ปุญญักเขตตัง (ชุดสังฆคุณ 9) (บาลีวันละคำ 3,790)
ปุญญักเขตตัง (ชุดสังฆคุณ 9)
…………..
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ
คำบาลีแสดงพระสังฆคุณว่าดังนี้ –
…………..
สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
อุชุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
ญายปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
สามีจิปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ
ยทิทํ จตฺตาริ ปุริสยุคานิ อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา
เอส ภควโต สาวกสงฺโฆ
อาหุเนยฺโย ปาหุเนยฺโย ทกฺขิเณยฺโย อญฺชลีกรณีโย
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ.
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111
…………..
พระสังฆคุณ 9 ท่านนับบทว่า “ปุญญักเขตตัง” เป็นบทที่ 9
คำว่า “ปุญญักเขตตัง” เขียนแบบคำอ่านเป็น “ปุญญักเขตตัง” ตรงกับเขียนแบบคำไทย อ่านว่า ปุน-ยัก-เขด-ตัง
คำว่า “ปุญญักเขตตัง” เขียนแบบบาลีเป็น “ปุญฺญกฺเขตฺตํ” รูปคำเดิมเป็น “ปุญฺญกฺเขตฺต” อ่านว่า ปุน-ยัก-เขด-ตะ ประกอบด้วยคำว่า ปุญฺญ + เขตฺต
(๑) “ปุญฺญ”
อ่านว่า ปุน-ยะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ปุ (ธาตุ = ชำระ สะอาด) + ณฺย ปัจจัย, ลง น อาคม ระว่างธาตุ + ปัจจัย (ปุ + น + ณฺย), ลบ ณฺ, แปลง นฺย เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุ + น = ปุน + ณฺย = ปุนณฺย > ปุนฺย > ปุญฺ + ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่ชำระสันดานของตนให้สะอาด” “กรรมที่ชำระผู้ทำให้สะอาด”
(2) ปุชฺช (น่าบูชา) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ชฺช, ช และ ณ, แปลง นฺย เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุชฺช + ชนฺ + ณฺย = ปุชฺชชนณฺย > ปุชนณฺย > ปุนณฺย > ปุนฺย > ปุญฺ + ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะอันทำให้เกิดความน่าบูชา”
(3) ปุณฺณ (เต็ม) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺณ, ก และ ณ, แปลง รย เป็น ญ, ซ้อน ญฺ
: ปุณฺณ + กรฺ + ณฺย = ปุณฺณกรณฺย > ปุกรณฺย > ปุรณฺย > ปุรย > ปุญ + ญ = ปุญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำอันทำให้เต็มอิ่มสมน้ำใจ”
“ปุญฺญ” หมายถึง เครื่องชำระสันดาน, ความดี, กรรมที่ดีงามเป็นประโยชน์, ความประพฤติชอบทางกายวาจาและใจ, กุศลกรรม, ความสุข, กุศลธรรม (merit; meritorious action; virtue; righteousness; moral acts; good works)
“ปุญฺญ” ภาษาไทยใช้ว่า “บุญ” ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ การกระทําดีตามหลักคําสอนในศาสนา
(๒) “เขตฺต”
อ่านว่า เขด-ตะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ขิปฺ (ธาตุ = หว่าน, กระจายออก) + ต ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ปฺ) เป็น เอ, ลบ ปฺ ที่สุดธาตุ, ซ้อน ต
: ขิปฺ > เขป + ต = เขปต > เขต + ต = เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่หว่านพืช”
(2) ขิตฺต (เมล็ดพืชที่หว่านไป) + ตา (ธาตุ = รักษา) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ตฺต) เป็น เอ, ลบ ต ที่ (ขิตฺ)-ต (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบที่สุดบทหน้า”), ลบสระที่สุดธาตุ: ตา > ต
: ขิตฺต + ตา = ขิตฺตตา > ขิตฺตต + อ = ขิตฺตต > ขิตฺต > เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่รักษาพืชที่หว่านไว้”
“เขตฺต” หมายถึง :
(1) นา, ที่ดินแปลงหนึ่ง, ที่ดินอันเหมาะสมแก่การเพาะปลูก, ที่ตั้ง (a field, a plot of land, arable land, a site)
(2) ที่อันเป็นเนื้อนาบุญ, กองแห่งกุศลกรรม (the soil of merit, the deposit of good deeds)
“เขตฺต” ภาษาไทยปัจจุบันใช้เป็น “เขต” (ตัด ต ออกตัวหนึ่ง) อ่านว่า เขด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เขต : (คำนาม) แดนที่กําหนดขีดคั่นไว้ เช่น เขตป่า เขตบ้าน, เวลาที่กําหนดขีดคั่นไว้ เช่น หมดเขตวันที่ ๑๕. (ป. เขตฺต). (โบราณเขียนว่า เขตร).”
ปุญฺญ + เขตฺต ซ้อน กฺ ระหว่าง ปุญฺญ + เขตฺต : ปุญฺญ + กฺ + เขตฺต = ปุญฺญกฺเขตฺต (ปุน-ยัก-เขด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “เขตแห่งบุญ” “นาแห่งบุญ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไขความ “ปุญฺญกฺเขตฺต” ว่า –
field of merit, Ep. of the Sangha or any holy personalities, doing good (lit. planting seeds of merit) to whom is a source of future compensation to the benefactor. (เนื้อนาบุญ, เป็นคำแสดงคุณลักษณะของพระสงฆ์หรือผู้ถือบวช, ทำความดี (ตามตัว. การปลูกพืชคือบุญ) ต่อผู้ที่เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ ซึ่งจะหวังให้ผลต่อผู้ทำในอนาคต)
“ปุญฺญกฺเขตฺต” ในภาษาไทยใช้เป็น “บุญเขต” (บุน-ยะ-เขด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บุญเขต : (คำนาม) เนื้อนาบุญ, แหล่งที่ควรแก่การทำบุญ เช่น พระสงฆ์. (ป. ปุญฺญกฺเขตฺต).”
“ปุญฺญกฺเขตฺต” เป็นคำขยายของ “สาวกสงฺโฆ” (พระสงฆ์สาวก, ที่คำขึ้นต้นว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ) แต่เป็นคำขยายที่เรียกตามศัพท์วากยสัมพันธ์ว่า “วิกติกัตตา” (วิ-กะ-ติ-กัด-ตา) คือเป็นคำนาม แต่ใช้อย่างคุณนาม มีคำแปลนำว่า “เป็น-”
คำนามที่เป็น “วิกติกัตตา” นี้ มีหลักว่า ศัพท์เดิมเป็นลิงค์อะไร เมื่อประกอบวิภัตติ ให้เปลี่ยนรูปตามลิงค์ของตน ไม่เปลี่ยนตามคำนามที่ตนขยาย
“-เขตฺต” เป็นนปุงสกลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “ปุญฺญกฺเขตฺตํ” (ปุน-ยัก-เขด-ตัง) ไม่เปลี่ยนรูปเป็น “ปุญฺญกฺเขตฺโต” ตาม “สาวกสงฺโฆ” เพราะไม่ใช่คุณนามที่เป็น “วิเสสนะ” เหมือนคำขยายอื่นๆ เช่น “สุปฏิปนฺโน” เป็นต้น
พระสังฆคุณข้อนี้มีคำประกอบเต็มรูปว่า “อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส” (อะ-นุด-ตะ-รัง ปุน-ยัก-เขด-ตัง โล-กัด-สะ) แปลว่า “(พระสงฆ์) เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก” (unsurpassed field of merit of the world)
“ปุญฺญกฺเขตฺตํ” เขียนตามคำไทยเป็น “ปุญญักเขตตัง”
ขยายความ :
“ปุญญักเขตตัง” เป็นคุณนามบทที่ 9 ของพระสงฆ์
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 282 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงความหมายที่พระสงฆ์ได้นามว่า “ปุญญักเขตตัง” ไว้ดังนี้ –
…………..
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ สพฺพโลกสฺส อสทิสํ ปุญฺญวิรูหณฏฺฐานํ ฯ
คำว่า อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส หมายความว่า พระสงฆ์เป็นที่เพาะปลูกบุญของชาวโลกทั้งปวง ไม่มีที่เสมอเหมือน
ยถา หิ รญฺโญ วา อมจฺจสฺส วา สาลีนํ วา ยวานํ วา วิรูหณฏฺฐานํ รญฺโญ สาลิกฺเขตฺตํ รญฺโญ ยวกฺเขตฺตนฺติ วุจฺจติ
เหมือนอย่างว่าที่เพาะปลูกข้าวสาลีก็ดี ข้าวเหนียวก็ดี ของพระราชาหรือของอำมาตย์ก็ตาม เขาก็เรียก รญฺโญ สาลิกฺเขตฺตํ รญฺโญ ยวกฺเขตฺตํ (นาข้าวสาลีของพระราชา นาข้าวเหนียวของพระราชา) ดังนี้เป็นต้น ฉันใด
เอวํ สงฺโฆ สพฺพโลกสฺส ปุญฺญานํ วิรูหณฏฺฐานํ ฯ
พระสงฆ์ก็เป็นที่เพาะปลูกบุญทั้งหลาย ( = ปุญฺญกฺเขตฺตํ) ของชาวโลกทั้งปวง ฉันนั้น
สงฺฆํ นิสฺสาย หิ โลกสฺส นานปฺปการหิตสุขสํวตฺตนิกานิ ปุญฺญานิ วิรูหนฺติ
แท้จริง เพราะอาศัยพระสงฆ์ บุญทั้งหลายอันเป็นเครื่องบันดาลประโยชน์เกื้อกูลและความสุขนานาประการของชาวโลกจึงได้งอกขึ้น
ตสฺมา สงฺโฆ อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ ฯ
เพราะเหตุนั้น พระสงฆ์จึงชื่อว่าเป็นนาบุญของโลกไม่มีนาอื่นยิ่งกว่า ด้วยประการฉะนี้
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส” สรุปความไว้ดังนี้ –
…………..
อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส : (พระสงฆ์) เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก เป็นแหล่งปลูกเพาะและเผยแพร่ความดีอย่างสูงสุด เพราะพระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ฝึกฝนอบรมตน และเป็นผู้เผยแพร่ธรรม ไทยธรรมที่ถวายแก่ท่าน ย่อมมีผลอำนวยประโยชน์สุขอย่างกว้างขวางและตลอดกาลยาวนาน เหมือนผืนนาดินดี พืชที่หว่านลงไปย่อมเผล็ดผลไพบูลย์ (ข้อ ๙ ในสังฆคุณ ๙)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พุทธบริษัทขาดทุน
: ถ้านาบุญขาดธรรม
#บาลีวันละคำ (3,790)
28-10-65
…………………………….
……………………………