด้วยบุญ” (3) “สิ่งที่ถึงก่อน

อคฺค” หมายถึง ยอด,  จุดหมาย, สูงสุด, สุดยอด ส่วนที่ดีที่สุด,  ความดีเลิศ  ความดีวิเศษ, ความเด่น, ตำแหน่งยอดเยี่ยม (top, point, the top or tip, the best part, the ideal, excellence, prominence, first place)

อคฺค ในภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “อัคร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อัคร– : (คำวิเศษณ์) เลิศ, ยอด, มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส, เช่น อัครมเหสี อัครมหาเสนาบดี. (ส.; ป. อคฺค).”

(๒) “สาวก

บาลีอ่านว่า สา-วะ-กะ รากศัพท์มาจาก สุ (ธาตุ = ฟัง) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (สุ > โส > สว), ยืดเสียง อะ ที่ -(ว) เป็น อา ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย (สว > สาว), แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: สุ > โส > สว + ณฺวุ > อก : สว + อก = สวก > สาวก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ฟังคำของครู” หมายถึง ผู้ฟัง, สาวก (a hearer, disciple)

ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –

สาวก : (คำนาม) ศิษย์ของศาสดา. (ป.; ส. ศฺราวก).”

อคฺค + สาวก = อคฺคสาวก > อัครสาวก แปลว่า สาวกผู้เลิศที่สุด

ข้อควรรู้ :

๑ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะมีพระอัครสาวกคู่หนึ่ง คือ อัครสาวกฝ่ายขวา เลิศทางปัญญา และอัครสาวกฝ่ายซ้าย เลิศทางฤทธิ์

พระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ พระอัครสาวกฝ่ายขวาคือพระสารีบุตรเถระ พระอัครสาวกฝ่ายซ้ายคือพระมหาโมคคัลลานเถระ

แทรกความเห็น :

เหตุที่มีพระอัครสาวกเลิศทางปัญญาองค์หนึ่ง เลิศทางฤทธิ์องค์หนึ่ง น่าจะเป็นเพราะในสังคมมนุษย์ทุกยุคสมัยจะมีคนอยู่ 2 จำพวกใหญ่ๆ คือ พวกหนึ่ง-พูดกันด้วยเหตุผลรู้เรื่องดี เป็นภาระหน้าที่ของพระอัครสาวกผู้เลิศทางปัญญา และอีกพวกหนึ่ง-พูดกันดีๆ ไม่รู้เรื่อง เป็นภาระหน้าที่ของพระอัครสาวกผู้เลิศทางฤทธิ์

๒ พระอัครสาวกจะปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าเสมอ

๓ ผู้ที่เป็น “อัครสาวก” จะต้องเป็นพระอรหันต์ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาในอดีตชาติแล้วตั้งความปรารถนาเป็นอัครสาวกและได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าในอดีตว่าความปรารถนานั้นจะสำเร็จในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใด เมื่อพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงแต่งตั้งแล้วจึงจะได้เป็นอัครสาวก

ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากจะตั้งใครให้เป็น “อัครสาวก” ก็ตั้งกันได้ตามใจชอบ

: “อัครสาวก” ไม่ใช่ตำแหน่งสาธารณะ

: ไม่รู้จักกาลเทศะ (โบราณว่า) “ระวังขี้กลากจะกินกบาล”

3-7-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย