วิธีที่จะไม่สร้างปัญหาแย่ๆ ให้ส่วนรวม
วิธีที่จะไม่สร้างปัญหาแย่ๆ ให้ส่วนรวม
————————————
ตอนนี้นักการเมืองกำลังหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ วันเลือกตั้ง) หน้าบ้านผมมีรถโฆษณาหาเสียงผ่านไปมาทุกวัน คึกคักดี
ผมมีข้อสังเกตว่า นักการเมืองไม่ว่าระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติจะมีธรรมชาติเหมือนกัน คือถ้าไม่มีการเลือกตั้งก็จะหายเงียบเหมือนไม่มีตัวตน
บ้านเมืองมีปัญหาอะไร ท่านเหล่านี้จะนิ่งเงียบ ไม่เคยออกมาช่วยคิดอ่านหาทางแก้ไขใดๆ ต่อให้ปัญหาหล่นลงมากองอยู่หน้าบ้านตัวเองแท้ๆ ท่านก็จะนิ่งเฉย เหมือนอยู่คนละโลก
เหตุผลที่นิยมยกขึ้นมาอ้างก็คือ เรื่องนั้นๆ เขามีเจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว เราไม่ควรจะเข้าไปก้าวก่าย
เข้าใจพูดนะครับ-ไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย
มองการช่วยคิดช่วยทำช่วยแก้ปัญหาเป็นการก้าวก่าย
อีกอย่างหนึ่งที่เป็นธรรมชาติของนักการเมืองก็คือ ต้องมีตำแหน่งและมีผลประโยชน์ตอบแทนจึงจะทำงานรับใช้ประเทศชาติ รับใช้ประชาชน
พอไม่ได้รับเลือกตั้ง ท่านเหล่านั้นก็จะหายเข้ากลีบเมฆไป
บ้านเมืองมีปัญหาอะไร ท่านก็จะเงียบเฉย ด้วยข้ออ้างเดิม-เขามีเจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว เราไม่ควรจะเข้าไปก้าวก่าย
จบเรื่องนักการเมืองไว้แค่นี้
ไม่ใช่ประเด็นที่ตั้งใจจะพูดนะครับ
ประเด็นที่ตั้งใจก็คือ-ผมกำลังจะโยงธรรมชาตินักการเมืองมาที่ธรรมชาติของชาวพุทธในเมืองไทย ซึ่งมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง
นั่นคือ ชาวพุทธที่เป็นชาวบ้านในเมืองไทยไม่ศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยด้วยข้ออ้างว่า-การศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยเป็นหน้าที่ของพระภิกษุสามเณร ไม่ใช่หน้าที่ของชาวบ้าน
ใช้สำนวนล้อคำพูดของนักการเมืองก็ต้องพูดว่า – งานพระศาสนามีพระสงฆ์ท่านดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว ชาวบ้านไม่ต้องเข้าไปก้าวก่าย
ผลก็คือ-ชาวบ้านส่วนมากก็เลยไม่มีความรู้หลักพระธรรมวินัย-แม้ในเรื่องที่ตนกำลังทำหรือกำลังเกี่ยวข้องอยู่แท้ๆ
เช่นเรื่องใส่บาตร ที่ชาวเรานิยมทำกันทั่วไปทุกเวลาเช้า
ทำไมพระจึงไม่สวมรองเท้าเวลาออกบิณฑบาต ไม่รู้
พระรับอาหารที่ใส่บาตรได้มากน้อยแค่ไหน ไม่รู้
ที่เห็นรับกันล้นเหลือเป็นคันรถเข็น ตามหลักพระวินัยจะต้องเอาไปทำอย่างไร ไม่รู้
ยืนบิณฑบาตอยู่กับที่ ยืนให้พรกันข้างถนน ผิดหรือถูก ไม่รู้
เอาเงินใส่บาตร ผิดหรือถูก ไม่รู้
จากไม่รู้ อาการก็หนักขึ้นไปถึงขั้นไม่สนใจที่จะรู้
จะผิดจะถูกจะต้องรู้ไปทำไม ทำแล้วได้บุญก็พอใจแล้ว-ว่ากันอย่างนั้น
ถามว่า-ได้บุญด้วยเหตุผลอย่างไร พิสูจน์ได้อย่างไรว่าทำแบบนั้นแล้วได้บุญ
ยิ่งไม่รู้หนักเข้าไปอีก อธิบายไม่ได้ ตอบไม่ได้ ชักจะโกรธเอาด้วย
พูดเป็นอยู่คำเดียว-ทำแล้วได้บุญก็พอแล้ว อย่ามาซักไซ้ รำคาญ ไร้สาระ
นี่เป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง
อีกสักเรื่อง – ไฟงานศพ ไปฟังสวดพระธรรม นี่ก็อีกเรื่องหนึ่งที่คนส่วนมากไม่มีความรู้
ที่ว่าสวดพระธรรมๆ นั้น คือสวดเรื่องอะไร
ทำไมพระที่สวดพระธรรมจึงมี ๔ รูป
ทำไมต้องสวด ๔ จบ นี่ก็ชักจะยุ่งแล้ว เพราะหลายวัดสวดแค่ ๒ จบ บางทีก็จบเดียว พอพูดว่า ๔ จบ ชักงงแล้ว
ทำไมต้องทอดผ้าบังสุกุล
พระที่ขึ้นไปชักผ้าท่าน “ว่า” อะไร
พูดว่า “ชักผ้า” นี่ก็ทำท่าจะงงอีกเหมือนกัน ทำไมไปเรียกว่า “ชักผ้า” เห็นเรียกกันว่า “พิจารณาผ้า” ไม่ใช่หรือ ไปอุตริเอาคำว่า “ชักผ้า” มาแต่ไหน
เรื่องกรวดน้ำก็มีปัญหาเยอะที่คนส่วนมากไม่รู้เรื่อง
สรุปว่า กิจที่เกี่ยวกับพระศาสนาที่ทำตั้งแต่เช้าจนค่ำ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ เราทำกันไปแบบพร่ามัว
จุดที่เราพลาดกันมาช้านานก็คือ บอกกันว่าการศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยไม่ใช่หน้าที่ของชาวบ้าน
โปรดทราบว่า ที่บอกว่าให้ช่วยกันศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยนั้น ไม่ใช่ว่าเริ่มต้นก็จะเกณฑ์ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญอ่านพระไตรปิฎกจบ
เอาแค่เรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง เรื่องใกล้ตัว เรื่องที่ทำกันทั่วไปในชีวิตประจำวันนี่เท่านั้น
เริ่มเข้าอนุบาลกันตรงนี้ก่อน
หาความรู้เรื่องพวกนี้กันก่อน
ยังไม่ต้องไปถึงระดับปริญญา
ทำได้หรือไม่
ยังมีชาวพุทธอีกประเภทหนึ่ง ที่มุ่งจะเอาแต่แก่น เอาแต่หลักธรรม เน้นการปฏิบัติ มุ่งจะดับภพดับชาติ ก็จะมองเรื่องพวกนี้ว่าเสียเวลา ไร้สาระ
นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรจะต้องทำความเข้าใจ หรือปรับความเข้าใจกันในโอกาสต่อไป
……………….
ตอนนี้กำลังมีผู้ยกปัญหาพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นประเด็นทางการเมือง
ถ้าไม่มีความรู้พระธรรมวินัยไว้เป็นหลัก ก็จะพากันหลงทางได้ง่ายที่สุด
หลงทางทั้งฝ่ายที่ตั้งปัญหา
ทั้งฝ่ายที่ตอบปัญหา
รวมทั้งคนส่วนใหญ่ที่ติดตามปัญหา
กลายเป็นตัวหมากในกระดานที่คนเล่นจับเดินได้ตามต้องการโดยไม่รู้ตัว
เราจะทำกิจเกี่ยวกับพระศาสนากันแบบพร่ามัว รู้บ้างไม่รู้บ้าง รู้ผิดรู้ถูกแบบนี้ไปอีกนานแค่ไหน?
……………….
ที่ผมพูดบ่อยๆ ว่าให้ช่วยกันศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยนั้น สมัยนี้ช่องทางศึกษาเรียนรู้เปิดกว้างรอบทิศทาง
โอกาสมีมากกว่าสมัยผมเริ่มศึกษาร้อยเท่าพันเท่า
ก็อย่างที่เคยบอก-สมัยผม จะอ่านพระไตรปิฎกสักเล่ม ต้องไปที่วัดหรือไปห้องสมุด ซึ่งก็มีน้อยอย่างยิ่ง และยุ่งยากอย่างยิ่ง
สมัยนี้ นั่งกระดิกขาอยู่กับบ้านก็สามารถอ่านพระไตรปิฎกได้ชั่วคลิกเดียว
ใครที่เข้ามาอ่านโพสต์ที่ผมเขียนนี้ได้ ย่อมสามารถเข้าไปหาความรู้เกี่ยวกับพระธรรมวินัยที่นั่นที่โน่นได้อีกอยางไร้เขตจำกัด
……………….
แต่ถ้าใครอยากจะทำให้เป็นประเด็นทางการเมือง ผมขอชี้แนะให้ไปเริ่มต้นที่วัด
พระภิกษุสามเณรที่ถนัดในทางยืนถือป้ายท่านน่าจะทำงานนี้ได้ถนัดกว่าใครอื่น
นั่นคือ ช่วยกันรณรงค์เรียกร้องให้ปฏิรูปวัดทั่วสังฆมณฑลให้เป็นศูนย์การศึกษาพระธรรมวินัยสำหรับประชาชน
วัดจะเป็นศูนย์การศึกษาพระธรรมวินัยสำหรับประชาชนได้ พระภิกษุสามเณรในวัดจะต้องมีความรู้หลักพระธรรมวินัยเป็นอย่างดีก่อน แล้วทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ไปสู่ประชาชน
รณรงค์ให้วัดเป็นศูนย์การศึกษาพระธรรมวินัยสำหรับประชาชน ก็เท่ากับรณรงค์ให้พระภิกษุสามเณรศึกษาพระธรรมวินัยไปด้วยในตัว
เรามีวัดทั่วประเทศประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัด
ส่วนใหญ่เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม
ยิ่งวัดที่มีคนหลั่งไหลเข้าไปวันละมากๆ ด้วยแล้ว ล้วนเข้าไปทำพิธีกรรมทั้งสิ้น
กิจกรรมศึกษาเรียนรู้ถ่ายทอดพระธรรมวินัย มีค่าเป็นศูนย์ +
ฟื้นฟูบทบาทวัดในฐานะแหล่งเรียนรู้ถ่ายทอดพระธรรมวินัยขึ้นมา
จะด้วยการปฏิรูป ปฏิวัติ รื้อปรับระบบ
หรือด้วยวิธีใดๆ ก็รณรงค์กันเข้าไป
พระภิกษุสามเณรที่ไปยืนถือป้ายก็ไม่ต้องลำบากไปยืนที่ไหนให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์
ยืนที่วัดของท่านนั่นเลย วัดใครวัดมัน ยืนกันให้กระหน่ำ
ชูประเด็นเดียว-ปฏิรูปวัดให้เป็นศูนย์การศึกษาพระธรรมวินัยสำหรับประชาชน
เมื่อพระภิกษุสามเณรและประชาชน (๑) มีความรู้ในหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง และ (๒) ประพฤติปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง มั่นคงทั่วถึงกันแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าอำนาจรัฐหรืออำนาจลึกลับอะไรจะมาครอบงำพระศาสนา ตราบเท่าที่ผู้บริหารบ้านเมืองยังเป็นสัมมาทิฐิอยู่
ส่วนที่ว่า-ทำอย่างไรผู้บริหารบ้านเมืองจึงจะเป็นสัมมาทิฐิ และถ้าผู้บริหารบ้านเมืองเป็นมิจฉาทิฐิจะทำอย่างไรกัน-เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
แต่ต้องทำวัดให้เป็นศูนย์การศึกษาพระธรรมวินัยสำหรับประชาชนก่อน เรื่องอื่นขึ้นบัญชีเตรียมไว้
ใครอยากจะแย้งว่า-มัวแต่หลับตาศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเดียวไม่ได้หรอก ต้องปฏิรูปโครงสร้างระบบการปกครองก่อนจึงจะได้ผล
ได้ พรบ.คณะสงฆ์ที่เป็นธรรมยุติธรรมวิเศษที่สุดในโลกมาสักกี่ฉบับก็ตาม แต่ถ้าพระภิกษุสามเณรและชาวบ้านไม่มีความรู้ในหลักพระธรรมวินัยและไม่ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง พระศาสนาก็ลอยละล่องไปตามลม
แต่ไม่เถียงด้วยละครับ ขอบาย
เชิญตามสบายเถิด
……………….
ทฤษฎีของผมก็คือ ทำคนให้มีความรู้และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้องก่อน แล้วเขาจะเป็นสมาชิกที่ดีมีคุณภาพของสังคม ทั้งสังคมบ้านและสังคมวัด
และวิธีทำคนให้มีความรู้และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้องก็คือ ตัวเราเองลงมือ “หาความรู้” และปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่ถูกต้องก่อนเป็นคนแรก ต่อจากนั้นจึงทำหน้าที่ “ให้ความรู้” แก่คนอื่นๆ ต่อไปอีก
จะเรียกร้องให้คนอื่นๆ ทำด้วยก็ได้ จะชักชวน หรือจะถึงกับใช้วิธีเคี่ยวเข็ญบังคับใครอีกก็ได้ถ้าแน่ใจว่าเรามีอำนาจบารมีมากพอที่จะทำเช่นนั้นได้
แต่ตัวเราต้องทำด้วย
และต้องทำก่อน
โดยไม่ต้องรอใคร
และต้องทำอย่างยั่งยืน อย่างเป็นชีวิตจริง
ไม่ใช่การแสดงหรือสาธิตให้ดูชั่วครั้งชั่วคราว
ใครจะทำหรือไม่ทำก็ช่างเขา
แต่มีคนทำอยู่คนหนึ่งแน่ๆ คือตัวเรา
นี่จะเป็นงานที่ตรงประเด็นที่สุด-ถ้าพระภิกษุสามเณรจะเป็นผู้ลงมือทำ-ทำที่วัดของแต่ละท่านนั่นเลยก่อนเพื่อน
วิธีตามที่กล่าวมานี้ไม่มีประตูขาดทุน
เสมอตัวก็ไม่มี
มีแต่กำไรล้วนๆ
ที่แน่ที่สุดก็คือ การได้ศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้ดีแล้ว เป็นกำไรบริสุทธิ์ของชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้เข้ามาอยู่ในร่มเงาของพระพุทธศาสนา
วิธีนี้ แม้หากจะยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาส่วนรวมได้ ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะสบายใจได้ว่า-ไม่ใช่เราแน่ๆ ที่สร้างปัญหาแย่ๆ ให้ส่วนรวม
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
๑๗:๐๒
…………………………….
…………………………….