บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สัมผัส : อลังการแห่งภาษา

สัมผัส : อลังการแห่งภาษา

—————————–

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ มีพระเถรานุเถระจำนวนหนึ่งได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ เลื่อนและตั้งสมณศักดิ์ ดังเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้ว

หนึ่งในจำนวนพระเถระเหล่านั้นที่มีผู้กล่าวถึงมากที่สุดก็คือ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.๙) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชาคณะ” ที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์”

คุณสมบัติของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์รูปนี้ ซึ่งมีนามที่ใช้ในหนังสือวิชาการของท่านและมีคนรู้จักกันทั่วไปแล้วว่า “ป.อ.ปยุตฺโต” [ป. = ประยุทธ์ (ชื่อ) อ. = อารยางกูร (นามสกุล) ปยุตฺโต (นามฉายา] มีเป็นประการใด ได้มีผู้บรรยายไว้มากแล้ว จึงขอผ่าน

แต่แง่มุมหนึ่งที่ยังไม่เห็นใครยกขึ้นมาพูดก็คือ ราชทินนามเต็มๆ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์รูปนี้

ขอยกข้อความตอนหนึ่งตามที่ปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๔๒ ข ลงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ มาเสนอในที่นี้เป็นหลักฐาน

ข้อความว่าดังนี้ –

…………..

จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา

๑. พระพรหมคุณาภรณ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลสุนทรนายก ปาพจนดิลก วรานุศาสน์ อารยางกูร พิลาสนามานุกรม คัมภีรญาณอุดมวิศิษฏ์ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี สถิต ณ วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม …

—————

ข้อสังเกต :

ราชทินนามที่ปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษาตามที่ยกมานี้ (โปรดดูภาพประกอบ) แบ่งวรรคตอนคลาดเคลื่อนในที่บางแห่ง กล่าวคือ วรรคที่ว่า –

ปาพจนดิลก / วรานุศาสน์ 

(ในที่นี้ใส่เครื่องหมาย / เพื่อแสดงให้เห็นว่าหนังสือราชกิจจานุเบกษาพิมพ์เว้นวรรค)

คำ ๒ กลุ่มนี้เป็นวรรคเดียวกัน ต้องพิมพ์ติดกันเป็น –

ปาพจนดิลกวรานุศาสน์ 

อีกแห่งหนึ่งคือ –

อารยางกูรพิลาสนามานุกรม

วรรคนี้ พอดีคำว่า “อารยางกูร” อยู่สุดบรรทัด ขึ้นบรรทัดใหม่ด้วยคำว่า “พิลาสนามานุกรม” จึงอาจจะทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นวรรคเดียวกันหรือแบ่งเป็น ๒ วรรค

กรณีอย่างนี้ วิธีการที่สามารถแสดงให้เห็นชัดเจนได้ก็คือ ถ้าข้อความติดกัน ก็ใช้เครื่องหมายยัติภังค์ หรือขีดท้ายบรรทัด ผู้อ่านก็จะรู้ว่าข้อความที่ขึ้นบรรทัดใหม่ข้างล่างนั้นเป็นข้อความวรรคเดียวกันกับข้อความสุดท้ายของบรรทัดบน แต่ถ้าข้อความเป็นคนละวรรค ก็ไม่ต้องใช้เครื่องหมายใดๆ 

หนังสือราชกิจจานุเบกษาไม่ได้มีเครื่องหมายเช่นว่านั้นท้ายบรรทัด ก็แสดงว่า “อารยางกูร” เป็นวรรคหนึ่ง “พิลาสนามานุกรม” เป็นอีกวรรคหนึ่ง ซึ่งคลาดเคลื่อน 

ที่ถูกคือเป็นข้อความวรรคเดียวกัน

ราชทินนามเต็มๆ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์รูปนี้ เขียนวรรคละบรรทัดชัดๆ ดังนี้ –

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ 

ญาณอดุลสุนทรนายก 

ปาพจนดิลกวรานุศาสน์ 

อารยางกูรพิลาสนามานุกรม 

คัมภีรญาณอุดมวิศิษฏ์ 

ตรีปิฎกบัณฑิต

มหาคณิสสร 

บวรสังฆาราม

คามวาสี อรัญวาสี

…………

โปรดเปรียบเทียบข้อความในราชกิจจานุเบกษากับข้อความในเอกสารตามภาพอีกภาพหนึ่ง จะเห็นได้ชัดเจน

————–

โปรดทราบว่า หลักนิยมของพระปรมาภิไธยหรือพระนามของเจ้านาย ตลอดจนราชทินนามยาวๆ ก็คือ การแบ่งคำเป็นวรรคๆ และแต่ละวรรคมีสัมผัสรับ-ส่งกันไปจนจบนาม

…………

ขอแทรกเรื่อง “สัมผัส” ไว้ตรงนี้ก่อน

สัมผัส” หมายถึงเสียงของคำที่รับกัน มี ๒ อย่าง คือ “สัมผัสสระ” และ “สัมผัสอักษร

๑ “สัมผัสสระ” หมายถึงคำที่เป็นสระเสียงเดียวกัน เช่น –

“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”

“ปลา” กับ “นา” เป็นเสียงสระ อา เหมือนกัน รับสัมผัสกัน

ถ้าสมมติว่าข้อความนั้นเปลี่ยนใหม่ เป็น –

“ในน้ำมีปลา ในยุ้งมีข้าว”

ก็จะไม่มีคำใดๆ ที่รับสัมผัสกัน เพราะวรรคแรก (ในน้ำมีปลา) ลงท้ายด้วยเสียงสระ อา 

แต่วรรคที่สอง (ในยุ้งมีข้าว) ไม่มีคำที่เป็นเสียงสระ อา อยู่เลย

๒ “สัมผัสอักษร” หมายถึง คำที่ใช้อักษรเดียวกันหรืออักษรที่ออกเสียงเทียบคู่กัน

อักษรเดียวกัน เช่น “คำ-คน” ใช้อักษร ค เหมือนกัน

อักษรที่ออกเสียงเทียบคู่กัน เช่น “คำ-ของ” อักษร ค กับ ข เทียบคู่กัน

อักษรที่ออกเสียงเทียบคู่กันคู่อื่นๆ ก็เช่น 

ฉ กับ ช

ถ กับ ท

ผ กับ พ 

ส กับ ซ 

ห กับ ฮ 

รวมทั้งอักษรที่ควบกันแล้วออกเสียงเป็น ซ เช่น “ทรง” เทียบคู่กับ ส หรือ ซ ได้ด้วย (คือมุ่งเอาเสียง ไม่ใช่เอารูปอักษร ถ้ามุ่งเอารูปอักษร ทร เทียบคู่กับ ส หรือ ซ ไม่ได้)

โปรดอ่านกลอนบทนี้ แล้วดูคำที่สัมผัสกัน จะช่วยให้เข้าใจชัดขึ้น

อันความคิด / วิทยา / เหมือนอาวุธ

ประเสริฐสุด / ซ่อนใส่ / เสียในฝัก

สงวนคม / สมนึก /ใครฮึกฮัก

จึงค่อยชัก / เชือดฟัน / ให้บรรลัย

(เพลงยาวถวายโอวาท ของ สุนทรภู่ ในที่นี้เขียนแยกกลุ่มคำ ใช้เครื่องหมาย / เป็นที่สังเกตในแต่ละบรรทัดเพื่อให้เห็นสัมผัสชัดเจน ตามหลักของเดิมแต่ละบรรทัด (ซึ่งเรียกว่า “วรรค”) ท่านเขียนติดกัน ไม่ได้แยกเป็น ๓ กลุ่มแบบนี้)

ตรงไหนคือสัมผัส :

“คิด” กับ “วิท” คือสัมผัสสระ (เสียงสระ-อิด)

“ยา” กับ “อา” คือสัมผัสสระ (เสียงสระ-อา)

“วุธ” กับ “สุด” คือสัมผัสสระ (เสียงสระ-อุด)

“สุด” กับ “ซ่อน” คือสัมผัสอักษร (ส กับ ซ)

“ใส่” กับ “เสีย” คือสัมผัสอักษร (ส กับ ส)

“ฝัก” กับ “ฮัก” คือสัมผัสสระ (เสียงสระ-อัก)

“คม” กับ “สม” คือสัมผัสสระ (เสียงสระ-อม)

“ชัก” กับ “เชือด” คือสัมผัสอักษร (ช กับ ช)

“ฟัน” กับ “บรร” คือสัมผัสสระ (เสียงสระ-อัน)

ในที่นี้ คำว่าเสียงสระ-อิด สระ-อุด สระ-อม สระ-อัน ผมเรียกเอาเองเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ เท่านั้น ไม่ใช่คำเรียกตามหลักวิชา

นี่ว่าเฉพาะสัมผัสสระ-สัมผัสอักษร พอให้รู้จักเท่านั้น

ในการแต่งกาพย์กลอนโคลงฉันท์จริงๆ ยังมีกฎเกณฑ์ปลีกย่อยอีกมาก

————–

ทีนี้มาดูกันว่าในราชทินนามเต็มๆ ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มีสัมผัสตรงไหนบ้าง

เพื่อให้เห็นง่าย ขอใช้เครื่องหมายอัญประกาศ (เครื่องหมายคำพูด) กำกับคำที่รับ-ส่งสัมผัสกัน เนื่องจากในเฟซบุ๊กนี้ (ผม) ไม่สามารถทำอักษรตัวหนาตัวเอนเพื่อให้เป็นที่สังเกตได้

(โปรดอ่านทบทวนราชทินนามเต็มที่ไม่มีเครื่องหมายใดๆ ข้างต้นนั้นอีกทีก่อน)

สมเด็จพระพุทธโฆษา “จารย์” 

“ญาณ” อดุลสุนทร “นายก”

ปาพจน “ดิลก” วรานุ “ศาสน์”

อารยางกูร “พิลาส” นามา “นุกรม”

คัมภีรญาณ “อุดม” “วิศิษฏ์”

ตรีปิฎก “บัณฑิต” 

มหาคณิส “สร”

“บวร” สังฆา “ราม”

“คาม” วาสี อรัญวาสี

คำที่สัมผัสกัน :

“จารย์” สัมผัสกับ “ญาณ”

“นายก” สัมผัสกับ “ดิลก”

“ศาสน์” สัมผัสกับ “พิลาส”

“นุกรม” สัมผัสกับ “อุดม”

“วิศิษฏ์” สัมผัสกับ “บัณฑิต”

“สร” สัมผัสกับ “บวร”

“ราม” สัมผัสกับ “คาม”

โปรดสังเกตด้วยว่า ทุกคำเป็นสัมผัสสระ 

————–

ราชทินนามที่มีตั้งแต่ ๒ วรรคขึ้นไป นิยมให้มีสัมผัสสระแบบนี้ทั้งนั้น

ทั้งนี้รวมทั้งพระนามของเจ้านายด้วย

ตัวอย่าง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อประสูติได้รับการถวายพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์

ตัดมาดูเฉพาะพระนาม –

สิรินธรเทพรัตนสุดา 

กิติวัฒนาดุลโสภาคย์

“สุดา” กับ “วัฒนา” รับสัมผัสกัน

เมื่อทรงได้รับสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็น “สยามบรมราชกุมารี” มีพระนามาภิไธยเต็มๆ ว่า 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา 

เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร 

รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ 

สยามบรมราชกุมารี

จะเห็นได้ว่า –

“มหา” รับสัมผัส “สุดา

“คุณากร” รับสัมผัส “สิรินธร”

“บรมราช” รับสัมผัส “ปิยชาติ”

และจะเห็นได้ด้วยว่า สัมผัสที่ประสงค์คือสัมผัสระหว่างวรรค ไม่เน้นสัมผัสในวรรคเดียวกัน

————–

ราชทินนามของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.๙) มีอยู่วรรคหนึ่งที่น่าสังเกต คือวรรคที่ว่า –

“อารยางกูรพิลาสนามานุกรม”

คำว่า “อารยางกูร” เป็นนามสกุลของท่านเจ้าพระคุณท่าน ผมเพิ่งเคยเห็นนามสมณศักดิ์ที่เอานามสกุลมาเป็นสร้อยราชทินนามเป็นครั้งแรก แล้วก็มีความหมายที่สอดคล้องกลมกลืนอย่างยิ่ง

“อารยางกูร” แปลตามศัพท์ มีนัยทางโลกว่า “เชื้อสายแห่งอารยชน” และมีนัยทางธรรมว่า “หน่อเนื้อแห่งพระอริยบุคคล”

และมีอยู่วรรคหนึ่งที่อยากชวนให้สงสัยว่าอ่านอย่างไร คือวรรคที่ว่า –

“ญาณอดุลสุนทรนายก”

เฉพาะตรงคำว่า “สุนทรนายก” อ่านอย่างไร?

ถ้าอ่านตรงเทิ่ง ก็อ่านว่า สุน-ทอน-นา-ยก

แต่ถ้าอ่านอย่างมีอลังการ ก็อ่านว่า สุน-ทฺระ-นา-ยก

ทั้งวรรค ถ้าอ่านอย่างมีอลังการก็อ่านว่า

ยาน-นะ-อะ-ดุน-สุน-ทฺระ-นา-ยก

………….

เมื่อได้พบเห็นพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย หรือราชทินนาม ขอได้โปรดตั้งใจอ่านดูเถอะครับ จะเห็นได้ชัดว่า สัมผัสคืออลังการแห่งภาษาจริงๆ

น่าเสียดายที่คนไทยรุ่นหลังๆ ซาบซึ้งกับอลังการแห่งภาษาของตัวเองน้อยลงไปทุกวัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๙

๑๑:๐๒

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *