สังคมนิยม (บาลีวันละคำ 1,651)
สังคมนิยม
อ่านตามหลักว่า สัง-คม-มะ-นิ-ยม
อ่านตามความนิยมว่า สัง-คม-นิ-ยม
ประกอบด้วย สังคม + นิยม
(๑) “สังคม”
บาลีเป็น “สงฺคม” อ่านว่า สัง-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อม, กับ, ดี) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)
: สํ > สงฺ + คมฺ = สงฺคมฺ + อ = สงฺคม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การไปพร้อมกัน” “การไปรวมกัน”
“สงฺคม” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การพบกัน, การเกี่ยวพันหรือติดต่อกัน, การร่วมสมาคม (meeting, intercourse, association)
(2) การร่วมประเวณี (sexual intercourse)
ความหมายของ “สังคม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังคม, สังคม– : (คำนาม) คนจํานวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบ กฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สําคัญร่วมกัน เช่น สังคมชนบท; วงการหรือสมาคมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น สังคมชาวบ้าน. (คำวิเศษณ์) ที่เกี่ยวกับการพบปะสังสรรค์หรือชุมนุมชน เช่น วงสังคม งานสังคม. (ป.).”
(๒) “นิยม”
บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + อ ปัจจัย
: นิ + ยมฺ = นิยมฺ + อ = นิยม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (คือ เหตุผลที่จะนำมาใช้เป็นข้อกำหนดมีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นคือกาลเวลา)
“นิยม” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)
(2) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation)
(3) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order)
ความหมายของ “นิยม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิยม : (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) การกำหนด. (ป., ส.). (คำกริยา) ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำใช้เป็นชื่อลัทธิ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม.”
สังคม + นิยม = สังคมนิยม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังคมนิยม : (คำนาม) ทฤษฎีเศรษฐกิจและการเมือง ที่มีหลักการให้รัฐหรือส่วนรวมเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิต ตลอดจนการจําแนกแจกจ่าย และวางระเบียบการบริโภคผลผลิต.”
“สังคมนิยม” เป็นศัพท์ทางรัฐศาสตร์และปรัชญา บัญญัติขึ้นเทียบคำอังกฤษว่า socialism
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล socialism เป็นบาลีดังนี้ –
(1) samājahitakaraṇa สมาชหิตกรณ (สะ-มา-ชะ-หิ-ตะ-กะ-ระ-นะ) = การทำให้ (กิจการต่างๆ) เป็นประโยชน์ของส่วนรวม
(2) samasambhogatā สมสมฺโภคตา (สะ-มะ-สำ-โพ-คะ-ตา) = การใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเสมอภาค
คำอังกฤษอีกคำหนึ่ง คือ socialist แปลว่า นักสังคมนิยม
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล socialist เป็นบาลีดังนี้ –
(1) samasambhogavādī สมสมฺโภควาที (สะ-มะ-สำ-โพ-คะ-วาที) = นักทฤษฎีที่ถือว่าสังคมต้องใช้ชีวิตเสมอภาคกัน
(2) samājahitakārī สมาชหิตการี (สะ-มา-ชะ-หิ-ตะ-กา-รี) = ผู้กระทำการเพื่อให้ (กิจการต่างๆ) เป็นประโยชน์ของส่วนรวม
…………..
“สังคมนิยม” ถ้าแปลตามความหมายในภาษาไทย โดยไม่คำนึงว่าเป็นศัพท์บัญญัติ ก็อาจแปลได้ว่า “สังคมกำหนด” คือ สิ่ง หรือการกระทำ หรือบุคคล ที่สังคมคือผู้คนส่วนใหญ่นิยมชมชอบ หรือที่มักพูดกันว่า “เขานิยมกันอย่างนี้”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มหาบุรุษไม่ควรอยู่เพียงเพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งชื่นชม
: แต่ควรอยู่เพื่อให้คนทั้งสังคมชื่นชอบ
11-12-59